กมธ.ดีอีเอส ดูงาน Chiang Mai Maker Club “กัลยา”ประทับใจเป็นแหล่งรวมนักคิด

กมธ.ดีอีเอส ลุยเชียงใหม่ ศึกษางาน Chiang Mai Maker Club “กัลยา”ประทับใจเป็นแหล่งรวมนักคิด-นักประดิษฐ์ วอนภาครัฐ-เอกชนช่วยสนับสนุนทุน เชื่อเป็นจุดเริ่มต้นการสร้างนวัตกรรมใหม่เพื่อพัฒนาประเทศในอนาคต พร้อมลงพื้นที่ตรวคุณภาพสัญญาณ 4G-5G เล็งหาแนวทางแก้ปัญหาลักลอบใช้สัญญาณตามแนวชายแดน

เมื่อวันที่ 29-30 ก.ย. คณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ลงพื้นที่ศึกษาดูงานที่ จ.เชียงใหม่ โดยในวันที่ 29 ก.ย. เป็นการศึกษาดูงานเรื่อง “การศึกษาติดตามการพัฒนาสร้างนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี Start Up 4G ของกลุ่มสมาชิก Chiang Mai Maker Club” นำโดย น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ส.ส.สระบุรี พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานกมธ.ดีอีเอส พร้อมด้วย นายสยาม หัตถสงเคราะห์ ส.ส.หนองบัวลำภู พรรคเพื่อไทย นายนิคม  บุญวิเศษ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังปวงชนไทย ในฐานะรองประธานกมธ.ฯ นายสมเกียรติ ถนอมสินธุ์ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษกกมธ. และนายเสมอกัน เที่ยงธรรม ส.ส.สุพรรณบุรี พรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะเลขานุการกมธ.ฯ ร่วมคณะ

น.ส.กัลยา ให้สัมภาษณ์ภายหลังการศึกษาดูงานว่า การมาในครั้งนี้เพราะกมธ.ทุกท่านมีความสนใจในเรื่องการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งจากการฟังบรรยายสรุปของสมาชิก Chiang Mai Maker Club กมธ.ประทับใจมาก เพราะที่นี่เป็นแหล่งรวมของนักคิดและนักประดิษฐ์ เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ทั้งในเรื่องของการแพทย์ สิ่งแวดล้อม และอีกหลายๆอย่างที่เป็นประโยชน์ให้กับประชาชน นอกจากจะได้ประโยชน์แล้วยังถือเป็นการสร้างงาน สร้างโอกาสเพื่อต่อยอดไปสู่สิ่งประดิษฐ์ที่ดีในอนาคต และที่นี่ยังเปิดกว้างสำหรับการต่อยอด ไม่ได้หวงลิขสิทธิ์ แต่ยังขาดงบประมาณในการสนับสนุน ตนคิดว่าหากมีงบประมาณต่างๆมาสนับสนุน เช่น กองทุนดิจิทัล หรือจากส่วนอื่นๆทั้งภาครัฐและเอกชน มาสนับสนุนให้เด็กๆ ได้มีทุนในการสร้างสิ่งต่างๆ เชื่อว่าจะสามารถคิดและสร้างนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ได้อีกมาก

“การรวมกลุ่มในลักษณะนี้ถือเป็นเรื่องที่ดีมากๆ ที่ผ่านมา Chiang Mai Maker Club  มีผลงานหลายอย่างที่ออกมาให้เราเห็นเป็นรูปธรรม เช่น รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ถังขยะอัจฉริยะ สัญญาณไฟจราจรในเมืองเชียงใหม่ที่เป็นระบบ AI คำนวณปริมาณรถได้เอง และการแข่งรถแบบ AI ที่สามารถพัฒนาต่อยอดไปสู่การใช้จริงได้ในอนาคต ซึ่งการสร้างสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ เหล่านี้และรวมกันเป็นกลุ่ม จะสามารถสร้างชุมชนนักประดิษฐ์ในประเทศไทยได้ ซึ่งน่าจะใช้ จ.เชียงใหม่เป็นโมเดล และกระจายชุมชนแบบนี้ไปยังจังหวัดอื่นๆได้ในอนาคต” น.ส.กัลยา กล่าว

จากนั้นในวันที่ 30 ก.ย. คณะกมธ.ดีอีเอส ได้เดินทางไปยังสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ภาค 3 จ.เชียงใหม่ เพื่อศึกษาดูงานเรื่อง “การใช้บริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะประจำหมู่บ้าน (USO net)” ของสำนักงาน กสทช. เพื่อตรวจคุณภาพสัญญาณ 4G และ5G ภายในพื้นที่ ว่ามีคุณภาพเหมาะสมหรือไม่ รวมถึงการสำรวจการรองรับเครือข่าย 5G ที่กำลังจะเกิดขึ้นภายในอนาคต และรับฟังถึงปัญหาการลักลอบใช้คลื่นความถี่จากบริเวณแนวตะเข็บชายแดน ซึ่งทางกมธ.ดีอีเอส ได้กำชับให้ทาง กสทช. หาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว และนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของกมธ.ฯต่อไป

แสดงความเห็น