ปชป.ยังทรงๆ ฟื้นช้า “เฉลิมชัย” มีเสียว เลิกตลอดชีวิต!

“พรรคประชาธิปัตย์” ถือได้ว่าเป็นพรรคการเมือง ที่ขยับตัวเร็วกว่าพรรคการเมืองอื่นในการเตรียมพร้อมเข้าสู่การเลือกตั้ง 

เพราะจะเห็นได้ว่า ประชาธิปัตย์ เริ่มคิกออฟเลือกตั้งมาตั้งแต่ต้นปี 2565 เสียด้วยซ้ำ ไม่ใช่มาเริ่มต้นกันปีนี้ 2566

เรียกได้ว่า ออกตัวเร็วกว่าพรรคอื่นมาร่วมปี เลยทำให้ พรรคมีกิจกรรมการลงพื้นที่ ของแกนนำพรรค โดยเฉพาะ การเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรค มาต่อเนื่องตลอดปี 2565 จนถึงตอนนี้ ประชาธิปัตย์ ก็ยังเคลื่อนไหวทำกิจกรรมเตรียมเลือกตั้งตลอด 

เพียงแต่ประชาธิปัตย์ คงนึกไม่ถึงว่าจะมี “สถานการณ์แทรกซ้อน” กับกรณี “เลือดไหลออก” จากพรรคสีฟ้า กันจำนวนไม่น้อย

เพราะเดิมที แกนนำพรรคสายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรค ก็ประเมินแล้วว่า จะมีส.ส.ของพรรค-อดีตผู้สมัคร ส.ส.เกรดเอ ย้ายออกจากพรรคประชาธิปัตย์เมื่อการเลือกตั้งมาถึง แต่คงนึกไม่ถึงว่า จะย้ายออกเกินกว่าที่คิดไว้ โดยเฉพาะการย้ายไปที่ “รวมไทยสร้างชาติ” เพื่อไปอยู่กับ อดีตคนประชาธิปัตย์ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค และเอกนัฎ พร้อมพันธุ์ เพื่อไปอยู่กับลุงตู่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งหากไม่มีรวมไทยสร้างชาติ เกิดขึ้นมา คาดว่า ส.ส.-อดีตส.ส.ประชาธิปัตย์หลายคน ก็คงไม่ออกจากประชาธิปัตย์ เพื่อไปที่รวมไทยสร้างชาติ เช่น พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราชที่ถือฤกษ์วันวาเลนไทน์ เข้าร่วมงานกับพรรครวมไทยสร้างชาติไปแล้ว 

และที่กำลังจะออกจากพรรคตามไปอีก ก็ยังมีอาทิเช่น น.ส.วชิราภรณ์ กาญจนะ ส.ส.สุราษฎร์ธานี -เจือ ราชสีห์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ-รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม -อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี -นางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู ส.ส.บัญชีรายชื่อ -ชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ ส.ส.ตาก- พันโทสินธพ แก้วพิจิตร ส.ส.นครปฐม 

อย่างไรก็ตาม ประชาธิปัตย์ ก็ยังเชื่อว่า จะสามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ เพราะเตรียมหาผู้สมัครชื่ออื่นมาเสียบแทนแล้ว แต่ระหว่างนี้ ก็เร่งเดินหน้าแผนหาเสียงเลือกตั้งในส่วนอื่นๆ ต่อไป 

ล่าสุด ไม่รอช้า กลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างที่สภาฯ กำลังประชุมเดือด การอภิปรายรัฐบาลทั่วไปแบบไม่ลงมติ มาตรา 152 ที่จบไปแล้วเมื่อกลางดึกคืนวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา 

ปรากฏว่า มีการเปิดเผยมติ ของที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ผ่านราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ที่บอกว่า ผลการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์เมื่อวันแห่งความรัก 14 ก.พ.

ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค เป็นบุคคลที่พรรคพิจารณาให้ความเห็นชอบเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามที่นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค เป็นผู้เสนอ 

“นายจุรินทร์ มีความรู้ความสามารถ ทำงานการเมืองมายาวนาน มีประสบการณ์ทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ผ่านตำแหน่งที่สำคัญมาแล้วมากมาย และมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ตั้ง โดยในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้นอกจากพรรคมีผู้สมัครพร้อมทั้ง 400 เขตแล้ว ในเรื่องของการเสนอตัวบุคคลเพื่อชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พรรคก็มีความพร้อมและมีความเป็นเอกภาพ ในการนำทัพเพื่อต่อสู้การเลือกตั้งที่จะถึงนี้ โดยพรรคประชาธิปัตย์ เชื่อและมั่นใจในศักยภาพและความสามารถที่ไม่แพ้ใคร ซึ่งจะทำให้พี่น้องประชาชนไว้วางใจให้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ไปทำหน้าที่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไป” โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ระบุ 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจก็คือ สุดท้ายแล้วประชาธิปัตย์จะเสนอชื่อ จุรินทร์ เป็นแคนดิเดตนายกฯเพียงชื่อเดียวใช่หรือไม่?

ที่ก็มีโอกาสสูง ที่จะออกมาแบบนี้ เพราะตอนเลือกตั้งปี 2562 ประชาธิปัตย์ ก็เสนอชื่อ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เวลานั้น เป็นแคนดิเดตนายกฯเพียงชื่อเดียว 

ดังนั้น กลุ่มจุรินทร์ ก็อาจทำลักษณะเดียวกัน คือเสนอชื่อจุรินทร์ เพียงคนเดียว ไม่มีชื่อ อภิสิทธิ์ ร่วมชิงชัยด้วย ซึ่งหลายคนในประชาธิปัตย์ ก็คงไม่มีใครติดใจอะไร แต่ที่ต้องติดตามมากกว่าก็คือ แล้ว ในรายชื่อผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อของประชาธิปัตย์ จะมีชื่อ “อภิสิทธิ์” อยู่ด้วยหรือไม่ ?

ตรงนี้ มีกระแสข่าวออกมาทำนองว่า อภิสิทธิ์ คงยังไม่กลับเข้าพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มจุรินทร์ มีบทบาทในพรรคและในการเลือกตั้งเต็มที่ และจะกลับมาอีกครั้งหลังเลือกตั้งจบลง ที่ คาดว่า จุรินทร์ จะลาออกจากหัวหน้าพรรค!

เนื่องจากเป็นธรรมเนียมของประชาธิปัตย์ไปแล้ว หากพรรคไม่ชนะการเลือกตั้ง ไม่ได้ส.ส.มาอันดับหนึ่ง หัวหน้าพรรคจะลาออก เพื่อแสดงความรับผิดชอบ ที่จะทำให้ กรรมการบริหารพรรคที่เหลือพ้นตามไปด้วย แล้วหลังจากนั้น ไม่แน่ อาจจะมีการดัน อภิสิทธิ์ กลับประชาธิปัตย์อีกครั้ง เพื่อมาแทนจุรินทร์ 

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์วันนี้ ประชาธิปัตย์ ยังไงก็ไม่มีทางชนะเลือกตั้งอยู่แล้ว แต่เดิมพันอยู่ที่ว่า จะได้ส.ส.มากกว่าครั้งที่แล้ว คือ 52 ที่นั่งหรือไม่ ซึ่งหากต่ำกว่า 52 เก้าอี้ ไม่ใช่แค่จุรินทร์ ต้องลาออก และคงกลับมาเป็นหัวหน้าพรรคอีกครั้งยากแล้ว ตัวขุนพลคู่ใจ คือ เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ ก็มีเดิมพันสูงคือต้อง “เลิกเล่นการเมืองตลอดชีวิต”ตามที่ลั่นวาจาไว้หลายรอบ 

คนในพรรคจึงมีการมองกันว่า หากอภิสิทธิ์ไม่ลงสมัคร ส.ส.แล้วหาก จุรินทร์ ลาออกจากหัวหน้าพรรค แล้วคนในพรรคไม่ดันกลับมา และต้องการให้อภิสิทธิ์กลับมาเป็นหัวหน้าพรรคอีกครั้ง ก็จะทำให้เกิดปัญหาได้ ถ้าอภิสิทธิ์ ไม่ได้เป็นส.ส.ในสภาฯ

ยิ่งหาก เพื่อไทย เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แล้วประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้าน ถ้าหัวหน้าพรรคไม่ได้เป็นส.ส. จะเกิดปัญหาได้

จึงทำให้ คนในประชาธิปัตย์ บางส่วนจึงมองว่า หากประชาธิปัตย์ ไม่ส่งอภิสิทธิ์ลงสมัครส.ส. จะเกิดปัญหาตามมา เว้นเสียแต่จะเป็นแผนของบางกลุ่มในประชาธิปัตย์ ที่ต้องการ ให้จุรินทร์ ได้รับเลือกกลับมาเป็นหัวหน้าพรรคอีกรอบ หลังลาออก เพราะไม่มีตัวเลือกที่ดีกว่า โดยเฉพาะหากคนที่จะเลือกมาแทนจุรินทร์ ถ้าไม่ได้เป็นส.ส.ในสภาฯ ก็จะทำให้การทำงานของประชาธิปัตย์ในสภาฯมีปัญหา 

เรียกได้ว่า หากเป็นแบบนี้ ก็ถือว่าเป็นการวางหมากแบบหลายชั้นของกลุ่มจุรินทร์ เว้นเสียแต่ว่า ในความเป็นจริง พรรคติดต่อทาบทามให้อภิสิทธิ์ลงปาร์ตี้ลิสต์แล้ว แต่อภิสิทธิ์ไม่ยอมมาลงเอง แบบนี้ จะไปต่อว่ากลุ่มจุรินทร์ก็คงไม่แฟร์ 

อย่างไรก็ตาม สำหรับสถานการณ์ของประชาธิปัตย์เวลานี้ ว่ากันตามจริง ยังไง ก็ยากที่ประชาธิปัตย์ จะได้ลุ้นเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และยากที่ จุรินทร์ จะได้ลุ้นชิงนายกฯ เพราะมีการมองกันว่า เลือกตั้งรอบนี้ ประชาธิปัตย์ อาจจะได้ส.ส.หลังเลือกตั้งมาอันดับ 5-6 ตามหลัง เพื่อไทย -ภูมิใจไทย-พลังประชารัฐ-รวมไทยสร้างชาติ-ก้าวไกล เสียด้วยซ้ำ !

ทำให้ ประชาธิปัตย์ ก็คงได้แค่เสนอชื่อ จุรินทร์ในสนามเลือกตั้ง แต่ของจริง ยังไง คนในพรรคก็รู้ว่า ลุ้นยาก เผลอๆ บางคนในพรรคทำใจไว้แล้วว่า หลังเลือกตั้ง ประชาธิปัตย์ คงเป็นฝ่ายค้าน ถ้าเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ 

เพราะต้องยอมรับว่า แม้ประชาธิปัตย์จะเป็นรัฐบาลมาร่วมสี่ปี แต่สถานการณ์หลายอย่างของพรรค ไม่กระเตื้อง เพราะถึงไม่มีสถานการณ์เลือดไหลออกไปจำนวนมาก แต่จะพบว่า ถ้าดูจากผลโพลทุกสำนัก คะแนน-เรตติ้ง ของจุรินทร์ ในเรื่องการสนับสนุนหรือเสียงเชียร์ให้เป็นนายกฯ ชื่อของจุรินทร์ ติดอันดับท้ายๆ ตลอด บางโพลยังตามหลัง กรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า อดีตคนประชาธิปัตย์ เสียด้วยซ้ำ

แม้แต่กับ ที่ภาคใต้ ฐานเสียงสำคัญของประชาธิปัตย์ ผลโพลก็พบว่า คนส่วนใหญ่ก็จะเลือก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มาอันดับหนึ่งตลอด

อย่างนิด้าโพล ล่าสุดเมื่อ 12 ก.พ.ที่ผ่านมาที่สำรวจความเห็นคนนครศรีธรรมราช ปรากฏว่า จุรินทร์ มาอันดับห้า ตามหลัง ทั้งพลเอกประยุทธ์-แพทองธาร ชินวัตร-พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ 

แสดงให้เห็นว่า กระแสประชาธิปัตย์ในภาคใต้ ที่เป็นฐานเสียงหลักของพรรค สถานการณ์ยังไม่ฟื้น เช่นเดียวกับ กรุงเทพมหานคร ที่เคยเป็นฐานสำคัญของประชาธิปัตย์ ก็พบว่า กระแสพรรคก็ยังไม่กระเตื้องเท่าไหร่ จนมีการประเมินกันว่า เลือกตั้งรอบนี้ ประชาธิปัตย์ คงน่าจะยังกลับมายากในพื้นที่กทม. หลังเลือกตั้งรอบที่แล้วสูญพันธุ์ แต่หากจะได้ ก็คงได้ส.ส.เขตให้เต็มที่ก็คงประมาณ 1-3 เก้าอี้ เท่านั้น 

ส่วนภาคอื่นๆ ไม่ต้องพูดถึง ไม่ว่าจะเป็นอีสาน -เหนือ-กลาง สถานการณ์โดยรวมมีแต่ทรงๆ อาจได้แค่ส่งผู้สมัครให้ครบ 400 เขต แต่ลุ้นได้จริงๆ ยังอยู่ที่ภาคใต้ และกทม. 

แม้แต่กับที่ ประจวบคีรีขันธ์ พื้นที่ของ เสี่ยต่อ เฉลิมชัย เลขาธิการพรรค มีการมองกันว่า หากกระแสเพื่อไทย แรงจริง ก็ไม่แน่ ประชาธิปัตย์ อาจไม่ชนะยกจังหวัดที่ประจวบคีรีขันธ์ ก็ได้ หลังเลือกตั้ง รอบที่แล้ว เสี่ยต่อ เฉลิมชัย ยังสอบตก  รอบนี้ ก็ใช่ว่าจะง่าย  

ซึ่งถ้าเฉลิมชัย ขนาดพื้นที่ตัวเองยังรักษาไว้ไม่ได้ ก็ทำให้ อาจมีเสียวที่ประชาธิปัตย์อาจได้ส.ส.ต่ำกว่ารอบที่แล้ว 52 เก้าอี้ และนั่นอาจทำให้ เสี่ยต่อ ต้องเลิกเล่นการเมืองตลอดชีวิตก็ได้ 

แสดงความเห็น