“เศรษฐพงค์” เผย “อนุฯอวกาศ” ถก “สถานทูตฝรั่งเศส” ร่วมผลักดันนวัตกรรมอวกาศ 

“เศรษฐพงค์” เผย “อนุฯอวกาศ” ถก “สถานทูตฝรั่งเศส” ร่วมผลักดันนวัตกรรมอวกาศ ปรับภาพลักษณ์สองประเทศให้ร่วมสมัยมากขึ้น เตรียมแลกเปลี่ยนข้อมูลกับฝรั่งเศส เสนอมอบทุนการศึกษาเทคโนโลยีอวกาศระดับอุดมศึกษาร่วมกับไทย

การประชุมคณะอนุกรรมาธิการกิจการอวกาศเพื่อเศรษฐกิจและความมั่นคง ในคณะกรรมาธิการการสื่อสารโทรคมนาคมและดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สภาผู้แทนราษฎร ที่มีพันเอก ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ เป็นประธานการประชุม โดยมีวาระการพิจารณาเรื่อง การดำเนินโครงการปีแห่งนวัตกรรมฝรั่งเศส-ไทย 2023 (France-Thailand Year of Innovation 2023 : YOI) โดยเชิญนายเรมี ล็องแบร์ Mr. Remi Lambert อัครราชทูตที่ปรึกษา จากสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) นายชาญวิทย์ มุนิกานนท์ ประธานบริหารสถาบันการบินเอเซียและประธานสถาบันวิจัยเทคโนโลยีอวกาศและวิจัย (ECSTAR) วิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และนางสาวแคทลียา เดลแมร์ ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการกิจการอวกาศเพื่อเศรษฐกิจและความมั่นคง เข้าร่วมประชุม เพื่อหารือเรื่องนวัตกรรมด้านอวกาศ 

พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ เปิดเผยว่า ทางอัครราชทูตที่ปรึกษา สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ได้กล่าวว่ารู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้พบกับคณะกรรมาธิการฯ ซึ่งถือว่าสำคัญอย่างมาก พร้อมย้ำว่า ปีนี้เป็นปีแห่งนวัตกรรมฝรั่งเศส-ไทยที่มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ โดยประเทศไทยเป็นศูนย์กลางยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกของฝรั่งเศส ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อยกระดับความสัมพันธ์สู่หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกันภายในปี 2567 ทั้งด้านคมนาคมและเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับอวกาศ ซึ่งปีแห่งนวัตกรรมฝรั่งเศส-ไทย มีหัวใจสำคัญคือ เรื่องของอวกาศ จึงมุ่งหมายที่จะร่วมโครงการต่างๆกับประเทศไทย เพื่อที่จะทำให้ภาพลักษณ์ของทั้งสองประเทศมีความร่วมสมัยมากขึ้นทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยยินดีที่จะให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนรวมถึงสถาบันต่างๆ นอกจากนี้ ยังย้ำว่า ทั้งสองประเทศมีจุดประสงค์ที่จะให้ความสัมพันธ์ดำเนินไปอย่างแน่นแฟ้นทั้งในระยะกลางและระยะยาว พร้อมกันนี้ ยังเสนอให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและการทำงานในระดับคณะกรรมาธิการกับประเทศฝรั่งเศส และฝรั่งเศสพร้อมร่วมสนับสนุนทุนการศึกษาให้กับผู้ที่ศึกษาระดับอุดมศึกษาด้านเทคโนโลยีอวกาศกับประเทศไทยด้วย

พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ ยอมรับว่า รู้สึกขอบคุณและประทับใจเป็นอย่างยิ่งที่ทางสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยได้ให้การสนับสนุนประเทศไทยในด้านนวัตกรรมและได้ให้ข้อมูลอย่างละเอียดกับคณะกรรมาธิการฯ เนื่องจากการทำงานของสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยนั้นตรงกับการทำงานของคณะอนุกรรมาธิการฯ ซึ่งคณะกรรมาธิการฯมีโครงการใกล้ชิดกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) GISTDA โดยคณะกรรมาธิการได้มีการริเริ่มเปิดโครงการจัดตั้งห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีอวกาศ หรือ Space Technology Laboratory ร่วมกับ GISTDA และ ECSTAR ที่วิทยาลัยเทคนิคเวียงป่าเป้า อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย เมื่อได้ทราบว่าการทำงานของสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยนั้นเป็นไปในทิศทางเดียวกัน จึงเห็นว่า น่าจะร่วมมือกันในโครงการต่างๆได้ ขณะเดียวกับ ทางคณะกรรมาธิการฯก็ได้ร่วมมือกับองค์กรภาครัฐและบริษัทเอกชนต่างๆ ขณะที่สถาบันวิจัยเทคโนโลยีอวกาศและวิจัย (ECSTAR) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ก็ได้ร่วมมือกับบริษัทแอร์บัส (Airbus) ของฝรั่งเศสเช่นเดียวกัน จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ประเทศไทยจะได้ร่วมมือพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและนวัตกรรมกับทางฝรั่งเศสมากขึ้นต่อไป และตนจะนำเรื่องนี้เข้านำเรียนท่านกัลยา รุ่งวิจิตรชัย ประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อทราบและจะเรียนเชิญทางสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยเพื่อร่วมประชุมกันอีกครั้งหนึ่ง

แสดงความเห็น