นักเลือกตั้ง ออกตัวช้า ร่วงแน่ กกต.เคาะหย่อนบัตร 7 พ.ค. 66 

นับถอยหลังเหลืออีกไม่กี่วันแล้ว ก็จะรู้ผลคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในคดีแปดปี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ศาลนัดอ่านคำวินิจฉัยวันศุกร์ที่ 30 กันยายน ซึ่งผลคำตัดสินไม่ว่าจะออกมาแบบไหน จะมีผลต่อทิศทางการเมืองไทย เป็นอย่างมาก 

เช่น หากบิ๊กตู่รอด มติที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ยังให้เป็นนายกฯต่อไป พลเอกประยุทธ์ ก็คัมแบ็กกลับมาเป็นนายกฯเต็มตัว โดยมีภารกิจสำคัญคือการเตรียมพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปก ช่วง 18-19 พ.ย. ขณะที่ทางการเมือง ก็อาจจะมีการปรับครม.ในตำแหน่งที่ว่างตอนนี้ประมาณ 4 ตำแหน่ง ที่พลังประชารัฐ-ภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์ คงขอให้มีการปรับแน่ และอาจเป็นไปได้ที่อาจจะมีการยุบสภาฯ เกิดขึ้นช่วงต้นปีหน้า แล้วจัดเลือกตั้งภายใน 45-60 วัน เพื่อเลี่ยงเรื่องหลักเกณฑ์การให้ผู้สมัครส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมืองที่ลงเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 90 วันจนถึงวันเลือกตั้ง กรณีไม่มีการยุบสภาฯ เพราะหากยุบสภาฯ การสังกัดพรรค จะเหลือแค่สังกัดพรรคแค่ 30 วันเท่านั้น หากมีสัญญาณมาจากพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่ขอให้ออกสูตรนี้ 

แต่หาก บิ๊กตู่ไม่รอด ต้องหลุดจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี คราวนี้ก็เรื่องใหญ่ จะมีปัญหาการเมืองตามมามากมาย 

เช่น พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ นายกฯรักษาการ จะทำอย่างไร จะยุบสภาฯหรือไม่ หรือจะปล่อยให้มีการเรียกประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกฯคนใหม่ ซึ่งหากทำ แล้วกระบวนการต่างๆ จะเสร็จทันก่อนการประชุมเอเปกช่วง 18-19 พ.ย.นี้หรือไม่ แต่ครั้นหากจะยุบสภาฯ หรือแม้แต่พลเอกประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกฯรักษาการ ที่ทำได้ เพราะแปดปี ไม่นับรวมการเป็นรักษาการ หรือจะไม่กลับมาแล้วปล่อยให้พลเอกประวิตร เป็นรักษาการไป ถ้าเป็นแบบนี้ แล้วพลเอกประวิตร จะตัดสินใจอย่างไร เพราะหากจะยุบสภาฯ ก็จะถูกมองว่าไม่ชอบธรรม เพราะเป็นแค่นายกฯรักษาการและสภาฯไม่ได้ขัดแย้งอะไรกับฝ่ายบริหาร ไม่ควรมีการยุบสภาฯเกิดขึ้น แต่ครั้นพลเอกประวิตร จะปล่อยให้มีการเลือกนายกฯ ก็ไม่รู้ว่า จะเกิดปัญหาอะไรขึ้นหรือไม่ เพราะพลังประชารัฐ ไม่มีรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ ครั้นจะสนับสนุน อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ก็อาจมีปัญหาอีก เพราะฝ่ายประชาธิปัตย์ พรรคร่วมรัฐบาล ก็อาจจะหนุน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้ถูกเสนอชื่อต่อที่ประชุมรัฐสภา

ส่วนครั้นจะไปใช้วิธี “นายกฯคนนอก” คือพลเอกประวิตร ก็อาจมีปัญหาเรื่อง ความชอบธรรมในการเข้ามา  อีกทั้งต้องดูว่า ประชาธิปัตย์กับภูมิใจไทยจะเอาด้วยหรือไม่ และส.ว.ส่วนใหญ่จะว่าอย่างไร เพราะระยะหลัง ส.ว.ก็เริ่มแตกแถวให้เห็นหลายครั้ง 

เรียกได้ว่า การเมืองประเทศไทยหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร จะเข้ามุมอับ หรือทางโล่ง ทุกอย่างกลับสู่สภาพปกติ

สรุปสุดท้ายแล้ว ทุกอย่าง อยู่ที่”คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ” วันที่ 30 กันยายนนี้อย่างแท้จริง 

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด ฝ่ายสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ไม่รอช้า เพราะขณะที่สถานการณ์การเมือง ยังอึมครึม แต่ฝ่ายกกต.ในฐานะเป็นฝ่าย “อำนวยการการเลือกตั้ง” จึงต้องเตรียมพร้อมทุกอย่าง 

ไม่ว่าจะเป็นการส่งสัญญาณเตือน พรรคการเมือง -ว่าที่ผู้สมัครส.ส. -หัวคะแนน ว่า หลังจาก 24 กันยายนนี้เป็นต้นไป จะเข้าหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญและพ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ฯ คือ 180 วันจนถึงวันครบอายุการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 

ทำให้ ตั้งแต่ 24 กันยายนนี้เป็นต้นไป พรรคการเมือง-ว่าที่ผู้สมัครส.ส.-หัวคะแนน จะต้องระมัดระวังตัวในการปฏิบัติตนตามพ.ร.บ.เลือกตั้งฯ มาตรา 68 ที่บัญญัติให้ในช่วง 180 วัน ก่อนครบสี่ปี ในการเลือกตั้งล่าสุด กฎ-กติกา ต่างๆ ในการเลือกตั้ง จะต้องถูกนำมาใช้อย่างเคร่งครัด เสมือนประหนึ่งว่า อยู่ในช่วงมีการประกาศใช้พรฏ.การเลือกตั้งแล้ว 

จึงทำให้ตั้งแต่ 24 ก.ย.นี้เป็นต้นไป พรรคการเมือง-ส.ส.-ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. -หัวคะแนน ต้องระมัดระวังตัวมากขึ้นในการลงพื้นที่ การหาเสียง จะแจกของ จัดเลี้ยง ให้ของ รับปากว่าจะให้ไม่ได้แล้ว เพราะสุ่มเสี่ยงจะทำผิดกฎหมายเลือกตั้งได้ หากมีการร้องเรียนเกิดขึ้น หากเห็นว่ามีเจตนาเพื่อจูงใจให้ลงคะแนนเสียง 

รวมถึงนับแต่ 24 ก.ย.เป็นต้นไป ค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น การทำใบปลิว การทำโปสเตอร์ การทำป้ายคัทเอาท์ จะต้องถูกนำมารวมเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ที่จะมีขึ้น 

เรียกได้ว่า ทำเอาบรรดา พรรคการเมือง -ว่าที่ผู้สมัครส.ส. ที่เตรียมตัวไม่ทัน ร้องโอดโอยกันเป็นแถว โดยเฉพาะฝ่ายค้านและพรรคตั้งใหม่ ที่ไม่ได้กุมอำนาจรัฐ ที่ค่อนข้างจะเสียเปรียบพรรคการเมืองในซีกรัฐบาล 

แต่ที่น่าสนใจคือ ล่าสุด กกต.วาง “โรดแมปการเลือกตั้ง” ออกมาแล้ว กรณี “สภาฯอยู่ครบเทอม” 

ซึ่งหากสภาฯอยู่ครบเทอม ไม่มีการยุบสภาฯ ที่จะครบ 23  มี.ค. 2566 รัฐธรรมนูญมาตรา102 กำหนดให้จัดการเลือกตั้งภายใน 45 วันนับแต่วันสิ้นอายุสภาผู้แทนราษฎร 

ข่าวบอกว่า ฝ่ายอำนวยการเลือกตั้งของสำนักงานกกต. ปักหมุดไว้ว่า กำหนดให้วันที่ 7 พ.ค. 2566 เป็นวันเลือกตั้งทั่วไป และเปิดรับสมัครในวันที่ 3-7  เม.ย.66 วันที่ 11 เม.ย. 2566 วันสุดท้ายของการประกาศกำหนดหน่วยเลือกตั้งและที่เลือกตั้ง และเป็นวันสุดท้ายประกาศบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง  

วันที่ 14 เม.ย. 2566 ประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัครส.ส. 16 เม.ย. 2566  เป็นวันสุดท้ายส่งหนังสือแจ้งเจ้าบ้านและสรรหาแต่งตั้งคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง วันที่ 26 เม.ย. 2566 เป็นวันสุดท้ายของการเปลี่ยนแปลงหน่วยเลือกตั้งและสถานที่เลือกตั้ง รวมถึงวันสุดท้ายของการเพิ่มชื่อ-ถอนชื่อ 

วันที่ 30 เม.ย. 2566 เป็นวันลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตเลือกตั้งและนอกเขตเลือกตั้ง รวมทั้งแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และ 7 พ.ค. 2566 เป็นวันเลือกตั้งส.ส.

ซึ่งพอมีข่าว กกต.ปักหมุดดังกล่าวไว้ ก็ทำให้หลายพรรคการเมือง ทั้งพรรคใหญ่-กลาง-เล็กและพรรคตั้งใหม่ ต้องขันน็อตตัวเองมากขึ้นในการเตรียมสู้ศึกเลือกตั้ง เพราะหากเป็นแบบนี้ เท่ากับ หากไม่มีการยุบสภาฯ ก็เหลือเวลาอีกประมาณ 8 เดือน แต่หากมีการยุบสภาฯ เกิดขึ้นปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า ก็อาจเหลือแค่ 6 เดือน ดังนั้น ใครออกตัวช้า ก็เสียเปรียบ โดยเฉพาะพรรคเล็ก-พรรคตั้งใหม่ ที่หลังจากนี้ ต้องติดสปีดมากขึ้นแล้ว 

แสดงความเห็น