“เศรษฐพงค์” นั่งประธานบอร์ด ECSTAR ตั้งเป้า สจล.เป็นผู้นำด้านอวกาศของอาเซียน 

“เศรษฐพงค์” นั่งประธานบอร์ด ECSTAR รับลูก “อธิการฯคมสัน” ตั้งเป้า สจล.เป็นผู้นำด้านอวกาศของอาเซียน เผยงานแรก ร่วมรัฐ-เอกชน ใช้เทคโนโลยีอวกาศติดตามไทม์ไลน์ไฟป่าทั่วปท. เล็งเสนอทางแก้ปัญหาฝุ่นพิษต่อรัฐบาล ย้ำ สานต่อความร่วมมือระดับนานาชาติ โครงการปีแห่งนวัตกรรมฝรั่งเศส – ไทย 2023 พร้อมดันบริษัทสตาร์ทอัพด้านอวกาศ

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ อดีตส.ส. บัญชีรายชื่อ และรองประธานกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กมธ.ดีอีเอส) เปิดเผยว่า ถือเป็นเกียรติที่ตนได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีอวกาศและวิจัย(ECSTAR) สถาบันการบินและอวกาศ (AASA) วิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เป้าหมายเราคือต้องเป็นสถาบันชั้นนำระดับนานาชาติโดยเฉพาะอาเซียนในด้านอวกาศ ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติยกระดับการวิจัยพัฒนาและความร่วมมือกับนานาชาติ สนับสนุนบริษัทสตาร์ทอัพเพื่อพัฒนางานด้านอวกาศ แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม (Climate change) เป็นการสานงานต่อจากคณะอนุกรรมาธิการกิจการอวกาศเพื่อเศรษฐกิจและความมั่นคง โดยมี 2 โครงการเร่งด่วนที่เราได้หารือความร่วมมือกับนานาชาติ คือโครงการห้องแล็บอวกาศ และการสร้างดาวเทียมขนาดเล็กสู่อวกาศ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้สามารถสร้างและส่งดาวเทียมวงโคจรต่ำ หรือ Low Earth Orbit (LEO) satellites สู่อวกาศได้สำเร็จ และสามารถใช้ประโยชน์ได้จริง เพื่อเป้าหมายไทยต้องเป็นฮับด้านอวกาศในภูมิภาคอาเซียน นอกจากนี้ในส่วนความร่วมมือกับฝรั่งเศส ที่จะได้สานต่อคือ การดำเนินโครงการปีแห่งนวัตกรรมฝรั่งเศส – ไทย 2023 โดยเป็นการเริ่มต้นเมื่อครั้งตนเป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการกิจการอวกาศฯ 

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวว่า ขณะนี้ ECSTAR ได้เริ่มทำความร่วมมือกับองค์กรนานาชาติ เช่น ฝรั่งเศส และภาคเอกชนของไทย บริษัท สตาร์อัพ ด้านอวกาศ TeroSpace ที่เกิดจากศิษย์เก่า สจล. เพื่อใช้เทคโนโลยีภาพถ่ายจากอวกาศในการติดตามต้นเหตุปัญหาฝุ่น PM 2.5 โดยการเก็บข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม สภาพอากาศ ปัจจัยที่ทำให้เกิดฝุ่น เราเก็บภาพถ่ายเป็นไทม์ไลน์ของไฟป่าตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุด ในพื้นที่ภาคเหนือล่าสุดที่นครนายก รวมถึงพื้นที่อื่นๆ เพื่อใช้นำมาวิเคราะห์ทำข้อมูลเป็นแนวทางการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุเพื่อส่งให้รัฐบาลต่อไป จะเห็นได้ว่ากิจการอวกาศยังมีประโยชน์ในทุกมิติ ไม่ว่าด้านสาธารณสุข ด้านจัดการทรัพยากรธรรมชาติและด้านสิ่งแวดล้อม 

“ผมได้รับแนวนโยบายจากท่านอธิการฯ รศ.ดร.คมสัน มาลีสี เพื่อร่วมกันพัฒนาสถาบันของเราให้เป็นองค์กรชั้นนำด้านอวกาศของอาเซียน พัฒนาสร้างผู้เชี่ยวชาญด้านอวกาศให้มากขึ้น รวมถึงประสานความร่วมมือกับองค์กรอื่นทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนากิจการอวกาศให้เกิดเป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา กมธ.ดีอีเอส ก็ได้ร่วมกับร่วมกับ GISTDA และ ECSTAR ในการเปิดห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีอวกาศ หรือ Space Technology Laboratory ที่วิทยาลัยเทคนิคเวียงป่าเป้า จ.เชียงราย โดยให้ บริษัท สตาร์ทอัพ TeroSpace ศิษย์เก่า สจล. ของเราสนับสนุน ให้เห็นเป็นตัวอย่างมาแล้ว” พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าว

แสดงความเห็น