“เศรษฐพงค์” ปิ๊งไอเดีย ส่งเสริมนร.เข้าค่ายเรียนรู้สร้างดาวเทียม เตรียมพร้อมอุตฯอวกาศ

“เศรษฐพงค์” ปิ๊งไอเดีย ส่งเสริมนักเรียนเข้าค่ายเรียนรู้สร้างดาวเทียม Cubesat-Smallsat ชี้ เป็นการสร้างบุคลากรเตรียมพร้อมอุตสาหกรรมอวกาศ เสริมสร้างศก.ให้แข็งแกร่งในอนาคต ช่วยต่อยอดสู่การพัฒนาเทคโนโลยีอื่นๆ

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ให้สัมภาษณ์ถึงแนวคิดการส่งเสริมให้นักเรียนไทยสร้างดาวเทียมขนาดเล็ก Cubesat และ Smallsat ว่า ตรงนี้เป็นการต่อยอดเชื่อมโยงจากแนวคิดที่ต้องการให้ประเทศไทยมี Spcae port หรือ ท่าอวกาศยาน ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กๆ นักเรียนที่สนใจ หรือนักเรียนในต่างจังหวัด  ที่ห่างไกล ได้มีโอกาสเข้าถึงการเรียนรู้ด้านอวกาศ เป็นการเตรียมและสร้างบุคลากรด้านอวกาศให้กับประเทศได้ หากประเทศไทยเราสร้างได้ โดยเริ่มที่มัธยมได้ ตรงกับการศึกษาแบบ STEM (Science Technology Engineering and Mathematics Education:STEM Education)  เป็นการศึกษาที่บูรณาการศาสตร์ด้านต่างๆ ให้เด็กสร้างโปรเจค มีตัวอย่างในต่างประเทศ เช่น โครงการของ Irvine01 เป็นการแสดงความร่วมมือของโรงเรียนมัธยมปลายในอเมริกาเพื่อทำโปรเจคนี้ และโครงการ FossaSat ที่นิวซีแลนด์ ดำเนินการริเริ่มด้วยเด็กอายุ 16 ปี เป็นการยิงดาวเทียมขึ้นไปในวงโคจร ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทเอกชน เป็นต้น

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวอีกว่า การออกแบบดาวเทียมมีหลายอย่างที่ต้องทำ เด็กก็จะได้ทักษะ อยากให้เด็กได้เข้ามาร่วมโครงการ โดยเฉพาะผู้ที่มีโอกาสน้อย เพราะการสร้างดาวเทียมนั้นไม่ใช่ทำคนเดียวได้ ต้องมีหลายภาคส่วน เด็กต้องรู้จักการทำงานร่วมกันได้ การเอาเด็กที่มีความหลากหลายมาร่วมทำโปรเจค ถือเป็นการฝึกทักษะ การเรียนรู้การทำงาน และถือเป็นการสร้างบุคคลากรด้านอวกาศให้กับประเทศ ซึ่งในขณะนี้มี โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ที่กำลังทำโครงการนี้อยู่ ซึ่งหากเราสร้างโครงการเหล่านี้ขึ้นมาเรื่อย จะเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับเด็กรุ่นใหม่ ที่จะสามารถพัฒนาไปสู่บุคลากรที่สำคัญ หากในอนาคตเรามีการสร้าง Spcae port ขึ้นในประเทศไทย เราก็จะมีบุคลากรที่สามารถทำงานตรงนี้ได้

“รัฐบาลควรที่จะส่งเสริมหรือลงทุนเรื่องนี้แม้อาจจะมองว่าเป็นความฝัน แต่ก็ถือเป็นความหวัง ที่เราจะสร้างบุคลากรใหม่ๆขึ้นมา เพราะในอนาคตเรื่องกิจการอวกาศเป็นเรื่องที่ทั่วโลกกำลังลงมือทำและพัฒนาไปสู่การท่องเที่ยวเชิงอวกาศ ดังนั้น หากเรามีการเตรียมพร้อมตั้งแต่ตอนนี้ จะเป็นการสร้างความมั่นคงทั้งทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางอวกาศ ซึ่งจะสามารถต่อยอดไปสู่ด้านอื่นๆได้อีกหลายอย่าง ถือเป็นโครงการที่ดีที่เราควรเตรียมความพร้อมให้เกิดขึ้นได้จริงในอนาคต” พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าว

แสดงความเห็น