“กัลยา” ยัน กรรมาธิการฯพร้อมติดตามการวางโครงข่าย-คุณภาพ-ราคา ประมูล 5 G ให้เป็นไปตามแผนและเป็นธรรม “เศรษฐพงค์” ชี้ พลิกโฉมอุตสาหกรรมการผลิต เป็นประโยชน์รอบด้าน


น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ส.ส.สระบุรี พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ กมธ.ดีอีเอส  ให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้กมธ.ดีอีเอส ได้รับเชิญจาก คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้เข้าร่วมสังเกตการณ์ในการประมูลคลื่นความถี่ 5G โดยวันนี้ตนพร้อมด้วย พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานกมธ.ดีอีเอส และกรรมาธิการฯ อีกจำนวนหนึ่ง ได้เป็นตัวแทนมาร่วมสังเกตการณ์ในการประมูลครั้งนี้ ซึ่งที่ผ่านมาทางกรรมาธิการฯ ได้ติดตามประเด็นดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และได้รับการประสานทำความเข้าใจในการประมูลจาก กสทช. มาโดยตลอด เบื้องต้นการประมูลในวันนี้คาดว่าจะผ่านไปได้ด้วยดี เนื่องจากได้มีการซักซ้อมทำความเข้าใจกับผู้เข้าร่วมประมูลมาก่อนหน้านี้แล้ว อย่างไรก็ตามหลังจากนี้ ทาง กมธ.ดีอีเอส จะได้ติดตามการดำเนินงานตามแผนงานที่ทางกสทช. ได้ออกกฎระเบียบเงื่อนไขในการประมูลไว้ ซึ่งผู้เข้าร่วมประมูลจะต้องดำเนินการเพื่อขยายโครงข่ายตามแผนที่กำหนดไว้ รวมทั้งจะได้ติดตามตรวจสอบในเรื่องคุณภาพและราคาให้เหมาะสมและเป็นธรรมตามกฎเกณฑ์ของกสทช. 

ด้าน พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวว่า หลังจากที่ได้มีการประมูลและผู้ให้บริการได้รับคลื่นเรียบร้อยแล้ว ผลที่เกิดขึ้นตามมา คือจะเกิดประโยชน์อย่างมากต่อประเทศชาติ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม การสาธารณสุข การขนส่ง การศึกษา ฯลฯ เนื่องจากเทคโนโลยี 5G จะมีบทบาททำให้ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก สามารถพลิกโฉมอุตสาหกรรมการผลิต โดยทำให้ระบบอัตโนมัติ, หุ่นยนต์, AI, IoT หรือเซ็นเซอร์ต่างๆ สามารถเชื่อมต่อกันได้อย่างไร้รอยต่อ และเรียลไทม์มากขึ้น ผู้คนสามารถติดต่อสื่อสารกันได้ด้วยความรวดเร็วมากขึ้น และไม่ใช่เฉพาะมนุษย์ติดต่อกับมนุษย์เท่านั้น แต่อาจจะเป็นมนุษย์กับเครื่องจักร หรืออาจจะเป็นเครื่องจักรกับเครื่องจักร และจะเป็นการติดต่อสื่อสารที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น หากการให้บริการขยายไปสู่หัวเมืองใหญ่ จนสามารถครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ จะทำให้ประชาชนผู้บริโภคได้รับการบริการที่มีขีดความสามารถในการสื่อสาร ดาวน์โหลด อัพโหลด ที่รวดเร็วยิ่งขึ้นในระดับ Gbps ทำให้รูปแบบการสื่อสารและความบันเทิงเปลี่ยนไปอย่างมาก จนทำให้วงการสื่อสารมวลชนต้องมีการปรับตัวครั้งใหญ่ ในอีก 3 – 5 ปีข้างหน้า เนื่องจากเทคโนโลยี VR, AR จะทำได้แบบเรียลไทม์มากขึ้น ทำให้ผู้คนมีรูปแบบการเสพสื่อเปลี่ยนไปอย่างมาก

“ดังนั้นอุตสาหกรรมต่าง ๆ จะต้องมีการเตรียมความพร้อมในการปรับตัว เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี ที่จะมีผลกระทบต่อทุกวงการ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ และการประมูลคลื่นในครั้งนี้ก็ต้องเข้าใจว่าเป็นสิ่งที่ต้องทำ เพราะมิฉะนั้นแล้วอุตสาหกรรมของประเทศก็จะเสื่อมสภาพ ล้าสมัย และที่สำคัญคือเราจะต้องพัฒนาบุคลากรทั้งในเรื่องความรู้ ความเข้าใจ ทักษะ เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมด้วย” พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าว

แสดงความเห็น