“เศรษฐพงค์” ชี้ เทคโนโลยีดาวเทียมวงโคจรต่ำ(LEO) จะพลิกโลกสู่อุตสาหกรรม 5.0 

“เศรษฐพงค์” ชี้ เทคโนโลยีดาวเทียมวงโคจรต่ำ(LEO) จะพลิกโลกสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรม 5.0 แนะเตรียมรับมือ 5 ผลกระทบเพื่อธุรกิจอยู่รอดอย่างแข็งแกร่ง

บทความโดย : พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย และรองประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กมธ.ดีอีเอส) 

ปัจจุบันเครือข่ายดาวเทียมวงโคจรต่ำ (LEO satellite networks) กำลังจะเชื่อมระบบสื่อสารจากอวกาศสู่มือถือ 5G/6G ของผู้คนทั่วโลก รวมไปถึงอุปกรณ์ IoT ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า, เครื่องบิน, โดรน, หุ่นยนต์, แว่น VR/AR, อุปกรณ์ในโรงงาน รวมไปถึงอุปกรณ์การแพทย์ในตัวมนุษย์และสัตว์ ฯลฯ ที่เหนือจะจินตนาการ โดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาเทคโนโลยีการบินและกิจการอวกาศ ที่กำลังทำให้โลกก้าวเข้าไปสู่ดินแดนใหม่ ระบบเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมทุกเซ็กเตอร์ที่มองไม่เห็นต่อผลกระทบครั้งนี้ จะล้มหายตายจากไปอย่างไม่รู้ตัวภายใน 5-10 ปีนี้ 

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมและองค์กรที่มองเห็นโอกาสจากภัยคุกคามครั้งนี้ ก็จะสามารถอยู่รอดอย่างแข็งแกร่ง ในดินแดนแห่งอุตสาหกรรม 5.0 ที่มนุษย์และเครื่องจักร ทำงานร่วมกันอย่างไร้รอยต่อ

ทั้งนี้ ก่อนการระบาดของโควิด-19 อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ มีความสำคัญต่อการสร้างเศรษฐกิจ องค์ความรู้ และมีผลต่อการเติบโตการบริการด้านต่างๆ แต่ทุกอย่างได้เปลี่ยนไปนับตั้งแต่เกิดการระบาด ซึ่งทำให้การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตกลายเป็นสิ่งสำคัญมากยิ่งขึ้นไปอีก ด้วยความยืดหยุ่นในการทำงานจึงเป็นกุญแจสำคัญในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เป็นเครื่องมือสำหรับการพัฒนาทักษะและสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจในทุกภาคส่วนให้กับผู้คน ช่วงเสริมสร้างความยืดหยุ่นของชุมชนในช่วงเวลาที่ทุกอย่างต้องหยุดชะงักลง แต่จะทำให้ผู้คนที่ไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตจะเกิดความเสียเปรียบอย่างมาก นั่นคือเกิดความเหลื่อมล้ำสำหรับประเทศที่ไม่มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านอวกาศและการสื่อสารนั่นเอง

โดยการใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ดูเหมือนจะแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว แต่ข้อมูลจากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunications Union : ITU)  ระบุว่าประชากรเกือบ 2,400 ล้านคน หรือประมาณ 55% ของประชากรในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ยังคงไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ อีกทั้งมีผู้คนมากกว่า 3 พันล้านคน อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างจากโครงสร้างพื้นฐานทางด้านโทรคมนาคมอย่างมาก

ในขณะที่ความต้องการด้านอินเทอร์เน็ตมากขึ้น การนำดาวเทียมมาใช้บริการอินเทอร์เน็ตก็มีการพัฒนาเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งในขณะนี้มีการลงทุนหลายพันล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับการปล่อยดาวเทียมวงโคจรต่ำ (Low Earth Orbit Satellite) รุ่นใหม่ๆ ซึ่งดาวเทียมวงโคจรต่ำ (LEO) เหล่านี้สามารถเชื่อมต่อพื้นที่ห่างไกลได้ดีขึ้น และกลุ่มดาวเทียม (constellation) จำนวนมาก กำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาและขยายตัวอย่างรวดเร็ว ขณะนี้มีดาวเทียม LEO มากกว่า 1,500 ดวงอยู่ในวงโคจรบนอวกาศแล้ว และยังมีดาวเทียมอีกหลายพันดวงอยู่ในระหว่างการปล่อยขึ้นไปบนอวกาศ

ปัจจุบัน บริษัท SpaceX ได้เปิดตัวกลุ่มดาวเทียม Starlink ไปแล้วกว่า 1,500 ดวง และกำลังทดสอบการให้บริการในอเมริกาเหนือ ยุโรป ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ส่วนบริษัท OneWeb ผู้ให้บริการบรอดแบนด์ผ่านดาวเทียมอีกรายได้ส่งดาวเทียม LEO จำนวนกว่า 200 ดวงขึ้นสู่วงโคจร และยังมีบริษัทอื่นๆ รวมถึงบริษัทในเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีน ที่เริ่มส่งดาวเทียม LEO ขึ้นสู่วงโคจรด้วยเช่นกัน  

ดาวเทียมวงโคจรต่ำ LEO จะกลายเป็นสิ่งสำคัญของการสื่อสารโทรคมนาคมทั่วโลก เป็นกุญแจดอกสำคัญร่วมกับเทคโนโลยี AI ที่จะเปลี่ยนผ่านระบบ 5G ไปสู่ 6G ดังนั้นจึงต้องมีการทำความเข้าใจถึงผลกระทบที่จะเกิดจากกลุ่มดาวเทียม LEO ดังนี้ 

1.การครอบคลุมทั่วทุกมุมโลก จะทำให้พื้นที่ห่างไกลสามารถทำการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูง(Broadband Internet)ได้ เนื่องจากดาวเทียม LEO มีวงโคจรอยู่ที่ระดับความสูงประมาณ 200-2,000 กิโลเมตร เหนือพื้นผิวโลก และจะโคจรรอบโลกหลายครั้งต่อวัน ด้วยเหตุนี้ ดาวเทียมแต่ละกลุ่มจึงต้องมีดาวเทียมจำนวนนับร้อยหรือหลายพันดวงเพื่อให้ครอบคลุมทั่วทั้งโลก จึงจะสามารถทำการเชื่อมต่อได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีการคาดการณ์ว่ากลุ่มดาวเทียม LEO จะสามารถเพิ่มความจุอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมได้มากกว่า 10 เท่าในเวลาเพียงไม่กี่ปี และจะกระจายบริการเชื่อมต่อได้อย่างเท่าเทียมกันทั่วโลก โดยกำลังจะเชื่อมระบบสื่อสารจากอวกาศสู่มือถือ 5G/6G ของผู้คนทุกคนทั่วโลก รวมไปถึง IoT ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า เครื่องบิน โดรน หุ่นยนต์ อุปกรณ์สวมใส่ AR/VR อุปกรณ์โรงงาน รวมไปถึงอุปกรณ์การแพทย์ในตัวมนุษย์และสัตว์ จะทำให้เกิดการควบคุมระยะไกล และการสื่อสารที่ไร้รอยต่อ

2. กลุ่มดาวเทียม LEO จะมีการปรับปรุงพัฒนาคุณภาพอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม ทำให้การใช้งานและการบริการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ดาวเทียม LEO มีระดับวงโคจรที่ต่ำ จึงช่วยลดเวลาที่ข้อมูลเดินทางระหว่างจุดสองจุดหรือที่เรียกว่า latency ให้เหลือน้อยกว่า 27 มิลลิวินาที ซึ่งหมายความว่าสามารถใช้กับแอปพลิเคชันที่ต้องการ latency ต่ำ เช่น การประชุมทางวิดีโอความละเอียดสูง การประมวลผลธุรกรรมทางการเงินแบบ real time หรือการทำงานควบคุมระยะไกลของเครื่องจักร รวมถึงการโทรศัพท์แบบพื้นฐานด้วยเสียงก็ได้ประโยชน์ เนื่องทำให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพมาก ทำให้ผู้คนได้รับประโยชน์จากคุณภาพการบริการที่ดีขึ้น จึงเป็นเหตุผลให้ภาคเอกชนลงทุนเป็นมูลค่ามหาศาลหลายหมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ อย่างเช่น Starlink ที่ร่วมมือกับ Microsoft เพื่อเชื่อมต่อโครงสร้างพื้นฐานของ Starlink กับโครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์และศูนย์ข้อมูลของ Microsoft โดยตรง  นอกจากนี้ ดาวเทียม LEO จะช่วยปรับปรุงคุณภาพการใช้งานอินเทอร์เน็ตให้ดีขึ้น ทำให้ชุมชนที่อยู่ห่างไกล (remote communities) สามารถเข้าถึงบริการได้ เช่น ธนาคารออนไลน์, e-learning บริการของภาครัฐ และบริการออนไลน์ใหม่ๆ และจะผลักดันให้เกิดการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของ AI, Machine Learning และ Deep Learning อีกด้วย

3.บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม LEO จะมีค่าบริการลดลง โดยคาดการณ์ว่าการขยายตัวของความจุดาวเทียม LEO ทั่วโลก จะช่วยลดต้นทุนในการให้บริการอินเทอร์เน็ตลง มีผู้ให้บริการดาวเทียม LEO รายใหม่ๆ เริ่มให้บริการเชิงพาณิชย์ โดยขณะนี้ Starlink กำลังผ่านการทดสอบเบต้า (beta test) แล้ว ซึ่งมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้อย่างก้าวกระโดด เนื่องจากการเข้าสู่ตลาดที่ง่ายขึ้นสำหรับผู้ให้บริการดาวเทียม และต้นทุนอุปกรณ์ที่ลดลงเมื่อขยายขนาดการผลิต ต้นทุนการส่งดาวเทียวที่ต่ำลงอย่างรวดเร็ว เป็นกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่การแข่งขันด้านราคาในที่สุด

4.การเชื่อมต่อของดาวเทียม LEO กับระบบสื่อสาร 5G/6G บนภาคพื้นดิน สามารถสร้างความยืดหยุ่นของโครงสร้างพื้นฐานเครือข่ายสำหรับภูมิภาคที่เสี่ยงต่อภัยธรรมชาติ โดยในพื้นที่บางส่วนของโลกมีความเสี่ยงที่จะเกิดการหยุดชะงักของการสื่อสารเนื่องจากภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม แผ่นดินไหว และภูเขาไฟระเบิด ดังนั้นการเชื่อมต่อผ่านดาวเทียมจึงเป็นกุญแจสำคัญที่สร้างการสื่อสารใหม่ และสนับสนุนการตอบสนองต่อภัยพิบัติ ซึ่งประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล ประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก อาจมีข้อจำกัดทางการสื่อสาร และประสบปัญหาการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่ไม่มีคุณภาพ โดยยังพึ่งพาการเชื่อมต่อระหว่างประเทศโดยตรงผ่านสายเคเบิลใยแก้วนำแสงภาคพื้นดินหรือใต้ทะเล แต่การนำดาวเทียม LEO มาใช้ในการสนับสนุนการสื่อสารสำหรับประเทศเหล่านี้ จะเป็นการเพิ่มศักยภาพทางการสื่อสารได้ดีขึ้น ตรงนี้ทำให้เห็นชัดเจนว่าอุตสาหกรรมใหม่นี้ ยังมีตลาดรองรับอยู่จำนวนมหาศาล

5.การขยายกลุ่มดาวเทียม LEO ไปสู่ Megaconstellation (จำนวนดาวเทียม LEO นับหมื่นดวงจะครอบคลุมทั่วโลก) และการพัฒนางานวิจัยด้านอวกาศ ทำให้ต้นทุนการปล่อยจรวดลดลงอย่างรวดเร็ว เกิดประโยชน์ต่อเทคโนโลยีและบริการด้านอวกาศอื่นๆ ทำให้มีบริการที่แปลกใหม่เกิดขึ้น นำโลกไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรม 5.0 ได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ ยังมีดาวเทียมสำรวจโลก (Earth observation) ที่สามารถเป็นแหล่งข้อมูลแบบเรียลไทม์ เช่นการเห็นภาพถ่ายดาวเทียมบน Google แบบเกือบ real time เป็นต้น โดยบริการที่แปลกใหม่เหลือเชื่อเหล่านี้กำลังมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว เพื่อใช้สำหรับตรวจสอบพืชผลการเกษตร การติดตามการตัดไม้ทำลายป่า การปลูกป่า การวัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การติดตามการใช้พลังงานทั่วทุกมุมโลก และการจัดหาข้อมูลสำหรับการวิเคราะห์คาดการณ์ในด้านการจัดการภัยพิบัติ เป็นต้น

“ทั้งหมดทำให้เห็นว่า การพัฒนาเทคโนโลยีการบินและกิจการอวกาศ กำลังจะทำให้โลกก้าวเข้าไปสู่ดินแดนใหม่ ระบบเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งอุตสาหกรรมที่มองไม่เห็นต่อผลกระทบครั้งนี้ จะล้มหายตายจากไปอย่างไม่รู้ตัวภายใน 5-10 ปีนี้ ส่วนอุตสาหกรรมหรือองค์กรที่มองเห็นโอกาสจากภัยคุกคามครั้งนี้ ก็จะสามารถอยู่รอดอย่างแข็งแกร่ง ในดินแดนแห่งอุตสาหกรรม 5.0 ที่มนุษย์และเครื่องจักรทำงานร่วมกันอย่างไร้รอยต่อ”

อ้างอิง

https://www.adb.org/news/features/five-ways-low-earth-orbit-satellites-impact-asia-pacific
https://www.adb.org/publications/digital-connectivity-low-earth-orbit-satellite-opportunities

แสดงความเห็น