“เศรษฐพงค์” ยัน Telemedicine เป็นประโยชน์ แนะเร่งพัฒนาเทคโนโลยี-5Gครอบคลุม

“เศรษฐพงค์” เผย ราชกิจจาฯ แนวทางปฏิบัติการแพทย์ทางไกล ชี้ เป็นประโยชน์มาก แนะเร่งพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสาร -ระบบ 5G-อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ให้ครอบคลุมมีประสิทธิภาพ

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคภูมิใจไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(กมธ.ดีอีเอส) ให้สัมภาษณ์ถึงโครงการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ว่า วันที่ 21 ก.ค. ที่ผ่านมา เว็ปไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้ลงประกาศแพทยสภาว่าด้วยแนวทางปฏิบัติการแพทย์ทางไกล หรือ โทรเวช (telemedicine) http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/E/166/T_0052.PDF ซึ่งจะมีผลบังคับใช้หลัง 90 วัน นับจากวันที่ประกาศ โดยรายละเอียดเป็นแนวทาง ข้อกำหนด เกี่ยวกับการให้บริการด้านโทรเวช ซึ่งในสภาวะโควิด-19 ตนเห็นว่าเรื่องนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากกับวงการแพทย์ไทยที่จะช่วยอำนวยความสะดวกในการรักษาให้กับแพทย์และผู้ป่วย ทุกวันนี้เทคโนโลยีในการสื่อสารก้าวไกลไปมาก มีโปรแกรมจำนวนมากที่ช่วยให้ผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์สามารถพูดคุยตอบโต้กันได้ รวมถึงการประชุมทางไกลด้วยภาพและเสียง (Video conference) ที่คู่สนทนาสามารถมองเห็นหน้าและสนทนากันได้ทั้ง 2 ฝ่ายได้อย่างไร้ข้อจำกัดในเรื่องเวลาและสถานที่ ผ่านทางเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เช่น สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ ที่ติดตั้งโปรแกรมไว้ วิธีนี้จะช่วยให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่อยู่อีกสถานที่สามารถซักประวัติผู้ป่วย ตรวจร่างกาย และประเมินอาการ รวมถึงสภาวะทางจิตใจของผู้ป่วยได้ และในภาวะที่แพทย์ไม่สามารถเจอหน้าผู้ป่วยได้ การแพทย์ชนิดนี้ก็มีประโยชน์มากทีเดียวที่จะช่วยรักษาผู้ป่วยได้ในเบื้องต้น

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวอีกว่า ประโยชน์ของ Telemedicine สามารถเข้าถึงการตรวจรักษาและได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้เร็ว ลดค่าใช้จ่ายและเวลาในการเดินทาง รวมถึงค่าใช้จ่ายแฝงอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น ค่าอาหาร หรือค่าเสียเวลา สามารถนัดแพทย์ได้ตามเวลาที่สะดวก ไม่ต้องไปคอยที่โรงพยาบาลเป็นเวลานาน รับคำปรึกษากับแพทย์ก่อนตัดสินใจไปโรงพยาบาล หรือกรณีที่ผู้ป่วยไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลมาแล้ว แต่ยังมีข้อสงสัยอยู่ หรือต้องการปรึกษาแพทย์ท่านอื่นก็สามารถทำได้ และช่วยให้แพทย์ติดตามผลการรักษาได้ง่ายขึ้น โดยที่ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องมาที่โรงพยาบาล ไม่ต้องไปแออัดที่โรงพยาบาล  แต่ยังมีข้อควรระวังที่สำคัญหลายอย่าง มาตรฐานการให้บริการ เพราะข้อจำกัดด้านเครื่องมืออุปกรณ์ทางเทคโนโลยีที่ใช้ในการสื่อสารที่ยังไม่เสถียรหรือมีความเร็วเพียงพอ ซึ่งตรงนี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการเตรียมพร้อมด้านโครงสร้างเครือข่ายการสื่อสารโดยเฉพาะระบบ 5G จะช่วยลดหรือไม่ทำให้เกิดข้อผิดพลาดได้

“ในช่วงการระบาดของโควิด-19 การแพทย์ทางไกลเป็นประโยชน์อย่างมากในการช่วยให้ทั้งผู้ป่วยและแพทย์ปลอดภัยและห่างไกลจากการติดเชื้อมาก รวมถึงการให้บริการผู้ป่วยในที่ห่างไกลเดินทางลำบาก แต่หากจะให้มีประสิทธิภาพภาครัฐจะต้องปรับปรุงในเรื่องเทคโนโลยีการสื่อสารให้ครอบคลุมและเข้าถึงได้ง่าย โดยเฉพาะเรื่องอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง แต่เมื่อคำนึงถึงประโยชน์โดยรวมแล้ว หากรัฐบาล กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาเร่งดำเนินการด้านนโยบายเพื่อสนับสนุนการแพทย์ทางไกลต่อไป ก็จะเป็นประโยชน์มากทีเดียว” พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าว

แสดงความเห็น