เร่งสปีดแก้กม.ลูกสองฉบับ รองรับจุดเปลี่ยน “ยุบสภา” กลางปี!

แม้แกนนำรัฐบาลที่อยู่ในพลังประชารัฐ-ภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์ จะยืนกรานและเชื่อมั่นว่า รัฐนาวา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างน้อยๆ น่าจะประคองไปได้จนถึงปลายเดือนพ.ย.ปีนี้ เพื่อให้ผ่านพ้นการเป็นเจ้าภาพประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค  จากนั้นหากพลเอกประยุทธ์ จะยุบสภาฯสักเดือนธันวาคม เพื่อให้เลือกตั้งเดือนมกราคม 2566 ก็ถือว่าเป็นเรื่องน่าพอใจแล้วสำหรับพรรคร่วมรัฐบาล

เพราะเท่ากับถึงตอนนั้น ก็มีการประกาศใช้และเบิกจ่ายงบประมาณ ตามพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 กันแล้ว อีกทั้ง มีการจัดทัพแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูงครบหมดทุกหน่วยงานโดยเฉพาะในสามหน่วยหลักคือ

“กองทัพ-กระทรวงมหาดไทยและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ”

ที่จะเป็นมือเป็นไม้ให้กับฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลในช่วงเลือกตั้งได้

ผนวกกับ ภาพความสำเร็จจากการประชุมเอเปค จะเป็นการสร้างภาพลักษณ์ในเชิงบวกทางการเมืองให้กับพลเอกประยุทธ์และรัฐบาล ที่แต่ละพรรคการเมืองในรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคฝ่ายพลเอกประยุทธ์ นำไปหาเสียง สร้างเรตติ้งคะแนนนิยมได้ ผนวกกับ เมื่อไปถึงช่วงปลายปี พรรคร่วมรัฐบาล ก็น่าจะเตรียมพร้อมในเรื่องตัวบุคคลที่จะส่งลงเลือกตั้ง ทั้งระบบเขตและปาร์ตี้ลิสต์ แบบฟูลทีมหมดแล้ว

ที่สำคัญ เรื่องเงื่อนไขของ “กฎหมายลูก” หรือพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ สองฉบับที่แก้ไขให้สอดคล้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องบัตรเลือกตั้ง-การเลือกตั้งส.ส.ที่เปลี่ยนแปลงไปโดยเฉพาะการคิดคำนวณ จำนวนส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ หากไม่เกิดอุบัติเหตุการเมืองอะไรขึ้น ยังไงเสีย  กระบวนการทั้งหมด น่าจะเสร็จกลางปีนี้หรือไม่เกินเดือนก.ค.

ยิ่งหาก มีการไฟเขียวให้เปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญช่วง เม.ย.-พ.ค.ปีนี้ การแก้ไขและประกาศใช้กฎหมายลูกก็จะเร็วขึ้นไปอีก

ปัจจัยทั้งหมด จึงเข้าเงื่อนไข ที่จะเปิดประตูให้บิ๊กตู่ ยุบสภาฯ ปลายปีนี้ได้แล้ว

สำคัญเพียงแต่ว่า พลเอกประยุทธ์ ต้องฝ่าด่านสำคัญ สองด่านให้ได้กลางปีนี้ คือ

หนึ่ง “ศึกซักฟอก อภิปรายไม่ไว้วางใจ” ที่คาดว่า ฝ่ายค้าน จะไม่รอช้า ทันทีที่เปิดสภาฯสมัยหน้า ปลายเดือนพ.ค. คาดว่าฝ่ายค้าน จะประกาศยื่นญัตติเลยทันที เพื่อสร้างแรงกดดันให้ บิ๊กตู่ ต้องยุบสภาฯ ก่อนยื่นซักฟอก เพราะหากยื่นญัตติไปแล้ว พลเอกประยุทธ์ ไม่สามารถยุบสภาฯ ได้ ยิ่งหากไม่มั่นใจว่าจะหาเสียงโหวตไว้วางใจตัวเองกลางสภาฯ ได้เกินกึ่งหนึ่ง ถ้าเคลียร์กับกลุ่มธรรมนัส พรหมเผ่า ไม่ได้ แม้ต่อให้ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย จะให้คำมั่นใจว่า นายกฯไม่ต้องห่วง ยังไง จะมาช่วยหาเสียงส.ส.โหวตให้ถึงให้ได้

แต่ของแบบนี้ ถ้าพลเอกประยุทธ์ ไม่ชัวร์ ก็อาจไม่ยอมเสี่ยง ตกม้าตายกลางสภาฯ กลายเป็นนายกฯคนแรกที่้ต้องหลุดจากตำแหน่งเพราะเสียงไว้วางใจไม่ถึงกึ่งหนึ่ง จึงมีโอกาสสูงที่พลเอกประยุทธ์อาจยุบสภาฯได้ ยกเว้นแต่ พลเอกประยุทธ์มั่นใจว่า หาเสียงส.ส.สนับสนุนได้ถึงเป้าแน่นอน แบบนี้ ก็คงพร้อมชนฝ่ายค้านในศึกซักฟอก

สอง -คือ ต้องฝ่าด่าน “การตีความเรื่องวาระการเป็นนายกฯแปดปีในชั้นศาลรัฐธรรมนูญที่จะครบแปดปีในเดือนสิงหาคมไปให้ได้”

หลังฝ่ายค้านยืนกรานจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญแน่นอน ในช่วงก่อนเดือนสิงหาคมปีนี้ โดยหากนายกฯ ฝ่าด่านนี้ไปได้อีก ทุกอย่าง ก็ฉลุย แต่หากฝ่าไม่ได้ การเมืองก็ถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ ต้องโหวตหานายกฯคนใหม่

โดยหาก พลเอกประยุทธ์ ฝ่าสองด่านนี้ไปได้ ก็มีสิทธิ์ได้เป็นนายกฯคอยยืนต้อนรับผู้นำประเทศต่างๆ ตอนประชุมเอเปคเดือนพ.ย.ปีนี้แน่นอน

และเมื่อไปดูเงื่อนไขการเมืองเรื่องนายกฯจะยุบสภาฯก่อนครบเทอมหรือไม่ หรือจะอยู่ครบเทอมสี่ปี ในเรื่อง “การแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ”

พบว่าตอนนี้ มาถึงขั้นตอนสำคัญแล้ว เพราะสัปดาห์นี้ “ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา” ได้นัดประชุมร่วมรัฐสภา ในวันที่ 24-25 ก.พ. ที่จะมีวาระสำคัญเข้าสู่การพิจารณา คือการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ที่มีการเสนอแก้ไขกันสองฉบับคือ พ.ร.บ.การเลือกตั้งส.ส.และพ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ รวมทั้งสิ้น 10 ฉบับ

แยกเป็น ร่างพ.ร.ป. ว่าด้วยการรเลือกตั้ง ส.ส. 4 ฉบับ แบ่งเป็นของคณะรัฐมนตรี เสนอ, นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่านและหัวหน้าพรรคเพื่อไทยฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ, นายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐและส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล และ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล และคณะเสนอ

และ ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง จำนวน 6 ฉบับ  แบ่งเป็น เสนอโดย ครม., นพ.ชลน่าน, พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ,  ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล, นายพิธา และนายอนันต์ ผลอำนวย ส.ส.กำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐ และคณะ เป็นผู้เสนอ ซึ่งสาระสำคัญ-เนื้อหาของแต่ละร่างฯ จะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไป

อย่างเช่น “ร่างแก้ไขพ.ร.บ.พรรคการเมืองของพรรคเพื่อไทย” ก็ถูกวิจารณ์อย่างหนักหลังมีการเสนอแก้ไขมาตรา 28 และ 29 ที่เป็นบทบัญญัติข้อห้ามไม่ให้บุคคลอื่นที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคเข้ามา ชี้นำ-ยุ่มย่าม ยุ่งเกี่ยวใดๆกับพรรคการเมืองในลักษณะจะเป็นการชี้นำหรือแทรกแซงการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรคทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม อันเป็นสองมาตราที่ทำให้ พรรคเพื่อไทย ถูกคนไปยื่นร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งให้ยุบพรรคเพื่อไทยหลายเรื่องจากผลพวงข่าวสารที่ว่า “โทนี่-ทักษิณ ชินวัตร” เข้ามายุ่มย่ามภายในพรรคเพื่อไทย

ส่วนเรื่อง “การคิดคำนวณสัดส่วนเก้าอี้ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ที่แต่ละพรรคการเมืองพึงได้หลังเลือกตั้ง” ก็ยังเป็นประเด็นที่ยังมีความเห็นขัดแย้งกันอยู่ระหว่างพรรคใหญ่กับพรรคขนาดกลางและขนาดเล็ก

เพราะพรรคขนาดกลาง-เล็ก รู้ดีว่าหากมีการแก้ไขกฎหมายโดยให้ใช้วิธีการคิดสัดส่วนปาร์ตี้ลิสต์แบบตอนเลือกตั้งปี 2544 2548 2554 ที่ให้นำคะแนนในบัตรปาร์ตี้ลิสต์ของทุกพรรคมารวมกันหมด แล้วหารด้วย 100 ที่ก็คือจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อตามที่มีการแก้ไขรธน. จนได้จำนวนตัวเลขที่เป็นค่ากลาง จากนั้นก็ไปดูว่า แต่ละพรรคการเมืองได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์กี่คะแนน แล้วก็คิดคำนวณไปตามค่ากลาง

ยกตัวอย่างหากนับคะแนนจากบัตรปาร์ตี้ลิสต์ตอนเลือกตั้งของทุกพรรครวมกันแล้วได้ 35,000,000 คะแนนที่ก็คือ มีคนมาลงคะแนนเสียง 35 ล้านคน โดยต้องไม่ใช่บัตรเสีย   ก็นำตัวเลขดังกล่าว ไปหารด้วย  100  ก็จะได้ 350,000 คะแนน  ต่อเก้าอี้ปาร์ตี้ลิสต์หนึ่งเก้าอี้ที่พรรคการเมืองจะได้

เช่นหากพรรคการเมือง ได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ 1,000,000 คะแนน ก็เท่ากับ ได้ส.ส.ประมาณสองคนเท่านั้น ถ้าไม่มีการปัดเศษ !

โดยหากสูตรดังกล่าวผ่านฉลุยออกมา พรรคขนาดกลาง-พรรคเล็ก ที่หวังจะได้แต่ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ก็โคม่า เพราะโอกาสจะลุ้นได้ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์แบบตอนเลือกตั้งปี 2562 แทบไม่มีเลย เพราะสูตรเดิมใช้เกณฑ์แค่ประมาณ 71,000 คะแนนก็ได้ปาร์ตี้ลิสต์หนึ่งเก้าอี้แล้ว

ซึ่งเบื้องต้น พรรคใหญ่อย่าง พลังประชารัฐ-เพื่อไทยรวมถึงประชาธิปัตย์ ต่างหนุนให้ใช้สูตรนี้

ขณะที่ พรรคก้าวไกล รวมถึงพรรคกลางและพรรคเล็ก ไม่เห็นด้วย และยังหวังจะต่อรองกับพรรคใหญ่ในชั้นกรรมาธิการฯ และตอนโหวตวาระสองกับวาระสามอยู่ แต่ดูแล้ว คงต่อรองได้ยาก

ข่าวว่า ฝ่ายพลังประชารัฐและส.ว.บางส่วน คุยกันเบื้องต้น จากสิบร่างที่เสนอมา จะโหวตให้ผ่านวาระแรก แค่ร่างจากฝั่งรัฐบาลเท่านั้น ส่วนร่างของฝ่ายค้าน มีโอกาสสูงจะโดนตีตกหมด  ตั้งแต่วาระแรก โดยเฉพาะร่างของพรรคเพื่อไทย

ที่ต้องรอดูกัน ตอนโหวตออกเสียงวันศุกร์ที่ 25 ก.พ.นี้ต่อไป และขั้นตอนหลังจากนั้น กระบวนการออกกฎหมายลูก ดูแล้ว อาจมีการเร่งให้เสร็จเร็วขึ้น

บนการตั้งข้อสังเกตทางการเมืองว่า อาจเพราะอย่างน้อย จะได้รองรับอุบัติเหตุการเมือง หากเกิดจุดเปลี่ยนขึ้นกลางปีนี้ หลังสภาฯเปิดรอบหน้า ช่วงพ.ค.-ก.ย.

ที่หลายฝ่ายมองว่า อาจมีการยุบสภาฯเกิดขึ้นก็ได้ !

แสดงความเห็น