ฉากหลัง สุดารัตน์-ไทยสร้างไทย ดัน “ฐากร” เป็นเลขาธิการพรรค

“พรรคไทยสร้างไทย” ของเจ๊หน่อย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นพรรคการเมืองที่หลายคนยังติดใจสงสัยว่า หลังการเลือกตั้ง จะได้เป็นพรรคฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน เพราะดูแล้ว ยังไง พรรคนี้ ได้ส.ส.เข้าสภาฯแน่นอน เพียงแต่จะได้ระดับไหน จะต่ำสิบหรือเกินสิบ!

เหตุที่ยังไม่แน่ใจกันนัก เพราะแม้ สุดารัตน์ จะคืออดีตแกนนำเพื่อไทย ตั้งแต่ยุคไทยรักไทย-พลังประชาชน เพราะร่วมทำงานการเมืองกับทักษิณ ชินวัตรมาหลายสิบปี ตั้งแต่ยุคพรรคพลังธรรม หลังทักษิณ เข้าการเมืองครั้งแรกกับพลังธรรมในยุครัฐบาลชวน หลีกภัย เมื่อช่วงปี 2536-2537 กับตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศ “สุดารัตน์”ก็ทำงานการเมืองเคียงข้างกับทักษิณมาตลอด จนมาร่วมก่อตั้งพรรคไทยรักไทยร่วมกันตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งปี 2544 ที่ก็คือ เพื่อไทยในปัจจุบัน 

อย่างไรก็ตาม การที่ สุดารัตน์ เดินออกจากพรรคเพื่อไทยแบบเจ็บปวด เพราะมีปัญหาขัดแย้งรุนแรงกับแกนนำพรรคเพื่อไทยสายกลุ่ม care โดยการนำของ ภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรค นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ที่ตอนนี้ทั้งสองคนมีบทบาทสูงในเพื่อไทยมาก 

อีกทั้งในพรรคเพื่อไทย สุดารัตน์ ก็มีปัญหากับหลายคนในพรรคที่กำลังมีบารมีในเพื่อไทยสูงเวลานี้เช่น เจ๊แจ๋น พวงเพชร ชุณละเอียด เจ้าแม่กทม.คนปัจจุบันของเพื่อไทย เป็นต้น 

จึงทำให้ หลายคนมองและสงสัยกันว่า หากเพื่อไทย ชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ จัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ จะดึง “เจ๊หน่อย-ไทยสร้างไทย”ไปร่วมรัฐบาลหรือไม่?

หลังที่ผ่านมา ทั้งสองพรรค ก็มีการฟาดฝีปากกันไปมา หลายรอบ แม้อาจไม่ได้รุนแรงอะไร เพราะฝ่ายเพื่อไทย ก็มองว่า ไทยสร้างไทย เป็นพรรคที่มาตัดคะแนนเสียงเพื่อไทยในหลายพื้นที่โดยเฉพาะที่อีสาน-กรุงเทพมหานคร จนแกนนำพรรคต้องประกาศหลายเวทีว่า เพื่อไทย “ไม่มีพรรคพี่พรรคน้อง” เพื่อไม่ให้ประชาชนเทเสียงไปที่ไทยสร้างไทย นั่นเอง 

ขณะเดียวกัน การที่สุดารัตน์ ไทยสร้างไทย ชิงประกาศ ไม่ร่วมตั้งรัฐบาล ไม่จับมือกับพรรคเครือข่ายเผด็จการทหาร หลังเลือกตั้ง ที่ก็คือ “พลังประชารัฐ-รวมไทยสร้างชาติ” นั่นหมายถึงหากพรรคการเมืองสายรัฐบาลปัจจุบันรวมเสียงกันได้เกิน 250 เสียง ตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ แล้วมีการดัน พลเอกประยุทธ์ หรือพลเอกประวิตร เป็นนายกฯ ก็หมายถึง ไทยสร้างไทย ก็จะไม่ร่วมรัฐบาล หากได้รับเทียบเชิญ 

ส่วนหาก “ภูมิใจไทย” ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แล้ว อนุทิน ชาญวีรกูล เป็นนายกฯ เรื่องนี้แวดวงการเมืองต่างรู้ดีว่า “อนุทินและเนวิน ชิดชอบ แกนนำภูมิใจไทย” กับสุดารัตน์นั้น “ไม่ลงรอย-ไม่กินเส้น” กันมาตลอดตั้งแต่ยุคไทยรักไทย-พลังประชาชน

ทำให้หากไม่จำเป็นจริงๆ ก็ยากที่ ภูมิใจไทย จะยอมดึง ไทยสร้างไทยมาร่วมตั้งรัฐบาลด้วย ถ้าเสียงขาดเกิน 250 เสียงไปพอสมควรแล้ว 

ดูแล้ว จึงมีความเป็นไปได้สูงระดับหนึ่งที่ “ไทยสร้างไทย” จะกลายเป็น “พรรคฝ่ายค้าน” หลังการเลือกตั้งก็ได้ ถ้าขั้วเพื่อไทย ก็ไม่เอา และขั้วรัฐบาลปัจจุบัน ทางสุดารัตน์กับไทยสร้างไทย ก็ปิดประตูการจับมือร่วมกันไปแล้ว 

อย่างไรก็ตาม การเมือง “ไม่มีมิตรแท้ และศัตรูถาวร” 

ดังนั้น มันก็ไม่แน่ หากฝ่ายเพื่อไทย จำเป็นต้องรวมเสียงส.ส.ให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ได้เกินกึ่งหนึ่งและให้ได้เยอะที่สุด เช่นเกิน 300 เสียง เพื่อกดดัน “สมาชิกวุฒิสภา” ในการโหวตเลือกนายกฯจากเพื่อไทย 

มันก็เป็นไปได้แน่นอน ที่ ทักษิณกับเพื่อไทย จะต่อสาย ดึง สุดารัตน์ ร่วมรัฐบาลกับเพื่อไทยด้วย และเชื่อว่าฝ่าย ไทยสร้างไทย ก็พร้อมอยู่แล้ว เพราะเรื่องบาดหมางในอดีต มันก็ลืมๆกันไปได้ สำหรับนักการเมือง 

ยิ่งเลือกตั้งรอบนี้ ไทยสร้างไทยและสุดารัตน์ ก็หมดไปเยอะ หากต้องเป็นฝ่ายค้านไปอีกหลายปี ก็ยิ่งทำให้ พรรคจะยิ่งเล็กลงไปอีก เลือกตั้งรอบหน้า ไทยสร้างไทย อาจพรรคแตก  แต่หากเป็นฝ่ายรัฐบาล ยังไง ก็ย่อมดีกว่าแน่นอน ในการทำพรรคต่อไป 

สำคัญก็แต่ว่า เพื่อไทยกับทักษิณ จะทอดไมตรีมาให้ สุดารัตน์หรือไม่เท่านั้นเอง

เพราะหากเพื่อไทย รวมเสียงได้เกินระดับ 280-300 เสียง ไปแล้ว และเชื่อว่าส.ว. คงไม่กล้าโหวตไม่เอาแคนดิเดตนายกฯจากเพื่อไทย ฝ่ายเพื่อไทย ก็ไม่จำเป็นต้องดึงไทยสร้างไทยมาร่วมจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันก็ได้ 

มันก็เช่นเดียวกันกับ หาก ภูมิใจไทย ได้เสียงส.ส.มากสุดในฝ่ายรัฐบาลเวลานี้ แต่พรรคการเมืองขั้วรัฐบาลปัจจุบัน รวมเสียงกันแล้ว ยังปริ่มน้ำ เช่นได้ประมาณ 230 เสียง และจำเป็นต้องดึงพรรคอื่นๆมาร่วมจัดตั้งรัฐบาลด้วย มันก็เป็นไปได้ ที่อนุทิน อาจจะยอมดึงไทยสร้างไทย มาร่วมจัดตั้งรัฐบาล เพื่อให้ตัวเองได้เป็นนายกฯ ซึ่งหากออกมาแบบนี้ ก็ถือว่า ไทยสร้างไทยไม่ได้ผิดคำพูดที่เคยบอกไว้ เพราะภูมิใจไทย ไม่ถูกมองว่าเป็นพรรคเครือข่ายคสช.แบบพลังประชารัฐกับรวมไทยสร้างชาติ 

ดังนั้น เส้นทางของ สุดารัตน์และไทยสร้างไทย จะเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ก็อยู่ที่ ลำดับแรก ไทยสร้างไทย ต้องทำให้ตัวเองได้ส.ส.หลังเลือกตั้งมากที่สุด จากนั้น ก็รอเทียบเชิญจากขั้วเพื่อไทยหรือขั้วภูมิใจไทย ให้ร่วมรัฐบาลต่อไป 

มีจุดหนึ่งที่น่าสนใจในการขยับการเมืองของ สุดารัตน์ ก็คือ การที่ ไทยสร้างไทย เปลี่ยนตัว เลขาธิการพรรค จาก น.ต.ศิธา ทิวารี มาเป็น ฐากร ตัณฑสิทธิ์ อดีตเลขาธิการกสทช. ถือว่าเป็นหมากที่ไม่ธรรมดา 

เพราะในแวดวงการเมืองรู้กันดีว่า “ฐากร” ถือเป็น “มิสเตอร์คอนเน็กชั่น” มากที่สุดคนหนึ่ง เพราะรู้จักกับนักการเมืองทุกพรรค เครือข่ายพรรคการเมืองหลายกลุ่ม รวมถึงกลุ่มทุนธุรกิจอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะทุนขนาดใหญ่พวกธุรกิจโทรคมนาคม  ทำให้ ฐากร สามารถเชื่อมกับหลายกลุ่มได้

อย่าง สายป่ารอยต่อ ของพลเอกประวิตร ก็เป็นที่รู้กันว่า ฐากร แนบแน่นกับพลเอกประวิตร พอสมควร ขณะที่สายเพื่อไทย ฐากร ก็สนิทกับหลายคนในเพื่อไทย

งานนี้ ต้องบอกว่า การที่สุดารัตน์ ดัน ฐากรจากที่ช่วยงานพรรคอยู่ข้างหลัง กับตำแหน่ง ประธานคณะกรรมการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ พรรคไทยสร้างไทย ที่ไม่ได้มีบทบาทอะไร มาเป็น เลขาธิการพรรค เพื่อไว้เป็นมือประสานการเมืองหลังเลือกตั้ง เป็นการปรับหมาก เพื่อรองรับการเมืองหลังการเลือกตั้งมากกว่า

โดยเฉพาะการหวังผล ร่วมรัฐบาลกับขั้วต่างๆ 

แสดงความเห็น