“สมศักดิ์” ยัน ออกพ.ร.ก.เลื่อนบังคับใช้ กฎหมายอุ้มหาย ฐานความผิดการทรมาน-อุ้มหาย ยังมีอยู่ 

“สมศักดิ์” แจง สภาฯ ออกพ.ร.ก.เลื่อนบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันทรมานและอุ้มหาย 4 มาตรา เป็นเวลา 7 เดือน เหตุ สตช.ไม่มีความพร้อม “งบประมาณ-อุปกรณ์-บุคลากร” ยัน ฐานความผิดการทรมาน-อุ้มหาย ยังมีอยู่ หากพบเจ้าหน้าที่ทำผิด ลงโทษเต็มที่ ไม่ได้เว้นการลงโทษ

ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เป็นนัดพิเศษ เพื่อพิจารณา พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย โดยมีนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯคนที่สอง เป็นประธานการประชุม

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ได้ชี้แจงว่า กระทรวงยุติธรรม ได้ผลักดันกฎหมายป้องกันการทรมานและอุ้มหาย ตั้งแต่ปี 2550 แต่ก็สะดุดมาโดยตลอด จนมาถึงยุคตนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ก็ได้เสนอกฎหมายนี้ เข้าครม.ใหม่ เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.63 และเสนอกฎหมายเข้าสภา เมื่อวันที่ 15 ก.ย.64 จนทุกฝ่ายเห็นชอบ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 25 ต.ค.65 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 22 ก.พ.66 

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ขอยืนยันว่า กระทรวงยุติธรรม มีความพร้อมที่จะขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการบังคับใช้กฎหมาย ตามพ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหาย ทั้งการตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนกฎหมาย การจัดทำคู่มือปฎิบัติงาน การสร้างการรับรู้ แต่กระทรวงยุติธรรม ได้รับหนังสือจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2566 ขอให้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้กฎหมาย ในหมวด 3 ซึ่งมีทั้งหมด 8 มาตรา ออกไปก่อนแบบไม่มีกำหนด เนื่องจากมีเหตุขัดข้อง คือ 1.ขาดงบประมาณและอุปกรณ์ 2.ขาดความพร้อมของบุคลากร และ 3.ขาดมาตรฐานกลางในการปฎิบัติงาน 

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า จึงได้มีการพิจารณาเหตุขัดข้องของตำรวจ ถึงผลร้ายหากปล่อยให้เจ้าหน้าที่ปฎิบัติงานด้วยความไม่พร้อม อาจส่งผลต่อชีวิตร่างกายของประชาชนโดยตรง รวมถึงจะส่งผลไม่ปลอดภัยต่อสาธารณพ ที่ทำได้ไม่สมบูรณ์ อาจเกิดการโต้แย้งในการดำเนินคดีได้ โดยจากข้อเท็จจริง ถือเป็นกรณีฉุกเฉิน ที่ไม่อาจเลี่ยงได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 จึงขอเสนอ พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย โดยมีสาระสำคัญคือ การเลื่อนบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหาย จำนวน 4 มาตรา คือ มาตรา 22-25 ออกไปให้บังคับใช้วันที่ 1 ตุลาคม 2566 เพื่อให้หน่วยงานต่างๆเตรียมความพร้อมในการปฎิบัติตามกฎหมายฉบับนี้

“ผมขอเรียนสภาผู้แทนราษฎรว่า การตราพระราชกำหนดนั้น เป็นการขยายเวลากำหนดบังคับใช้มาตรา 22-25 เป็นการชั่วคราว หรือ ประมาณ 7 เดือน ส่วนฐานความผิด การกระทำทรมาน หรือ อุ้มหาย ยังคงมีอยู่ และยังบังคับใช้อย่างเต็มที่ โดยหากเจ้าหน้าที่ กระทำผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหาย ก็จะต้องถูกลงโทษตามกฎหมาย ไม่ได้เว้นการลงโทษแต่อย่างใด รวมถึงปัจจุบัน หน่วยงานต่างๆก็ได้เร่งขับเคลื่อน เพื่อให้ปฎิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ได้อย่างมีประสิทธิภาพ” รมว.ยุติธรรม กล่าว

แสดงความเห็น