“เศรษฐพงค์” ชี้สร้าง KMITL Space Hub ที่ชุมพร เหมาะเป็นจุดยุทธศาสตร์หลัก เร่งดัน Space port 

“เศรษฐพงค์” ชี้สร้าง KMITL Space Hub ที่ชุมพร ตำแหน่งเหมาะเป็นจุดยุทธศาสตร์หลัก พร้อมเร่งดัน Space port หลังจับมือ 5 องค์กรหลัก เชื่อผลิตผู้เชี่ยวชาญเป็นกำลังสำคัญของอนาคต เริ่มต้นกิจการอวกาศที่ยิ่งใหญ่ของไทย

พ.อ.รศ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธานคณะกรรมการศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีอวกาศและวิจัย (ECSTAR) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า เมื่อช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา สจล.ได้ร่วมกับ 5 องค์กรผู้เชี่ยวชาญด้านอวกาศประกอบด้วย 1.สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA), 2.สถาบันวิจัยนานาชาติเทคโนโลยีสารสนเทศของญี่ปุ่น (NICT), 3.สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการ โทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), 4.บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (NT) และ 5.บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน)  เพื่อเปิด ศูนย์อวกาศ KMITL Space Hub สจล.วิทยาเขตชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ซึ่งทาง รศ.ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สจล. ได้ให้ความสำคัญ กับการพัฒนาให้ไทยเป็น SPACE Economy และมอบหมายให้ศึกษาการตั้ง ท่าอวกาศยาน (Space port) ที่ชุมพรโดยเร็ว  โดยจุดเด่นของพื้นที่ชุมพร ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศว่าเหมาะกับการเป็น Space port และการทำงานด้านสำรวจวิจัยอวกาศ นับเป็น 1 ใน 4 จุดใกล้เส้นศูนย์สูตรแม่เหล็กโลกที่ดีที่สุดในโลกเท่าที่มีอยู่ นอกเหนือจากแอฟริกา บราซิล และฟิลิปปินส์ เนื่องจากมีความโดดเด่น 5 ประการคือ อยู่ใกล้บริเวณศูนย์สูตรแม่เหล็กโลก มีทะเลขนาบทั้งสองฝั่งซ้าย-ขวา ภูมิศาสตร์แนวชายฝั่งเป็นคาบสมุทร ไม่มีภัยพิบัติที่รุนแรง และมีเส้นทางคมนาคมหลากหลายและเข้าถึงสะดวก 

พ.อ.รศ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวว่ากิจการอวกาศมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะหลายๆสิ่งที่เราต้องใช้ในชีวิตประจำวันนั้นจะเชื่อมโยงกับกิจการอวกาศ เช่น ระบบเทคโนโลยีการสื่อสาร ความซับซ้อนเหล่านี้จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ในเรื่องของการศึกษา ดังนั้น ท่านอธิการบดีฯ จึงได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ท่านให้ความสนใจมานานพอสมควร สงครามยูเครนเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เราได้เห็นความสำคัญของกิจการอวกาศ เพราะมีการใช้ภาพถ่ายดาวเทียมวงโคจรต่ำ การโจมตีโดยใช้โดรน ซึ่งกองทัพตอนนี้ใช้ภาพถ่ายดาวเทียม ไม่ต้องใช้ทหารไปสอดแนม หรือแม้แต่ภาคการเกษตรในปัจจุบัน การปลูกพืชพันธุ์ต่างๆ สามารถดูได้จากภาพถ่ายดาวเทียม สามารถระบุถึงแนวโน้มในการปลูกพืช เพื่อวางแผนวิเคราะห์พื้นที่การปลูก รวมถึงการวางแผนการใช้น้ำ ไม่ใช่การคาดการณ์ด้วยความรู้สึกอีกต่อไป ดังนั้นวันนี้ ท่านอธิการบดีฯ จึงได้ให้ดำเนินการอย่างจริงจัง โดยสิ่งที่เราจะทำต่อไป คือการทำให้พื้นที่ชุมพรเป็นผู้นำเป็นฮับด้านอวกาศ ด้วยตำแหน่งตรงนั้นเหมาะสมในการส่งดาวเทียมและเป็นฐานปล่อยจรวด มีผู้คนหลายประเทศที่อยากจับจอง เป็นพื้นที่ทางยุทธศาสตร์ของอวกาศได้ รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีให้เหมาะกับทุกวงการ

“การดำเนินการตรงนี้เราต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และต่างประเทศ ในการร่วมมือกันสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถ ดังนั้นการสร้าง KMITL Space Hub จะช่วยการพัฒนาด้านอวกาศ จะทำให้เราไปสู่จุดมุ่งหมาย ผมหวังว่าการผลิตผู้เชี่ยวชาญด้านอวกาศจะเป็นจุดเริ่มต้นของกิจการอวกาศที่ยิ่งใหญ่ของประเทศต่อไป ต้องขอบคุณวิสัยทัศน์ของอธิการบดี หวังว่าเราจะก้าวเป็นผู้นำกิจการอวกาศของประเทศได้ต่อไปในอีกไม่นานนี้” พ.อ.รศ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าว

แสดงความเห็น