“เศรษฐพงค์” ชี้ ดาวเทียม LEO มาแรง ทางเลือกใหม่ระบบสื่อสาร 

“เศรษฐพงค์” ชี้ ดาวเทียม LEO มาแรง ทางเลือกใหม่ระบบสื่อสาร ต้นทุนต่ำแต่อายุการใช้งานน้อยกว่า GEO ต้องระวังขยะล้นอวกาศ

บทความโดย : พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย และรองประธานกรรมาธิการ การสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอีเอส) 

เมื่อเรากล่าวถึงเทคโนโลยีดาวเทียม หลายคนจะนึกถึงดาวเทียมในแบบดั้งเดิมที่จะอยู่ในวงโคจร GEO ที่โคจรในระยะประมาณ 36,500 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก ซึ่งดาวเทียม Geostationary (GEO) มีการใช้งานมานานหลายสิบปีแล้ว ทำให้เชื่อมต่อได้แม้กระทั่งในพื้นที่ชนบทห่างไกล แต่วิวัฒนาการทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ ในปัจจุบันทำให้เรามี ดาวเทียม LEO ที่มีข้อได้เปรียบหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นความหน่วงเวลาที่ต่ำลง และใช้งานได้หลากหลายวัตถุประสงค์มากขึ้น จึงทำให้มีการใช้งานดาวเทียม LEO ในอุตสาหกรรมต่างๆ เพิ่มมากขึ้น และใช้ในวัตถุประสงค์ต่างๆ ที่หลากหลาย แต่ดาวเทียม LEO ที่โคจรอยู่ระหว่าง 500 – 2,000 กิโลเมตรจากพื้นโลก จะมีขอบเขตความครอบคลุมที่จำกัด ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีดาวเทียม LEO จำนวนมาก เพื่อให้สามารถครอบคลุมพื้นผิวโลกได้อย่างสมบูรณ์  

โดยอุปกรณ์ของดาวเทียม LEO ที่มีขนาดเล็กลงกว่าเดิมมาก ทำให้แนวความคิดใหม่ถูกพัฒนาขึ้นและมีเป้าหมายเน้นไปที่ขนาด ความสามารถ และต้นทุน มีการพัฒนาดาวเทียมขนาดเล็กที่เรียกว่า CubeSat  ที่ทำให้อุตสาหกรรมดาวเทียมและอวกาศพัฒนาและเติบโตไปอย่างมากในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ส่งผลให้ความต้องการใช้งานดาวเทียม LEO เพิ่มมากขึ้น ทำให้ดาวเทียม LEO เหมาะสำหรับการใช้งานในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น ใช้เป็นอุปกรณ์สื่อสารในระบบโทรคมนาคมสื่อสาร เช่น ระบบโทรศัพท์อิริเดียมที่ใช้ ดาวเทียม LEO เพื่อตรวจสอบและสังเกตการณ์โลก เนื่องจากดาวเทียม LEO โคจรอยู่ใกล้พื้นผิวโลก จึงทำให้สามารถมองพื้นผิวโลกได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ใช้ในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์และการขนส่ง ในหารค้นหาตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ และตรวจสอบสัญญาณ และใช้ในภารกิจทางวิทยาศาสตร์ เป็นต้น 

“ปัจจุบันผู้คนจำนวนมากจัดเก็บข้อมูลบนคลาวด์และขับเคลื่อนภารกิจต่าง ๆ ด้วยข้อมูลมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้มีความต้องการส่งผ่านข้อมูลปริมาณมาก ๆ อย่างปลอดภัยและรวดเร็ว ดังนั้นการพัฒนาดาวเทียม LEO จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อการให้บริการข้อมูลที่ดีขึ้น โดยมุ่งเน้นที่การเติบโตของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตที่สามารถขยายความครอบคลุม นอกจากนี้ยังมีการแนะนำและพัฒนาบริการใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มรายได้และการใช้งานของผู้ใช้บริการ” 

ดาวเทียม LEO จะต้องสื่อสารกับสถานีภาคพื้นดินได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด จึงจะทำให้ดาวเทียม LEO ประยุกต์ใช้งานได้หลากหลายรูปแบบ แต่ส่วนใหญ่จะมีวัตถุประสงค์สำหรับการสื่อสารเคลื่อนที่ ดาวเทียม LEO สามารถให้บริการในพื้นที่ห่างไกลจากความครอบคลุมจากสัญญาณการสื่อสารจากโครงสร้างพื้นฐานภาคพื้นดิน เช่น การสื่อสารในแหล่งขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เหมืองแร่ และป่าไม้ จึงมีการนำบริการดาวเทียม LEO มาใช้ในการสำรวจ การเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต การสื่อสารด้วยเสียง และแม้กระทั่งการติดตามและตรวจสอบฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์ต่าง ๆ นอกจากนี้ เมื่อมีเหตุภัยพิบัติธรรมชาติเกิดขึ้น เช่น แผ่นดินไหว น้ำท่วม และพายุ ซึ่งอาจทำให้โครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารได้รับความเสียหาย ดังนั้นจึงมีการนำบริการสื่อสารผ่านดาวเทียมมาใช้ เพื่อประสานงานด้านการช่วยเหลือฉุกเฉินผ่านดาวเทียม ซึ่งอาจเป็นบริการเดียวที่สามารถใช้งานได้ หรือแม้แต่การใช้ในการสันทนาการ อย่างเช่น สำหรับผู้ที่ชอบแล่นเรือ ขับขี่รถ หรือเดินไปยังจุดหมายปลายทางที่ห่างไกลหากมีเหตุไม่คาดคิดเกิดขึ้น 

“เทคโนโลยีดาวเทียม LEO โคจรอยู่ในระดับต่ำ ทำให้สัญญาณการสื่อสารไม่จำเป็นต้องใช้พลังงานมากนัก และใช้เวลารับส่งสัญญาณน้อยลง เหมาะสำหรับการถ่ายภาพและการสื่อสาร เนื่องจากระดับความสูงที่ต่ำ จับภาพได้ดีและมีรายละเอียดมากขึ้น ปัจจุบันการสร้างดาวเทียม LEO ทำได้ง่ายมากขึ้น และมีต้นทุนที่ถูกลงกว่าในอดีต  แต่ในทางกลับกัน ดาวเทียม LEO ก็มีข้อเสีย เนื่องจากความง่ายในการเปิดตัวให้บริการและความนิยมที่เพิ่มขึ้นของดาวเทียมเหล่านี้ จึงทำให้เกิดปัญหาขยะในอวกาศเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นเหตุผลให้หน่วยงานด้านอวกาศมักต้องใช้เกราะป้องกันหลายชั้นเพื่อป้องกันเศษขยะอวกาศเหล่านั้น นอกจากนี้ ดาวเทียม LEO ทั่วไป มักจะมีอายุการใช้งานที่ต่ำกว่าดาวเทียม GEO มากอีกด้วย”

แสดงความเห็น