“อนุกมธ.อวกาศฯ” ชู “ผู้แทนศูนย์ โครงการ “Space Camp Thailand” เป็นตัวอย่าง  พัฒนากิจการอวกาศ

“อนุกมธ.อวกาศฯ” ชู “ผู้แทนศูนย์อวกาศและจรวดแห่งชาติสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย” และ โครงการ “Space Camp Thailand” เป็นตัวอย่าง  หนุน หลักสูตรเปิดใหม่ “วิศวกรรมอวกาศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง” เชื่อมันจะเพิ่มโอกาสพัฒนาศักยภาพด้านอวกาศ หวังเกิดเป็น Hub การเรียนรู้เพื่อพัฒนาเยาวชน “เศรษฐพงค์” จี้ “ภาครัฐ-เอกชน” ร่วมมือส่งเสริมกิจการอวกาศอย่างจริงจัง 

พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการกิจการอวกาศเพื่อเศรษฐกิจและความมั่นคง ในคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการประชุมคณะอนุกรรมาธิการฯในสัปดาห์นี้ว่า คณะอนุกรรมาธิการฯ ของเรามีความตั้งใจและเอาจริงกับการพัฒนากิจการอวกาศ โดยเฉพาะกับเยาวชน นักเรียน นักศึกษา ที่เราจะต้องเปิดโอกาสให้เขาได้เข้าถึงข้อมูลความรู้ เราได้เชิญตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมหารือถึงการดำเนินโครงการ Space Camp Thailand อาทิ นายกฤษณ์  คุนผลิน ผู้แทนศูนย์อวกาศและจรวดแห่งชาติสหรัฐ ประจำประเทศไทย ผู้ช่วยศาสตราจารย์เสริมศักดิ์  อยู่เย็น คณบดีวิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานานชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง นายตติยะ  ชื่นตระกูล รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) GISTDA เป็นต้น และนักเรียนทุนจากโครงการทุนการศึกษาค้นพบนักบินอวกาศไทย (Discover Thailand’s Astronaut Scholarship Program)

พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวว่า การจะผลักดันให้เกิดการพัฒนาด้านกิจการอวกาศในประเทศไทย นอกจากความตื่นตัวของคนที่อยู่ในแวดวงอวกาศแล้ว ที่สำคัญคือการประสานความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนอย่างจริงจัง รวมถึงการประสานงานระหว่างประเทศ ซึ่งการดำเนินโครงการ Space Camp Thailand จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่เพิ่มโอกาสให้กับผู้ที่สนใจ หรือเปิดโอกาสให้คนไม่ได้สนใจได้หันมาเปิดรับมากขึ้นว่าไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เด็กๆจะได้รับแรงบันดาลใจและความรู้ใหม่ๆ ได้ทดลองด้านอวกาศใหม่ๆ ซึ่งสามารถที่จะนำมาประยุกต์ใช้ได้ในอนาคต ที่สำคัญคือ วิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานานชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้เปิดหลักสูตรใหม่ด้านวิศวกรรมอวกาศ แต่สังคมก็ไม่ค่อยได้รับรู้ จึงต้องมีการส่งเสริมอย่างจริงจัง และโครงการอื่นๆ ก็ต้องทำอย่างต่อเนื่องด้วย

ประธานอนุกรรมาธิการฯ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้หารือถึงการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในประเทศไทย และสหรัฐอเมริกา ในการสนับสนุนและพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับกิจการอวกาศ ที่ U.S. Space & Rocket Center เมือง Huntsville มลรัฐ Alabama สหรัฐอเมริกา เพื่อศึกษาด้านการสำรวจอวกาศเบื้องต้นของคณะนักเรียนทุนโครงการทุนการศึกษาค้นพบนักบินอวกาศ (Discover Thailand’s Astronauts Scholarship Program – DTAS) รุ่นที่ 4 และการเจรจาความร่วมมือในด้าน STEAM – SPACE กับศูนย์อวกาศและจรวดแห่งชาติสหรัฐฯ และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้คณะได้เดินทางไปที่สหรัฐอเมริกาเมื่อเดือนที่แล้ว และได้ทำข้อตกลงทำงานร่วมกับ Dr. Dan Irwin ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการ NASA Servir ในการก่อตั้งหลักสูตร Geospatial Data Elastic Agriculture โดยให้เกษตรกร นักศึกษา และนักธุรกิจไทยเข้าศึกษาและฝึกวิธีการใช้งานข้อมูล Geospatial Data ที่ได้จากกิจการอวกาศมาประยุกต์ใช้ในการทำการเกษตร ภายใต้แนวคิด From Space to Villagers โดยโครงการดังกล่าวได้ดำเนินการอยู่ในนาม SERVIR – MEKONG: Connecting Space to Village in the Lower Mekong Region ซึ่งเปิดอบรมให้ความรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์แล้ว

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือถึงการพัฒนาโครงการ Future STEAM & SPACE Leaning PARC ซึ่งเป็นโครงการจัดทำศูนย์การเรียนรู้และพิพิธภัณฑ์ยุคใหม่ ด้าน STEAM และ SPACE อันจะเป็นการสร้าง Hub การเรียนรู้เพื่อพัฒนาเยาวชน ประชาชน และหน่วยงานภาคธุรกิจ ให้สามารถพัฒนาทักษะ (Future Skill) ในการเตรียมความพร้อมสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่อาศัย STEAM เป็นพื้นฐาน รวมถึงเพื่อให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ พบปะ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของผู้ที่มีความสนใจ ตลอดจนสามารถสร้างความตระหนักรู้  (Awareness) และการมีส่วนร่วม (Participation) ของประชาชนให้สนใจในกิจการอวกาศมากยิ่งขึ้นต่อไป

แสดงความเห็น