“เศรษฐพงค์” จี้ รัฐบาลเร่งทำกฎหมายกิจการอวกาศให้เสร็จ เชื่อช่วยสร้างเศรษฐกิจใหม่ ยกระดับประเทศเป็นผู้นำในภูมิภาค ชี้ทุกวันนี้เทคโนโลยีพัฒนาเร็วมาก หวั่นล่าช้าไทยเสียโอกาสไม่ทันโลก
พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธานคณะกรรมการศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีอวกาศและวิจัย (ECSTAR) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวถึงการจัดทำร่างพ.ร.บ.กิจการอวกาศแห่งชาติ ว่า ในสมัยรัฐบาลที่แล้ว คณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้ร่วมกับหลายภาคส่วนเพื่อผลักดัน ร่างพ.ร.บ.กิจการอวกาศแห่งชาติ จนผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ตั้งแต่เดือน ก.ค.2564 และได้ส่งให้กับคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อรับฟังความคิดเห็นและปรับแก้ให้เหมาะสม ซึ่งขณะนี้ก็ผ่านมา 2 ปีแล้วแต่ก็ยังไม่สามารถที่จะส่งต่อให้กับรัฐสภาเพื่อพิจารณาได้ ซึ่งโอกาสที่เรามีรัฐบาลใหม่ มีสภาชุดใหม่แล้ว จึงอยากให้รัฐบาลเร่งดำเนินการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว ตั้งแต่ช่วงต้นของอายุรัฐบาล ซึ่งกฎหมายนี้จะทำให้ประเทศไทยมีความเท่าทันต่อสถานการณ์และรองรับอนาคต ที่ในปัจจุบันเทคโนโลยีอวกาศมีการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้มีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับอวกาศเกิดขึ้นมากมายที่ดำเนินงานโดยหน่วยงานจากภาครัฐและภาคเอกชน มหาวิทยาลัยหรือแม้แต่ระดับโรงเรียน มีความร่วมมือจากภายในประเทศและต่างประเทศ
พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวว่า หากเราทำกฎหมายนี้ล่าช้าเกินไปอาจไม่ทันโลก ประเทศไทยอาจจะเสียประโยชน์ในเรื่องนี้ เพราะทุกวันนี้เทคโนโลยีต่างๆพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว หลายๆประเทศมีการพัฒนาด้านอวกาศ ซึ่งสามารถสร้างเทคโนโลยี และสร้างงานให้กับคนในพื้นที่ได้อย่างมหาศาล สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะส่งผลให้เกิดประโยชน์กับประเทศในวงกว้างทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งยังสามารถสร้างความเชื่อมั่นของประเทศในระดับสากลได้ และสิ่งสำคัญที่ตามมาคือทำให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีระดับสูงมาสู่บุคลากรภายในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญสร้างความแข็งแกร่ง ที่ส่งผลต่อการเพิ่มขีดความสามารถการลงทุนด้านกิจการอวกาศของประเทศด้วย
“กฎหมายกิจการอวกาศ มีความสำคัญอย่างยิ่ง เป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือด้านเทคโนโลยีอวกาศ การดำเนินกิจกรรมอวกาศระหว่างประเทศไทยกับนานาชาติ ให้สามารถดำเนินการได้อย่างสอดคล้องกับกฎกติกา บูรณาการนโยบายและแผนกิจการอวกาศของประเทศในภาพรวม ซึ่งประเทศไทยเรามีความพร้อมในทุกๆด้าน ทั้งภูมิศาสตร์ ทรัพยาการ และด้านบุคคลากรที่ได้มีการก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้ต่างๆในการรองรับเอาไว้แล้ว ดังนั้นเราควรเร่งจัดทำกฎหมายนี้ให้สำเร็จ เพื่อให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถทัดเทียมกับต่างชาติในอนาคต สร้างความเชื่อมั่นของประเทศในระดับสากล สร้างเศรษฐกิจใหม่ และเป็นผู้นำด้านกิจการอวกาศในภูมิภาคนี้” พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าว