“เศรษฐพงค์” แนะ ไทยวางตัวเป็นกลางด้านเทคโนโลยี เปิดโอกาสปท. หนุนตั้งสมาพันธ์ 5G

“เศรษฐพงค์” แนะ ไทยควรวางตัวเป็นกลางด้านเทคโนโลยี เปิดโอกาสประเทศต่าง ๆ เข้ามาแข่งขัน เป็นผลดีต่อการพัฒนาเทคโนโลยีของปท. ชี้ รัฐควรสนับสนุนการตั้ง “สมาพันธ์ 5G for Business” จากพันธมิตรต่างชาติที่มีการสร้างระบบนิเวศน์ของอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตอย่างสมบูรณ์( Maturity Industrial ecosystem)

พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(กมธ.ดีอีเอส) ให้สัมภาษณ์ว่า ช่วงที่ผ่านมามีข่าวจาก NTT DOCOMO ในฐานะผู้ให้บริการรายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นร่วมกับกลุ่มบริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ  ได้มีข้อตกลงร่วมกันในการเสนอให้ตั้งสมาพันธ์ 5G (5G Global Enterprise solution Consortium (5GEC)  โดยมีวัตถุประสงค์ในการนำเทคโนโลยี 5G มาช่วยภาคธุรกิจต่างๆ ปรับตัวเพื่อการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคดิจิทัล โดยมีความตั้งใจจะเริ่มทำการสาธิตได้ในประเทศไทยในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ และให้บริการได้จริงในปีหน้า ซึ่งแนวทางนี้จะเป็นการรวมพาร์ทเนอร์ที่มีจุดแข็งในด้านต่างๆ เข้ามาร่วมกัน ซึ่งตนเห็นว่าเรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งที่ดีและถูกต้อง เพราะทิศทางการยกระดับประเทศไทยเข้าสู่ Thailand 4.0 เราไม่ควรอิงกับพันธมิตรรายใดรายหนึ่งเท่านั้น เพราะจะกลายเป็นว่าเราไปสร้างระบบการผูกขาดให้กับองค์กรใดองค์กรหนึ่งแทนที่จะเป็นการสร้าง “Thailand 4.0 Ecosystem” แต่จะกลายเป็นการสร้าง “Thailand 4.0 Egosystem” ขึ้นแทน รัฐบาลไทยควรให้การสนับสนุนแนวทางการดำเนินการเรื่องนี้ และเป็นเรื่องน่าประทับใจที่ทางกลุ่มนี้ได้เลือกประเทศไทยในการนำความรู้ ความชำนาญ ขยายเข้ามาสู่ประเทศไทยเป็นประเทศแรก ๆ เพราะที่ผ่านมาการผลักดัน 5G ทำกันอยู่เฉพาะหน่วยงานภาครัฐ และผู้ให้บริการและบริษัทผู้ผลิตเทคโนโลยีไม่กี่ราย ไม่น่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะสม 

พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีข่าวการประชุมกลุ่ม Quad เมื่อวันที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมา โดยมีรูปแบบเป็นการประชุมออนไลน์ ของผู้นำ 4 ประเทศซึ่ง ประกอบด้วย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และอินเดีย โดยในที่ประชุมได้มีการหารือกันหนึ่งในนั้นก็มีเรื่อง 5G โดยที่ประชุมเห็นว่าอาเซียนไม่ควรที่จะอิงเทคโนโลยีจากประเทศจีนเพียงอย่างเดียว ที่ประชุมเห็นตรงกันว่าอยากจะเข้ามามีบทบาทในกลุ่มประเทศอาเซียนในเรื่อง 5G เพื่อสร้างสมดุลกับเทคโนโลยีจากประเทศจีน ตนเห็นว่าประเทศไทยควรที่จะมีท่าทีในการตอบรับกับแนวทางนี้  เพื่อแสดงจุดยืนว่าประเทศไทยเป็นกลางในด้านเทคโนโลยี เนื่องจากที่ผ่านมาภาพการวางบทบาทของภาครัฐถูกเข้าใจว่าให้ความสำคัญเทคโนโลยี 5G นี้จากจีนเป็นสำคัญ  ทั้งการลงทุนภาครัฐที่มีภาพการลงทุนภาครัฐที่เน้นไปให้สอดคล้องกับนโยบาย OBOR (One Belt One Road) จากจีน หรือการเน้นการเชิญชวนการลงทุนเพื่อเข้ามาในพื้นที่ EEC เน้นไปที่บริษัท/องค์กรจากจีนเป็นหลัก ซึ่งอาจทำให้เราอาจถูกเข้าใจว่าเราให้ความสำคัญและสนิทสนมกับผู้ประกอบการจากจีนมากกว่าชาติอื่น ดังนั้นการวางบทบาทของภาครัฐก็ควรมีการเน้นการให้ความสำคัญกับประเทศหรือกลุ่มประเทศอื่นด้วย เราต้องแสดงให้เห็นถึงการรักษาดุลยภาพการลงทุนจากประเทศอื่น ๆ เราสนับสนุนเทคโนโลยีจากประเทศอื่นๆ ไม่ได้ให้ความสำคัญข้างใดข้างหนึ่งมากจนเกินไป  ไม่ว่าประเทศใดจะเข้ามาเราก็เปิดรับ เราต้องเปิดให้มีการแข่งขันในประเทศไทย ซึ่งจะเกิดผลดีกับประเทศ ทำให้ประเทศไทยมีทางเลือกมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง 5G 

“ในด้านภูมิรัฐศาสตร์ ไทยต้องมีภาพมีบทบาทที่เป็นกลางไม่เอียงไปทางประเทศใดประเทศหนึ่ง ตรงนี้มีข้อดี คือจะมีบริษัทต่างประเทศเข้ามามากขึ้น เราเป็นสนามที่มีการแข่งขันสูง ก็ย่อมมีโอกาสจะเป็นสนามการสร้างการพัฒนา มีโอกาสในการเห็นเทคโนโลยีใหม่ๆ หลากหลายมากขึ้น ด้านราคาก็อาจจะดีขึ้นพร้อมกับประสิทธิภาพ ที่สำคัญรัฐบาลต้องแสดงท่าทีด้วยความจริงใจ โดยอยากให้ประเทศต่าง ๆ มองประเทศไทยเป็นฐานในการวิจัยและพัฒนา เพราะหากเราเป็นกลางด้านเทคโนโลยี ก็เปรียบเสมือนเราเป็นตลาดนัด เป็นแหล่งรวบรวมผู้ขาย และคนเข้ามาซื้อก็จะเห็นเทคโนโลยีทั้งสองด้าน ไม่ใช่ของประเทศใดประเทศหนึ่ง” พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าว

แสดงความเห็น