ฮือฮา! กมธ.ดีอีเอส เผยตัวเลขธุรกิจ Telemedicine ตลาดโลกปี 67 สูงกว่า 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ 

กมธ.ดีอีเอส เผยตัวเลขธุรกิจ Telemedicine ตลาดโลกปี 2567 สูงกว่า 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ตอบโจทย์ปัญหาขาดแคลนแพทย์ –ลดความเหลื่อมล้ำ-คนล้น รพ.  “เศรษฐพงค์” แนะรัฐเร่งปลดล็อก กม. ให้อำนาจหน่วยงานจัดเก็บข้อมูลกลางด้านสุขภาพของไทย ภายใน 3 ปี หวังพัฒนาระบบการแพทย์ไทยให้ทันโลก  

น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ส.ส.สระบุรี พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า คณะกรรมาธิการฯ ได้รายงานผลการศึกษาเรื่องการรักษาผ่านระบบทางไกล (Telemedicine)  ในประเทศไทย ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เรียบร้อยแล้ว สาระสำคัญที่ได้จากการศึกษาพบว่า การรักษาผ่านระบบทางไกล ที่ใช้ข้อมูลทางการแพทย์ผ่านการสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ในการดูแลสุขภาพของผู้ป่วย โดยใช้วิดีโอ สมาร์ทโฟนท์ (Smart Phone) เครื่องมือไร้สายและรูปแบบอื่น ๆ ของเทคโนโลยี มีมูลค่าตลาดโลกประมาณ 21,446.33 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าในปี 2567 จะมีมูลค่าสูงถึง 60,448.47 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 18.50 ต่อปี ซึ่งปัจจัยหลักที่ทำให้ตลาดเติบโตคือ ค่าใช้จ่ายการรักษาที่นับวันจะเพิ่มสูงขึ้น ความก้าวหน้าของนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศทำให้การใช้ Telemedicine ทำได้ง่ายขึ้นมีต้นทุนการใช้งานลดลง และจำนวนผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคที่จำเป็นต้องติดตามอาการเป็นระยะมีมากขึ้น  ทั้งนี้ พบว่าการระบาดของ Covid – 19 เป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้มีการใช้บริการ Telemedicine  เพราะวิกฤตครั้งนี้บังคับให้ต้องหันมาใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างจริงจังมากขึ้น ซึ่งจะแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ ลดความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ชนบทห่างไกล ที่ประชาชนส่วนใหญ่ประสบปัญหาการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข  และจะช่วยลดความแออัดของโรงพยาบาล โดย Telemedicine เป็นเทคโนโลยีที่จะช่วยกำหนดอนาคตของอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพ และจะยังคงเติบโตต่อไปอย่างต่อเนื่อง  

ด้าน พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ  พรรคภูมิใจไทย ในฐานะรองประธาน กมธ.ฯ กล่าวว่า  ไทยจะก้าวสู่เป้าหมายการพัฒนาระบบ Telemedicine ให้เข้าถึงประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพเฉกเช่นอารยประเทศนั้น สิ่งสำคัญที่จำเป็น คือ การปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบใหม่ เพื่อรองรับการจัดเก็บข้อมูลด้านสุขภาพ เพราะแม้ว่าประเทศไทยจะมีข้อมูลที่เป็น Big data ด้านสุขภาพอยู่แล้ว แต่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายใดที่ให้อำนาจหน่วยงานเข้ามาจัดการรวบรวม จัดเก็บ และวิเคราะห์ให้เป็นฐานข้อมูลกลางด้านสุขภาพของประเทศ ซึ่งจะง่ายต่อการบริหารจัดการและการนำมาใช้ประโยชน์  

“สิ่งที่ประเทศไทยจะต้องดำเนินการเร่งด่วนในระยะสั้น 3 ปี  ระหว่างปี 2566-2568   คือ  การมีกฎหมายให้อำนาจในการจัดการ Healthcare Data แห่งเดียวของประเทศ การจัดตั้งหน่วยงานใหม่ หรือให้อำนาจหน่วยงานที่มีอยู่แล้วให้มีอำนาจในการบริหารจัดการและจัดทำข้อมูลด้านสุขภาพของประชาชนที่มีอยู่ในทุกภาคส่วนของประเทศให้มาอยู่ในแพลตฟอร์มเดียวกัน และให้อำนาจในการปรับระบบบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำการรักษาให้อยู่ในฐานะความเป็นมืออาชีพส่วนบุคคลได้ ตามมาตรฐานการรักษาระดับสากล และพัฒนาระบบการสร้างความน่าเชื่อถือของผู้ป่วย  ผู้ใช้บริการสาธารณสุข  โดยผู้ทำการรักษาสามารถยืนยันตัวตนได้ทั้งสองด้าน  ตลอดจนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการนำส่งข้อมูลความละเอียดสูง  ทั้งภาพ เสียง และสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงความปลอดภัยในข้อมูลสุขภาพของประชาชน ที่จะต้องไม่เสี่ยงต่อการรั่วไหล การถูกจารกรรมหรือละเมิด” พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าว   

แสดงความเห็น