กมธ.ดีอีเอส หนุนพ.ร.ก.ประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ลดความแออัดในการประชุม


“กัลยา”เผยต้องแก้ข้อบังคับสภาให้สอดคล้องกม.ประชุมออนไลน์ ยันช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน แต่ต้องวางระบบความปลอดภัยให้ดี “เศรษฐพงค์” แนะ อัพเกรดระบบ Teleconferecne – ระบบเก็บข้อมูล พัฒนาโครงข่ายไอที-อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง บุคลากรรองรับระบบใหม่ๆ

น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ส.ส.สระบุรี พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กมธ.ดีอีเอส) กล่าวถึงการผ่านร่าง พ.ร.ก.ประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ว่า การผ่านร่าง พ.ร.ก.ดังกล่าวถือว่าเป็นเรื่องที่ดีในการปรับการทำงานของหน่วยงานต่างๆให้เข้ากับสถานการณ์ ที่ผ่านมาเราต้องเจอกับสถานการณ์วิกฤตไวรัสโควิด-19 จนการใช้ชีวิตประจำวันของทุกคนต้องเปลี่ยนไป มีการเว้นระยะห่างทางสังคม ลดการประชุมในห้องที่แออัด อย่างไรก็ตาม แม้พ.ร.ก.จะไม่บังคับใช้กับการประชุมต่างๆ ของสภา แต่ถือเป็นการเปิดช่องที่ดี โดยประธานกรรมาธิการของสภา จะได้ประชุมกันในวันที่ 2 มิ.ย. ซึ่งอาจนำไปสู่การแก้ข้อบังคับ เพื่อให้เราดำเนินการประชุมผ่านอิเล็กทรอนิกส์ได้ตามกฎหมาย แต่ในส่วนของกรรมาธิการ ดีอีเอส เราได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 28 พ.ค. โดยที่ประชุมก็เห็นตรงกันว่าระบบการประชุมของสภาจะต้องมีการพัฒนาทั้งในเรื่องเทคโนโลยี ให้รองรับการประชุมผ่าน Teleconference รวมถึงระบบการบันทึกข้อมูลแบบอิเล็กทรอนิกส์ให้มีคุณภาพ เพื่อให้การประชุมเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด แม้ที่ผ่านมาหลายหน่วยงานมีการประชุมผ่านระบบออนไลน์ไปแล้ว ซึ่งทางกมธ.ดีอีเอส ก็ได้นำระบบนี้มาใช้ ซึ่งสามารถทำงานและติดตามผลได้ดี แต่ยังต้องมีการพัฒนาระบบให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และมีความเสถียรในการใช้งาน

“หลักในการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ที่ต้องพัฒนาและเตรียมพร้อม คือ ผู้มีหน้าที่จัดการประชุม ต้องจัดให้ผู้ร่วมประชุมแสดงตนเพื่อร่วมประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก่อนร่วมการประชุม ให้ผู้ร่วมประชุมสามารถลงคะแนนได้ ทั้งการลงคะแนนโดยเปิดเผยและการลงคะแนนลับ จัดทำรายงานการประชุมเป็นหนังสือ มีการบันทึกเสียงหรือทั้งเสียงและภาพ แล้วแต่กรณี ของผู้ร่วมประชุมทุกคน ตลอดระยะเวลาที่มีการประชุมในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เว้นแต่เป็นการประชุมลับ ต้องมีการเก็บข้อมูลการจราจรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้ร่วมประชุมทุกคนไว้เป็นหลักฐาน ให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของรายงานการประชุม ทั้งนี้จะต้องมีการวางระบบการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดเพื่อรักษาข้อมูลไม่ให้ถูกแฮ็กได้” น.ส.กัลยา กล่าว

ขณะที่พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย และรองประธานกมธ.ดีอีเอส กล่าวว่า การผ่านร่างพ.ร.ก.ดังกล่าวถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพิ่มความสะดวกในการทำงานของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งจะเกิดความคล่องตัวมากขึ้น สามารถประชุมผ่านระบบออนไลน์ได้โดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง แต่ระบบการทำงานต่างๆ ของรัฐสภา ต้องมีการอัพเกรดและอัพเดทให้เท่าทันโลกอนาคต เพื่อรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น ระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง โครงสร้างโทรคมนาคม ระบบไอทีต่างๆ รวมทั้งอุปกรณ์ของสภาให้รองรับการทำงานในระบบดิจิทัลและเทคโนโลยีใหม่ๆด้วย ที่สำคัญคือจะต้องมีระบบการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cyber security)ด้วย นอกจากนี้สภาควรมีระบบแบ็คอัพข้อมูลสำรองไว้ในกรณีภาวะฉุกเฉินหรือระบบล่ม ทำเป็นศูนย์ข้อมูลแบ็คอัพ สามารถกู้ข้อมูลได้ในกรณีที่ข้อมูลหาย หรือที่เรียกกันว่า Data Recovery แต่วันนี้ทางสภายังไม่มีความพร้อม ซึ่งนอกจากระบบไอทีต่างๆแล้ว จะต้องมีการให้ความรู้แก่สมาชิกและเจ้าหน้าที่ เรื่องโปรแกรมต่างๆให้เข้าใจกันอย่างทั่วถึง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งาน

แสดงความเห็น