“เศรษฐพงค์” ชี้ ECSTAR แท็คทีม In-Space ยกระดับกิจการอวกาศไทยต่อยอดสร้างเศรษฐกิจใหม่ “ชาญวิทย์”เชื่ออีก 2 ปีสร้างดาวเทียมเองได้ พร้อมอัพเกรดเทคโนโลยี-เพิ่มขีดสามารถทางธุรกิจให้ก้าวทัดเทียมโลก
พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธานคณะกรรมการศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีอวกาศและวิจัย หรือ ECSTAR สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า จากการที่ ECSTAR ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง ECSTAR กับ In-Space Missions Limited ประเทศอังกฤษ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ECSTAR มุ่งมั่นอย่างยิ่งในการพัฒนากิจการอวกาศของประเทศไทยให้ก้าวหน้าเท่าทันนานาประเทศ เนื่องจาก In-Space Missions Limited ถือเป็นผู้เชี่ยวชาญระดับโลกในการออกแบบสร้างปฏิบัติการต่างๆด้านกิจการอวกาศ เช่น การออกแบบและผลิตทดสอบดาวเทียมหลากหลายประเภท เชื่อว่าการเซ็น MOU ครั้งนี้จะเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนากิจการอวกาศของไทยอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการพัฒนาดาวเทียมที่จะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ซึ่งกันและกันต่อไป กิจการอวกาศ มีความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งหากเราเริ่มได้เร็ว ก็จะถือเป็นประโยชน์ประเทศ เพราะจะเป็นการสร้างการเรียนรู้ ต่อยอดสู่การทำงานและยกระดับความรู้ด้านเทคโนโลยีไปพัฒนาประเทศได้ และยังจะเป็นการสร้างบุคลากรที่มีความสามารถในการทำงาน เพื่อรองรับเศรษฐกิจด้านอวกาศในอนาคต
นายชาญวิทย์ มุนิกานนท์ ผู้อำนวยการ ECSTAR กล่าวว่า การทำ MOU ร่วมกัน เพื่อที่ประเทศไทยจะได้มีโอกาสในการร่วมมือผลิตดาวเทียมกับต่างประเทศในอนาคต โดยตั้งเป้าไว้ว่าทั้งสองฝ่ายจะร่วมงานกันภาย มี.ค.2567 และภายใน 2 ปี จะร่วมกันผลิตดาวเทียม และสามารถใช้งานดาวเทียมนั้นได้ภายใน 3 ปี โดยกิจการอวกาศนั้น ขณะนี้ทั่วโลกกำลังตื่นตัวและเป็นเรื่องที่มีอนาคต เพราะเทคโนโลยีที่สมัยใหม่กำลังพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งการใช้ดาวเทียมก็เกี่ยวข้องกับงานหลายๆด้าน ทั้งระบบการสื่อสาร ระบบการสำรวจอากาศและทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งยังนำมาใช้กับระบบการเกษตรและป่าไม้ เช่น ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ปัญหาไฟป่า ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ซึ่งการที่เราทำ MOU ในครั้งนี้จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาองค์ความรู้ ทำให้เราสามารถสร้างบุคคลากรรุ่นใหม่ และผลิตอุปกรณ์ต่างๆได้เองอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศเติบโตได้อย่างมาก
นายชาญวิทย์ กล่าวอีกว่า ทุกวันนี้เทคโนโลยีต่างๆพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว หลายๆประเทศมีการพัฒนาด้านอวกาศ ซึ่งสามารถสร้างเทคโนโลยี และสร้างงานให้กับคนในพื้นที่ได้อย่างมหาศาล สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะส่งผลให้เกิดประโยชน์กับประเทศในวงกว้างทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งยังสามารถสร้างความเชื่อมั่นของประเทศในระดับสากลได้ และสิ่งสำคัญที่ตามมาคือทำให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีระดับสูงมาสู่บุคลากรภายในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญสร้างความแข็งแกร่ง ที่ส่งผลต่อการเพิ่มขีดความสามารถการลงทุนด้านกิจการอวกาศของประเทศด้วย วันนี้เรากำลังเดินหน้าเพื่อทำให้ประเทศไทยจะทันต่อสถานการณ์และรองรับอนาคต ในปัจจุบันเทคโนโลยีอวกาศมีการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้มีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับอวกาศเกิดขึ้นมากมายที่ดำเนินงานโดยหน่วยงานจากภาครัฐและภาคเอกชน มหาวิทยาลัยหรือแม้แต่ระดับโรงเรียน ก็มีความร่วมมือจากภายในประเทศและต่างประเทศทั้งสิ้น