“เศรษฐพงค์” ชี้ ดาวเทียม LEO มาแรง ทางเลือกใหม่ระบบสื่อสาร 

“เศรษฐพงค์” ชี้ ดาวเทียม LEO มาแรง ทางเลือกใหม่ระบบสื่อสาร ต้นทุนต่ำแต่อายุการใช้งานน้อยกว่า GEO ต้องระวังขยะล้นอวกาศ

พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะรองประธานกรรมาธิการ การสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอีเอส) กล่าวถึงเทคโนโลยีดาวเทียมว่า หากเป็นแบบดั้งเดิมดาวเทียมจะอยู่ในวงโคจร GEO ที่โคจรในระยะประมาณ 36,500 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก ซึ่งดาวเทียม Geostationary (GEO) มีการใช้งานมานานหลายสิบปีแล้ว ทำให้เชื่อมต่อได้แม้กระทั่งในพื้นที่ชนบทห่างไกล แต่วิวัฒนาการทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ เช่น ดาวเทียม LEO ที่มีข้อได้เปรียบหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นความหน่วงเวลาที่ต่ำลง และใช้งานได้หลากหลายวัตถุประสงค์มากขึ้น จึงทำให้มีการใช้งานดาวเทียม LEO ในอุตสาหกรรมต่างๆ เพิ่มมากขึ้น และใช้ในวัตถุประสงค์ต่างๆ ที่หลากหลาย แต่ดาวเทียม LEO ที่โคจรอยู่ระหว่าง 500 – 2,000 กิโลเมตรจากพื้นโลก จะมีขอบเขตความครอบคลุมที่จำกัด ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีดาวเทียม LEO จำนวนมาก เพื่อให้สามารถครอบคลุมพื้นผิวโลกได้อย่างสมบูรณ์  

พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันอุปกรณ์ของดาวเทียม LEO ที่มีขนาดเล็กลงกว่าเดิมมาก ทำให้แนวความคิดใหม่ถูกพัฒนาขึ้นและมีเป้าหมายเน้นไปที่ขนาด ความสามารถ และต้นทุน มีการพัฒนาดาวเทียมขนาดเล็กที่เรียกว่า CubeSat  ที่ทำให้อุตสาหกรรมดาวเทียมและอวกาศพัฒนาและเติบโตไปอย่างมากในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ส่งผลให้ความต้องการใช้งานดาวเทียม LEO เพิ่มมากขึ้น ทำให้ดาวเทียม LEO เหมาะสำหรับการใช้งานในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น ให้บริการอินเทอร์เน็ต ใช้เป็นอุปกรณ์สื่อสารในระบบโทรคมนาคมสื่อสาร เช่น ระบบโทรศัพท์อิริเดียมที่ใช้ ดาวเทียม LEO เพื่อตรวจสอบและสังเกตการณ์โลก เนื่องจากดาวเทียม LEO โคจรอยู่ใกล้พื้นผิวโลก จึงทำให้สามารถมองพื้นผิวโลกได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ใช้ในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์และการขนส่ง ในหารค้นหาตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ และตรวจสอบสัญญาณ และใช้ในภารกิจทางวิทยาศาสตร์ เป็นต้น 

พ.อ.เศรษฐพงค์ ยังกล่าวว่า ดาวเทียม LEO จะต้องสื่อสารกับสถานีภาคพื้นดินได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด จึงจะทำให้ดาวเทียม LEO ประยุกต์ใช้งานได้หลากหลายรูปแบบ แต่ส่วนใหญ่จะมีวัตถุประสงค์สำหรับการสื่อสารเคลื่อนที่ ดาวเทียม LEO สามารถให้บริการในพื้นที่ห่างไกลจากความครอบคลุมจากสัญญาณการสื่อสารจากโครงสร้างพื้นฐานภาคพื้นดิน เช่น การสื่อสารในแหล่งขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เหมืองแร่ และป่าไม้ จึงมีการนำบริการดาวเทียม LEO มาใช้ในการสำรวจ การเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต การสื่อสารด้วยเสียง และแม้กระทั่งการติดตามและตรวจสอบฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์ต่าง ๆ นอกจากนี้ เมื่อมีเหตุภัยพิบัติธรรมชาติเกิดขึ้น เช่น แผ่นดินไหว น้ำท่วม และพายุ ซึ่งอาจทำให้โครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารได้รับความเสียหาย ดังนั้นจึงมีการนำบริการสื่อสารผ่านดาวเทียมมาใช้ เพื่อประสานงานด้านการช่วยเหลือฉุกเฉินผ่านดาวเทียม ซึ่งอาจเป็นบริการเดียวที่สามารถใช้งานได้ หรือแม้แต่การใช้ในการสันทนาการ อย่างเช่น สำหรับผู้ที่ชอบแล่นเรือ ขับขี่รถ หรือเดินไปยังจุดหมายปลายทางที่ห่างไกลหากมีเหตุไม่คาดคิดเกิดขึ้น 

“เทคโนโลยีดาวเทียม LEO โคจรอยู่ในระดับต่ำ ทำให้สัญญาณการสื่อสารไม่จำเป็นต้องใช้พลังงานมากนัก และใช้เวลารับส่งสัญญาณน้อยลง เหมาะสำหรับการถ่ายภาพและการสื่อสาร เนื่องจากระดับความสูงที่ต่ำ จับภาพได้ดีและมีรายละเอียดมากขึ้น ปัจจุบันการสร้างดาวเทียม LEO ทำได้ง่ายมากขึ้น และมีต้นทุนที่ถูกลงกว่าในอดีต  แต่ในทางกลับกัน ดาวเทียม LEO ก็มีข้อเสีย เนื่องจากความง่ายในการเปิดตัวให้บริการและความนิยมที่เพิ่มขึ้นของดาวเทียมเหล่านี้ จึงทำให้เกิดปัญหาขยะในอวกาศเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นเหตุผลให้หน่วยงานด้านอวกาศมักต้องใช้เกราะป้องกันหลายชั้นเพื่อป้องกันเศษขยะอวกาศเหล่านั้น นอกจากนี้ ดาวเทียม LEO ทั่วไป มักจะมีอายุการใช้งานที่ต่ำกว่าดาวเทียม GEO มากอีกด้วย” พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าว

แสดงความเห็น