“เศรษฐพงค์”เผย ECSTAR สจล. พัฒนาโปรแกรมป้องกันไฟป่า ศึกษาจากเคสเขาแหลมและภาคเหนือ ใช้ภาพถ่ายดาวเทียมประมวลผลหาทางแก้ พร้อมสกัดสาเหตุฝุ่น PM 2.5 เล็งอัพเดทให้สมบูรณ์ต่อยอดด้านความมั่นคงเพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติ
พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ อดีตส.ส. บัญชีรายชื่อ และประธานคณะกรรมการศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีอวกาศและวิจัย (ECSTAR) สถาบันการบินและอวกาศ (AASA) วิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า จากกรณีการเกิดไฟป่าพื้นที่เขาแหลม จ.นครนายกและจังหวัดทางภาคเหนือ ทาง ECSTAR มีความห่วงใยในการบริหารจัดการแก้ปัญหา ด้านทรัพยากรป่าไม้ของประเทศ จึงได้จัดตั้งทีมวิจัยของศูนย์ ECSTAR โดยตนได้ให้ทีมเร่งทำการพัฒนาโปรแกรม ประมวลผลเพื่อนำข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมมาวิเคราะห์และหาสาเหตุ พร้อมกำหนดแนวทางวิธีการป้องกันอย่างละเอียด โดยด่วน โดยทีมวิจัย ECSTAR ได้พัฒนาโปรแกรมการประมวลผล (Data Analytics) วิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมขององค์กรและจากองค์พันธมิตรจากต่างประเทศ
ขณะที่ ดร. อัมรินทร์ พิมพ์หนู ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีอวกาศ กล่าวว่า ตนได้เสนอแนะทีม Analytics ของ ECSTAR โดยให้กำหนดวิธีการเฝ้าระวังไว้ 2 ขั้นตอนด้วยกัน ได้แก่ ขั้นตอนที่ 1 การพัฒนาโปรแกรมเบื้องต้น (API Coding) ที่สามารถกำหนดขอบเขตพื้นที่นครนายกและจังหวัดทางภาคเหนือ เพื่อการเฝ้าระวังและสังเกตสภาวะอุณหภูมิความร้อนสูงในพื้นที่ ซึ่งบริเวณความร้อนสูงนี้จะเป็นสาเหตุและปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดไฟไหม้ป่า และก่อให้เกิดฝุ่นละอองหมอกควันพิษซึ่งรวมถึงฝุ่น PM 2.5 ได้ต่อไป และขั้นตอนที่ 2 คือ การตรวจตรา การเฝ้าระวัง และติดตามการกระทำที่ต้องสงสัยในพื้นที่ด้วยภาพถ่ายดาวเทียมความละเอียดสูง ซึ่งจากข้อสรุปผลการทำงานทั้งหมด เราจะส่งรายงานถึงอธิการ สจล. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นประโยชน์ในการวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม และศึกษาข้อมูล ค้นหาวิธีการวิเคราะห์และแก้ปัญหาเพื่อป้องกันเหตุการณ์ดังกล่าวที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต
พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวว่า การเฝ้าระวังทั้งสองแบบนี้ จะนำไปสู่การทราบถึงพื้นที่ที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดไฟไหม้และทราบถึง เหตุการณ์ต่าง ๆ ก่อนการเกิดไฟป่าหรือขั้นตอนการเผาไหม้ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ส่งผลให้ทีมวิจัย ECSTAR สามารถระงับ และยังเป็นการยับยั้งเหตุต้นต่อของฝุ่นควัน PM 2.5 ได้ ด้วยการแจ้งเตือนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือสามารถหยุดการกระทำดังกล่าวได้ก่อนที่จะเกิดไฟไหม้ขึ้น โดยทีมวิจัย ECSTAR จะดำเนินการ พัฒนาระบบให้ประสิทธิภาพและสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น โดยจะขยายผลไปในด้านความมั่นคงต่อไป เพื่อประโยชน์ของส่วนรวมของทุกคน