“ECSTAR” จับมือ “เทโรสเปซ” ร่วมวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ “เศรษฐพงค์” เชื่อทำให้ทัดเทียมนานาชาติ

“ECSTAR” จับมือ “เทโรสเปซ” ร่วมวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ หวังยกระดับรองรับการเปลี่ยนแปลง “เศรษฐพงค์” ชี้ เป็นความก้าวหน้าอีกขั้นของ กมธ.ดีอีเอส หลังผลักดันมาตลอด เชื่อทำให้ประเทศทัดเทียมนานาชาติ

นายชาญวิทย์ มุนิกานนท์ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีอวกาศและวิจัย (ECSTAR) วิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เปิดเผยว่า ECSTAR ได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านวิชาการและวิจัยด้านเทคโนโลยีอวกาศ กับ บริษัท เทโรสเปซ จำกัด เพราะปัจจุบันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี กําลังเข้าสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งเกี่ยวข้องกับการบริการโทรคมนาคมผ่านโครงข่าย ดาวเทียมและโครงข่ายโทรคมนาคม เพื่อให้บริการในรูปแบบใหม่ที่เกี่ยวข้องกับกิจการอวกาศ โดยเป็นการสร้างนวัตกรรม ที่มีผลต่อการพัฒนาและการแข่งขันของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ดังนั้น เพื่อเป็นการสนับสนุนการพัฒนาประเทศและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม จึงได้จัดทำบันทึกข้อตกลงนี้ โดยจะมีการแลกเปลี่ยนและเสริมสร้างความรู้ ประสบการณ์ และข้อมูลทางวิชาการ รวมทั้งให้ การสนับสนุนบุคลากร เพื่อดำเนินการศึกษาวิจัยด้านอวกาศ แนวโน้มความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในอนาคต และ การศึกษาวิจัยด้านการกําหนดนโยบายและการกํากับดูแลที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี

นายบวรรัตน์ กาญจนรัตน์ ประธานกรรมการบริษัท เทโรสเปซ จํากัด กล่าวว่า บันทึกข้อตกลงนี้เป็นกรอบข้อตกลงเพื่อนําไปสู่การจัดทำความร่วมมือต่าง ๆ ระหว่าง หน่วยงานโดย ทั้งสองฝ่ายจะทำความตกลงกันเพื่อกําหนดรายละเอียด วิธีการ ระยะเวลา และเงื่อนไขในการดำเนินงานของกิจกรรมหรือโครงการย่อยแต่ละโครงการ รวมถึงการส่งเสริมการพัฒนาการใช้เทคโนโลยีที่เกิดใหม่ในอุตสาหกรรมอวกาศ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในอนาคต เช่น การใช้ระบบดาวเทียมขั้นสูง ข้อมูลขนาดใหญ่ การประมวลผลภาพ ปัญญาประดิษฐ์ กลุ่มดาวเทียมอินเทอร์เน็ต รวมถึงระบบนิเวศของเทคโนโลยีอวกาศ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในการ ยกระดับการศึกษา การวิจัย และการให้บริการด้านเทคโนโลยีอวกาศ โดยมีกรอบระยะเวลาของความร่วมมือ 5 ปี 

ด้าน พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะรอง ประธานกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคมและดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า นี่เป็นก้าวสำคัญอีกก้าวสำหรับงานด้านกิจการอวกาศ ที่กมธ.ดีอีเอส พยายามพัฒนาและผลักดันมาโดยตลอด ซึ่งการร่วมมือของทั้ง 2 องค์กร จะช่วยให้ประเทศไทยมีศักยภาพในด้านอวกาศมากขึ้น ซึ่งจะมีการพัฒนาทั้งในด้านองค์ความรู้ เทคโนโลยีต่างๆ และบุคคลการ รวมถึงการทดลองปฏิบัติงานจริง ซึ่งจะทำให้คนรุ่นใหม่มีแรงบันดาลใจ และอยากฝากให้มองไปถึงการริเริ่มโครงการกลุ่มดาวเทียมวงโคจรต่ำ หรือ Low Earth Orbit Satellites Constellation ด้วย ซึ่งหากทำได้ก็จะทำให้โอกาสในด้านเศรษฐกิจอวกาศ หรือ Space Economy ของเราเติบโตต่อไปได้อีกมาก เพราะหากเรายังไม่ลงมือทำอะไรตอนนี้ ประเทศเราจะเสียโอกาส และตามประเทศอื่นๆไม่ทัน

แสดงความเห็น