“เศรษฐพงค์” ชี้ อนาคตอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมมาแรง เตรียมพร้อมรับมือกิจการอวกาศ-Space war

“เศรษฐพงค์” ชี้ อนาคตอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมมาแรง เผย สิ้นปีได้เห็นดาวเทียม LOE กว่า 700 ดวง ขึ้นวงโคจร ช่วยอินเทอร์เน็ตครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น ฟันธง มูลค่าตลาดบรอดแบนด์สูงถึง 4 แสนล้านเหรียญ ประเทศไทยต้องเตรียมพร้อมรับมือกิจการอวกาศ-Space war ในอนาคต

พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย และรองประธานกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ให้สัมภาษณ์เทรนของอินเทอร์เน็ตในอนาคตว่า เราจะเห็นได้ว่าในปี 2020 บริษัทต่างๆ มีความพยายามที่จะทำให้ผู้คนทั่วโลกเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และสิ่งนี้กำลังเกิดขึ้นอย่างแท้จริง โดยมีการคาดการณ์ว่าภายในสิ้นปีนี้ จะมีดาวเทียมวงโคจรต่ำ (Low Earth Orbit : LEO) มากกว่า 700 ดวง ที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ทั่วโลก ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2019 ที่มีประมาณ 200 ดวง แม้อาจจะยังไม่เพียงพอสำหรับการเชื่อมต่อสำหรับผู้บริโภคและองค์กรต่างๆ ทั่วโลก แต่คาดว่าจะสามารถให้บริการได้บางส่วนในช่วงปลายปีนี้หรือช่วงต้นปี 2021 โดยนับตั้งแต่เริ่มต้นยุคอวกาศ มีดาวเทียมถูกส่งขึ้นไปสู่อวกาศแล้วทั้งหมดประมาณ 8,700 ดวง โดยมากกว่า 2,000 ดวง กำลังโคจรรอบโลก กลุ่มดาวเทียม “megacon stellations” ดวงใหม่ๆ หลายร้อยหลายพันดวงที่เชื่อมโยงถึงกัน จะเป็นสถานีบรอดแบนด์ที่โคจรรอบโลก และอาจเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 16,000 ดวงในช่วงอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ โลกอาจได้รับประโยชน์จากการปรับใช้งานดาวเทียมเหล่านี้ แต่ในขณะเดียวกันอาจทำให้อวกาศมีสภาพแวดล้อมที่เสี่ยงและมีความซับซ้อนมากขึ้นเช่นกัน 

พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวว่า ปัจจุบันยังคงมีผู้คนจำนวนมากที่ยังไม่เคยเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต หรือไม่สามารถเชื่อมต่อได้เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือ International Telecommunications Union (ITU) ระบุว่า มีประชากรโลกเพียง 59% เท่านั้นที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ แม้แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศยังไม่สามารถทำให้ประชาชนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้อย่างครบถ้วน ดังนั้น ตลาดบรอดแบนด์ผ่านดาวเทียม จะทำให้เข้าถึงทุกพื้นที่ได้  โดยสำนักวิจัย Morgan Stanley ได้ประเมินว่าตลาดบรอดแบนด์ผ่านดาวเทียมจะมีมูลค่าสูงถึง 4 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2040 โดยคิดเป็นร้อยละ 40 ของอุตสาหกรรมอวกาศทั่วโลกที่มีมูลค่าประมาณ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ นอกจากนี้ megacon stellations ยังก่อให้เกิดผลประโยชน์อื่นๆ นอกเหนือจากผลประโยชน์ทางด้านการเงิน อย่างเช่น การเชื่อมต่อบรอดแบนด์ของผู้คนในพื้นที่ที่ยังไม่เคยเชื่อมต่อในปัจจุบัน เนื่องจากการเข้าถึงบรอดแบนด์ที่เพิ่มขึ้นจะช่วยผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจ รวมทั้งสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรบรรเทาสาธารณภัย   

“อินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ผู้ให้บริการหลายราย อาจยังไม่ประสบความสำเร็จ เพราะในอดีตยังไม่เป็นที่นิยมของผู้คนทั่วไป แต่ในวันนี้ที่โลกกำลังจะเปลี่ยนไปจากเหตุการณ์หลายๆอย่าง การสื่อสารบนโลกในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ดังนั้นวันนี้เราต้องมีการเตรียมพร้อมรับมือ โดยเฉพาะการพัฒนาฝีมือและแรงงานในการสร้างดาวเทียม เพราะในอนาคตอันใกล้นี้ ความต้องการของบริษัทต่างๆจะต้องการสร้างดาวเทียมเพื่อยิงขึ้นเป็นทำเป็นเครือข่ายบรอดแบนด์ ซึ่งหากเราเตรียมพร้อมได้เร็วจะเป็นโอกาสดีที่จะเป็นการสร้างเศรษฐกิจที่ดีให้กับประเทศได้ รวมถึงการรับมือกับกิจการอวกาศ และ Space war ในอนาคตด้วย” พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าว

แสดงความเห็น