พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ กมธ.ดีอีเอส กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมาธิการฯ ในสัปดาห์หน้าว่า ในการประชุม กมธ.ดีอีเอส สัปดาห์หน้าเรายังคงมีวาระการพิจารณาแนวทางและมาตรการป้องกันการใช้สื่อโซเชียลมีเดียที่ไม่เหมาะสมในสถานการณ์เหตุร้ายที่รุนแรง ที่สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์กราดยิงที่จังหวัดนครราชสีมา โดยได้เชิญตัวแทนจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอีเอส) ตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ตัวแทนจากสำนักการอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ และผู้บริหารจากบริษัท Facebook Thailand และทีมงาน ซึ่งเป็นการประชุมที่เลื่อนมาจากครั้งที่แล้ว เพราะตัวแทนจากทางเฟสบุคไม่สามารถมาร่วมประชุมได้ ดังนั้น การประชุมครั้งที่จะถึงนี้ตนหวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากเฟสบุคในการเข้ามาให้ข้อมูล
พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวต่อว่า โดยการเชิญตัวแทนเฟซบุคนั้น ซึ่งถือว่ามีส่วนสำคัญเนื่องจากเป็นแพลตฟอร์มที่มีสถิติคนไทยใช้บริการมากเป็นลำดับต้นๆ ของแฟลตฟอร์มที่ให้บริการอยู่ในประเทศไทย เฟสบุคจะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการให้ข้อมูลเพื่อนำมาช่วยกันคิดหาแนวทางแก้ไขและป้องกันเหตุการณ์รุนแรงในอนาคต โดยก่อนที่จะถึงการประชุมในสัปดาห์หน้า ตนอยากฝากคำถามไปถึงเฟสบุคว่าการเก็บข้อมูลคนไทยของเฟสบุคนั้น ได้เก็บไว้ที่เซิร์ฟเวอร์ในประเทศไทยหรือไม่อย่างไร เดียวหรือไม่ เนื่องจากหากเป็นการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของประเทศไทย แต่เก็บไว้ในเซิร์ฟเวอร์ต่างประเทศก็จะต้องไปเป็นตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล 2562 ที่จะมีเรื่องการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล การนำข้อมูลไปใช้ รวมทั้งการอนุญาตให้ข้อมูลไหลระหว่างประเทศ (Data Cross border flow)
“ด้วยการทำธุรกิจของเฟสบุค หลายครั้งถูกมองว่าเป็นการเข่งขันที่อยุติธรรม (Unfair Competition) เนื่องจากเฟสบุคมีฐานข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคขนาดใหญ่อยู่ในมือ ดังนั้นผู้ประกอบการรายอื่นที่จะเข้ามาแข่งขันจึงค่อนข้างลำบาก ถามว่าเฟสบุคจะมีนโยบายให้คนอื่นสามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้ ด้วยต้นทุนที่เป็นธรรมได้หรือไม่ รวมทั้งปัจจุบันนี้ เฟสบุคมีความสามารถในการให้บริการคล้ายวิทยุ โทรทัศน์ และโทรคมนาคม (Broadcast and Telecom Like Service) แต่ไม่จดทะเบียนรับใบอนุญาต ทำให้หน่วยงานกำกับดูแลไม่สามารถดูแลให้เป็นไปตามกฎหมายของประเทศไทยเหมือนผู้ให้บริการรายอื่นในประเทศไทย ถามว่าทางเฟสบุค มีนโยบายจะเข้ามาขอใบอนุญาตเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายประเทศไทยหรือไม่ ทั้งหมดนี้ ผมเพียงต้องการเห็นความจริงใจของทางเฟสบุค ที่เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย ที่จะได้ช่วยกันหาแนวทางแก้ไขและป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น ที่สำคัญเฟสบุคควรเคารพและปฏิบัติตามกฎหมายประเทศไทยด้วย ไม่อยากให้อาศัยช่องว่างทางกฎหมาย เพื่อประโยชน์ต่อธุรกิจของตัวเองเท่านั้น” พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าว