“กมธ.ดีอีเอส” กังวล True-Dtac ควบรวมกิจการกระทบประชาชนแบกรับภาระค่าใช้จ่าย

“กมธ.ดีอีเอส” กังวล True-Dtac ควบรวมกิจการกระทบประชาชนแบกรับภาระค่าใช้จ่าย เชิญ กสทช.-พณ.-ก.ล.ต. ชี้แจงความชัดเจน หวั่นเกิดการผู้ขาด ไร้การกระตุ้นเพื่อแข่งขัน เกิดผลเสียต่อชาวบ้าน

น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ส.ส.สระบุรี พรรคพลังประชารัฐ ในฐานประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า การประชุม กมธ.ดีอีเอส สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการพิจารณาผลกระทบ ที่จะเกิดขึ้นต่อผู้บริโภค ภาคธุรกิจ และภาครัฐ เกี่ยวกับกรณีการควบรวมกิจการ ของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กับบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานรัฐทั้ง กรมการค้าภายใน และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์, ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เข้าชี้แจง โดยทางกมธ. เห็นว่า การสื่อสารเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐาน ที่จำเป็นต่อประชาชน และการขับเคลื่อนประเทศ จึงขอให้ กสทช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับข้อเสนอจากกมธ. ไปพิจารณาเตรียมความพร้อม ก่อนที่จะเกิดการควบรวมบริษัท เพื่อป้องกันปัญหาเกิดขึ้นต่อประชาชนในผลกระทบต่าง ๆ และคาดหวังให้ กสทช. ได้เสนอรายงานความคืบหน้าข้อห่วงกังวลของกมธ. กลับมาเพื่อรับทราบอีกครั้ง

“แม้ว่าเรื่องการควบรวมยังไม่เกิดขึ้น แต่ทาง กมธ.ดีอีเอส ต้องทำงานเชิงรุก เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือเพื่อเตรียมความพร้อมเอาไว้ก่อน เพราะเรื่องนี้สังคมเป็นกังวลอย่างมาก เพราะเกรงว่า เมื่อมีผู้ให้บริการน้อยลง การกำหนดราคาค่าบริการ และการให้บริการจะเกิดปัญหาการผูกขาด ขาดการแข่งขันทำให้ไม่เกิดการพัฒนาเรื่องระบบและการบริการ นี่คือข้อกังวลที่ ทางกมธ.ได้แจ้งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปพิจารณา” น.ส.กัลยา กล่าว

ด้านนายสรอรรถ กลิ่นประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะประธานที่ปรึกษากมธ.ดีอีเอส กล่าวว่า กมธ. มีความกังวลต่อการเตรียมควบรวมของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระหว่าง บริษัท ทรูฯ กับบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็สฯ ซึ่งแม้ว่าทั้งสองบริษัทยังไม่ได้ควบรวมกันอย่างเป็นทางการ แต่ข่าวที่ออกมาก็ทำให้ผู้คนตกใจ และเกรงว่าจะอาจจะส่งผลกระทบของประชาชน ที่จะต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่าย จึงจำเป็นจะต้องมีการสอบถามเพื่อให้เกิดความชัดเจน และเตรียมการล่วงหน้า แม้จะยังไม่มีการเกิดการควบรวบเกิดขึ้น และทางกมธ. ก็ได้ขอให้ กสทช.พิจารณาศึกษาขอบข่ายกฎหมายให้ชัดเจน และได้กำชับให้ กสทช.ไปหารือ และอาจจะต้องตั้งกรรมการศึกษาในเรื่องนี้ด้วย ซึ่งอาจจะไม่ได้แค่ศึกษากรณีนี้อย่างเดียว แต่อาจจะต้องเตรียมความพร้อมหากเกิดกรณีอื่นๆด้วย

แสดงความเห็น