“กมธ.ดีอีเอส” ต้อนรับ “ทูตฝรั่งเศส” หารือโครงการปีแห่งนวัตกรรมฝรั่งเศส-ไทย 2023”

“กมธ.ดีอีเอส” ต้อนรับ “ทูตฝรั่งเศส” หารือโครงการปีแห่งนวัตกรรมฝรั่งเศส – ไทย 2023 “เศรษฐพงค์” หวัง 2 โครงการ “ห้องแล็บอวกาศ-สร้างดาวเทียมขนาดเล็กสู่อวกาศ” ได้รับการสนับสนุน ด้านทูตฝรั่งเศส หวัง ไทย-ฝรั่งเศส ร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม แลกเปลี่ยนความรู้ เทคโนโลยี พัฒนาเศรษฐกิจร่วมกัน

น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กมธ.ดีอีเอส) สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการฯ โดยดิฉันพร้อมด้วย พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานคณะกรรมาธิการฯ น.ส.แคทลียา เดลแมร์ นายอัมรินทร์ พิมพ์หนู ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการฯ รวมถึงนายชาญวิทย์ มุนิกานนท์ ประธานบริหารสถาบันการบินเอเชีย และประธานสถาบันวิจัยเทคโนโลยีอวกาศและวิจัย (ECSTAR) วิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และคณะกรรมาธิการฯ ให้การต้อนรับนายตีแยรี มาตู (H.E.Mr. Thierry Mathou) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฝรั่งเศสประจำประเทศไทยและคณะ เพื่อหารือถึงการดำเนินโครงการปีแห่งนวัตกรรมฝรั่งเศส – ไทย 2023 (France – Thailand Year of Innovation 2023 : YOI) โดยมีประเด็นสำคัญด้านการส่งเสริมและพัฒนาความร่วมมือทางด้านเทคโนโลยีอวกาศ กิจการอวกาศระหว่างประเทศไทยและฝรั่งเศส รวมถึงยังเป็นการกระชับความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น 

ด้าน พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณท่านเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยและคณะ ที่ได้ริเริ่มโครงการ Year of Innovation 2023 และยังให้ความสนใจการดำเนินการของคณะกรรมาธิการดีอีเอส ซึ่งถือว่าเราทั้งสองฝ่ายมีเป้าหมายเดียวกัน ซึ่งผมในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการกิจการอวกาศเพื่อเศรษฐกิจและความมั่นคง ในคณะกรรมาธิการดีอีเอส ได้เสนอทางรัฐบาลฝรั่งเศส พิจารณาสนับสนุนโครงการที่ทางคณะกรรมาธิการของเราเป็นผู้ริเริ่มและกำลังดำเนินการ ดังนี้ 

1.โครงการห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีอวกาศ (Space Technology Laboratory) เพื่อนักเรียนระดับสายอาชีพและระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งทางคณะกรรมาธิการได้ดำเนินการในขั้นเริ่มต้นแล้ว ที่วิทยาลัยเทคนิคเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย มีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักเรียนได้มีความรู้ด้าน Climate Change และการรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) โดยใช้ภาพถ่ายดาวเทียม (Satellite Image) โดยทาง Excellence Center of Space Technology and Research (ECSTAR) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นผู้ดำเนินโครงการเป็นหลัก และได้รับการสนับสนุนจาก GISTDA อีกด้วย

2.โครงการสร้างดาวเทียมขนาดเล็ก ที่ดำเนินการโดย ECSTAR สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยมีเป้าหมายเพื่อให้นักศึกษาสามารถสร้างและส่งดาวเทียม CubeSat สู่อวกาศได้สำเร็จ และสามารถใช้ประโยชน์ได้จริง

“ทั้งสองโครงการได้รับการสนับสนุนในเบื้องต้นจากสภาผู้แทนราษฎร, GISTDA และภาคเอกชน โดยหากเป็นไปได้ที่ทางรัฐบาลฝรั่งเศสสามารถสนับสนุนไม่ว่าส่วนใดของโครงการเชื่อว่าจะเกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อวงการอวกาศในภูมิภาคนี้ และผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะได้ร่วมมือกันสร้างความสัมพันธ์ที่แนบแน่น ระหว่างประเทศไทยและฝรั่งเศสตลอดไป” พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าว

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ท่านเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสฯ ตีแยรี มาตู ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญด้านอวกาศ ที่ให้ความสำคัญถึงวิทยาศาสตร์อวกาศ (Space Science) การศึกษาวิจัย และเรื่องของอากาศยาน การบิน และการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ ทั้งทางด้านการทหารและด้านพลเรือน รวมถึงกลุ่มสตาร์ทอัพจะเป็นแรงสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ และสร้างระบบนิเวศทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ ท่านทูตฯ ได้พูดถึง French Air and Space Force (AAE) ที่นับเป็นกองกำลังใหม่จัดตั้งขึ้นภายใต้กระทรวงกลาโหมของฝรั่งเศส มีภารกิจด้านอวกาศโดยตรง ที่นอกเหนือจากกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ โดยมีศูนย์วิจัยอวกาศแห่งชาติฝรั่งเศส The National Centre for Space Studies หรือ CNES (Centre National d’Etudes Spatiales) ที่มีลักษณะเช่นเดียวกับ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA และสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ NARIT ที่ทำหน้าที่สอดคล้องกันในด้านการพัฒนางานวิจัยในอวกาศ เทคโนโลยีอวกาศ อุตสาหกรรมอวกาศ และเศรษฐกิจอวกาศของประเทศไทย

“ท่านเอกอัครราชทูตหวังเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยและฝรั่งเศสจะมีความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมทางด้านเศรษฐกิจ และเสนอให้มีการจับคู่การค้าทางเศรษฐกิจระหว่างกัน เช่น GISTDA กับ CNES เป็นต้น และท่านได้เสนอความร่วมมือไทย-ฝรั่งเศสในรูปแบบห้องปฏิบัติการอวกาศที่ควรมีความร่วมมือทั้งในด้านการศึกษา การให้ความรู้ในด้านเทคโนโลยีอวกาศ การแลกเปลี่ยนนักศึกษา และการวิจัยด้านการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ ณ เมืองแห่งเทคโนโลยีอวกาศ เมืองตูลูส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ซึ่งทางคณะกรรมาธิการ ศูนย์วิจัย ECSTAR และบริษัทสตาร์ทอัพ TeroSpace ที่เกิดจากการ spin off ของ ECSTAR กำลังวางแผนในการเดินทางตามคำแนะนำของท่านเอกอัครราชทูต” พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าว

ขณะที่ ดร.อัมรินทร์ พิมพ์หนู ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ประจำคณะกรรมาธิการฯ และผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจอวกาศ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า อยากให้นักวิจัยไทยหรือหน่วยงานของไทยได้มีโอกาสในการใช้ประโยชน์สถานีอวกาศแห่งใหม่ Lunar Gateway ที่กำลังจะพัฒนาขึ้นร่วมกันของนานาประเทศที่มีฝรั่งเศสอยู่ในโครงการด้วยนั้น เป็นฐานการสำรวจอวกาศหลักของโลกในปี ค.ศ. 2024 ซึ่งจะช่วยพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของไทยได้อย่างก้าวกระโดด ประเทศไทยยังขาดโอกาสในการเข้าถึงอวกาศ ซึ่งหากได้ความร่วมมือในการใช้งานท่าอวกาศยานเฟรนช์ เกียน่า เพื่อลดต้นทุนในการเข้าถึงอวกาศ จะเป็นการพัฒนาทั้งวิทยาศาสตร์อวกาศและเทคโนโลยีอวกาศที่แท้จริงอย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนสร้างให้เกิดเศรษฐกิจและธุรกิจอวกาศระหว่างไทยและฝรั่งเศสได้ในระยะยาวและยังยืนต่อไป

แสดงความเห็น