เศรษฐกิจไทย ถอนยวง “บิ๊กป้อม-ธรรมนัส” สัมพันธ์สะบั้น?

ความพ่ายแพ้แบบย่อยยับของ “ธรรมนัส พรหมเผ่า และพรรคเศรษฐกิจไทย”ในสนามเลือกตั้งซ่อมที่จังหวัดลำปาง เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมาได้นำมาสู่การหารืออย่างเคร่งเครียด ในวงประชุมแกนนำพรรคและทีมยุทธศาสตร์พรรคเศรษฐกิจไทย ที่ตึกปานศรี ที่ทำการพรรคเศรษฐกิจไทยหลังใหม่ แต่เป็นตึกพลังประชารัฐเดิมตั้งแต่เริ่มก่อตั้งพรรค ที่มีการหารือกันเมื่อ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา 

บนข้อสรุปที่เสียงส่วนใหญ่ของคีย์แมนพรรคเศรษฐกิจไทย เห็นตรงกันว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ เศรษฐกิจแพ้เลือกตั้งซ่อม ก็เพราะ

“จุดยืนทางการเมือง-ทิศทางพรรค ไม่ชัดเจน” 

เพราะอย่าว่าแต่ ประชาชนในพื้นที่ลำปาง แต่คนส่วนใหญ่ในประเทศ   ยังไม่รู้เลยว่า สุดท้ายแล้ว เศรษฐกิจไทยคือพรรคร่วมรัฐบาลหรือพรรคฝ่ายค้านกันแน่

ด้วยว่าแม้จะมีคนในพรรค ไปเป็นวิปรัฐบาลสองคนคือ  บุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายทะเบียนพรรคเศรษฐกิจไทย และไผ่ ลิกค์  ส.ส.กำแพงเพชร  เลขาธิการพรรคเศรษฐกิจไทย  แต่พรรคเศรษฐกิจไทย ที่มี ส.ส. 16  คนในสภาฯ  กลับไม่มีคนในพรรคเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลแม้แต่คนเดียว 

ขณะที่พรรคอื่นๆอย่าง พรรครวมพลัง ของสุเทพ เทือกสุบรรณ ยังมี ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นรมว.อุดมศึกษาฯ หรือชาติไทยพัฒนา ที่มีส.ส.น้อยกว่าเศรษฐกิจไทย ก็ยังมีวราวุธ ศิลปอาชา และประภัตร โพธสุธน เป็นรัฐมนตรี จึงเป็นเรื่องแปลกประหลาดทางการเมือง เพราะทุกครั้ง พลเอกประวิตร หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะผู้จัดการรัฐบาล มักจะบอกว่า พรรคเศรษฐกิจไทย เป็นพรรคร่วมรัฐบาล แต่การเป็นพรรคร่วมรัฐบาลที่มีส.ส.จำนวนหนึ่งแต่ไม่มีโควตารัฐมนตรี มันจึงเป็นเรื่องผิดปกติทางการเมือง 

อีกทั้ง ที่ผ่านมา แกนนำพรรคอย่างธรรมนัส หัวหน้าพรรคก็ออกมา วิจารณ์รัฐบาลอย่างหนักเช่นเรื่องความล้มเหลวในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และขู่ว่า อภิปรายไม่ไว้วางใจสัปดาห์หน้า ส.ส.เศรษฐกิจไทย อาจไม่กดปุ่มไว้วางใจให้นายกฯและรัฐมนตรี หากชี้แจงไม่เคลียร์ 

ทว่า ธรรมนัส และคนในพรรค ก็ยังออกมาบอกเช่นกันว่า พร้อมจะสนับสนุน พลเอกประวิตร ในศึกซักฟอกรอบนี้ เพราะเห็นว่าเป็นรองนายกฯ ไม่ได้ดูแลกระทรวงอะไร จึงไม่น่าจะประเด็นอะไรให้ถูกอภิปราย อันเป็นลักษณะพร้อมจะกางปีกป้องช่วยหนุน บิ๊กป้อมเต็มที่ ทั้งที่ยังไม่รู้เลยว่าฝ่ายค้านจะอภิปรายพลเอกประวิตรเรื่องอะไร และที่ผ่านมา ฝ่ายค้านก็มองว่า  ตัวพลเอกประวิตร ถือว่า เป็นจุดอ่อนสำคัญของรัฐบาลที่ต้องทุบให้ช้ำที่สุด เพื่อหวังผลในการทำให้พลังประชารัฐอ่อนแอตามไปด้วย แต่ธรรมนัส ที่ทำท่าขึงขังกับพลเอกประยุทธ์และรัฐมนตรีหลายคนในรัฐบาล กลับแสดงท่าทียืนเคียงข้างพลเอกประวิตร ตลอด 

ลำพังเอาแค่นี้ ก็เห็น “ความย้อนแย้ง” ที่ทำให้ ใครต่อใครก็ดูจะมองตรงกันว่า ความไม่ชัดเจนดังกล่าว ของธรรมนัสและพรรคเศรษฐกิจไทย ว่าตกลงจะเป็นฝ่ายค้านหรือรัฐบาลกันแน่ เลยทำให้ จนถึงขณะนี้ นับแต่เปิดตัวพรรคเศรษฐกิจไทยมานานพอสมควรแล้ว แต่บทบาททางการเมืองของพรรคเศรษฐกิจไทย แทบจะไม่มีใครจดจำ หรือมีอะไร ให้คนได้ พูดถึงเลยแม้แต่น้อย 

ซึ่งความไม่ชัดเจนดังกล่าว ถึงตอนนี้ กำลังกลายเป็นจุดอ่อนที่สำคัญของ พรรคเศรษฐกิจไทยและธรรมนัส ไปแล้ว จนทำให้ ธรรมนัสและพรรคเศรษฐกิจไทย เลือกที่จะต้อง ทำอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะหากยังเล่นการเมืองแบบที่ผ่านมา จะเป็นรัฐบาลก็ไม่ใช่ จะเป็นฝ่ายค้านก็ไม่เชิง สุดท้าย การเป็นครึ่งๆ กลางๆ แบบที่ผ่านมา ทำให้นอกจากพรรคไม่โดดเด่นทางการเมืองแล้ว ยังทำให้ คนที่คิดอยากจะมาร่วมงานกับพรรคหรือคนที่พรรคไปติดต่อทาบทามให้มาร่วมงานกับพรรค เลยเกิดความลังเล เพราะไม่รู้ว่า พรรคธรรมนัส สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ หรือไม่สนับสนุน และพรรคเป็นฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้านกันแน่ 

ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดการตัดสินใจ “เลือกข้างเลิกเป็นนกสองหัวทางการเมือง” โดยด่วน 

เริ่มจากที่ พอเสร็จสิ้นการประชุมกรรมการยุทธศาสตร์พรรคที่มี “วิชิต ปลั่งศรีสกุล รองหัวหน้าพรรค-อดีตคนเพื่อไทย” ที่เป็นประธานกรรมการยุทธศาสตร์พรรค เสร็จสิ้นในช่วงเช้า 12 ก.ค. หลังจากก่อนหน้านั้น “วิชิต” ก็ส่งซิก ขอสัญญาณจาก ธรรมนัส ทันทีเพื่อให้พรรค ต้องชิงสร้างกระแส ชิงพื้นที่ข่าวโดยเร็ว ในเรื่องการแสดงจุดยืนพรรค จนได้รับไฟเขียว จากธรรมนัส 

ทำให้ต่อมา วิชิต มีการให้ข่าวกับสื่อว่า พรรคได้วิเคราะห์สาเหตุที่แพ้เลือกตั้งซ่อมที่ลำปางว่าเป็นเพราะประชาชนไม่เห็นด้วยกับการที่พรรคสนับสนุนรัฐบาล ดังนั้นกรรมการยุทธศาสตร์พรรคและสมาชิกพรรคเห็นว่าทั้ง  บุญสิงห์ และไผ่ ลิกค์ ต้องลาออกจากการเป็นวิปรัฐบาล ทันที 

จากนั้น “บุญสิงห์-ไผ่” ก็ร่อนหนังสือลาออกจากวิปรัฐบาล วันเดียวกัน โดยต่อมา “ธรรมนัส” ออกมาระบุว่า พรรคเตรียมตัวไปทำงานร่วมกับฝ่ายค้าน แต่ส่วนตัวจะเข้าพบพล.อ.ประวิตรเพื่อกราบลาในการที่ออกจากพรรคร่วมรัฐบาล 

โดยมีข่าววงในแจ้งกับเรามาว่า ในวงหารือทีมแกนนำพรรคและทีมยุทธศาสตร์พรรค ก่อนที่จะให้ส.ส.ของพรรคถอนตัวจากวิปรัฐบาลและประกาศตัวเป็นพรรคฝ่ายค้านนั้น ในวงหารือดังกล่าว เสียงส่วนใหญ่ เห็นไปในทางเดียวกันว่า ประชาชนสับสน ไม่รู้ว่าที่ผ่านมาพรรคเศรษฐกิจไทย เป็นฝ่ายไหน จึงต้องรีบแสดงความชัดเจนออกมา ซึ่งช่วงที่จะแสดงความชัดเจนได้มากที่สุดก็คือตอนอภิปรายไม่ไว้วางใจ ทำให้ ถึงขณะนี้ มีความเป็นไปได้สูงแล้วที่ส.ส.ของพรรคทั้งหมด อาจจะกดปุ่ม “ไม่ไว้วางใจ” พลเอกประยุทธ์ รวมถึงรัฐมนตรีที่เป็น “คู่อริทางการเมือง” กับ ธรรมนัส โดยเฉพาะสามรัฐมนตรีจากพลังประชารัฐ คือ สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน-สันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลังและชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลฯ ที่งานนี้ ธรรมนัสและพวกในเศรษฐกิจไทย พร้อม แตกหัก 

แต่อาจมีรัฐมนตรีบางคนโดยเฉพาะพลเอกประวิตร ที่พรรคอาจต้องบอกกับฝ่ายพรรคเพื่อไทยว่า อาจจะของดออกเสียง หรือบางคนอาจขอ โหวตไว้วางใจให้ เพราะความสัมพันธ์ส่วนตัวที่มีต่อกันกับพลเอกประวิตร 

กระนั้น ก็มีกระแสข่าวว่า ในการประกาศตัวจะไปเล่นบทฝ่ายค้านเต็มตัวของพรรคเศรษฐกิจไทยหลังจากนี้ ก็ไม่แน่เสมอไป ที่ส.ส.พรรคเศรษฐกิจไทยที่มี 16 เสียง จะเกาะกลุ่มไปในทางเดียวกันหมด!

เพราะมีข่าวว่า ระยะหลัง ด้วยความที่บารมีทางการเมืองของธรรมนัส หลังไม่เป็นรัฐมนตรี ลดน้อยลงไปเยอะ และที่สำคัญ กระแสของพรรคเศรษฐกิจไทย ไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควร  คนไม่ให้ความสนใจ คนจำชื่อพรรคไม่ได้ อีกทั้ง นับแต่เปิดตัวพรรคมา ก็ไม่มีคนดัง คนมีชื่อเสียง คนที่พอจะเป็นจุดขายให้กับพรรคได้มาร่วมงานกับพรรค   โดยเฉพาะมือเศรษฐกิจ ที่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีใครเด่นๆเข้ามาร่วมงานกับพรรคเต็มตัวสักคน ทั้งที่ชื่อพรรคคือพรรคเศรษฐกิจไทย แต่ไม่มีจุดขายเรื่องมือเศรษฐกิจ ทำให้ ส.ส.ของพรรคบางส่วนที่เป็นส.ส.เขต ก็เริ่มมีข่าวว่า เตรียมจะชิ่งหนี ธรรมนัสเพียงแต่รอโอกาสเหมาะๆ หลังมองดูแล้ว แนวโน้ม เศรษฐกิจไทย จะเป็นพรรคเล็ก 

โดยคนที่มีข่าวว่าอาจจะแยกตัวออกไป ก็มีอาทิเช่น สะถิระ  เผือกประพันธุ์ ส.ส.ชลบุรี ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า มีแนวโน้มที่ย้ายกลับพรรคเดิม พลังประชารัฐ เพราะที่ย้ายออกมาจากพลังประชารัฐ ก็ไม่ใช่เพราะเป็นคนในกลุ่มธรรมนัส แต่ย้ายเพราะสายสัมพันธ์ส่วนตัวกับพลเอกวิชญ์ เทพหัสดินฯ สมัยบิ๊กน้อยเป็นหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทยคนแรก แต่เมื่อตอนนี้พลเอกวิชญ์ ไม่อยู่แล้ว เลยทำให้ สะถิระ เตรียมย้ายกลับพลังประชารัฐ  

รวมถึงคนอื่นๆ ก็มีกระแสข่าวว่า กำลังถูกดูดจากพรรคภูมิใจไทยอย่างหนักเช่น ณัฏฐพล จรัสรพีพงษ์ ส.ส.สุรินทร์ ธนะสิทธิ์ โควสุรัตน์ ส.ส.อุบลราชธานี เพียงแต่ช่วงนี้ ที่ยังไม่สามารถย้ายพรรคได้ และหลายคนก็อาจเกรงใจ ธรรมนัส อยู่ เลยทำให้ ตอนนี้เกาะกลุ่มกันไปก่อน ถ้าธรรมนัส สั่งให้โหวตตอนศึกซักฟอกอย่างไร ก็อาจต้องโหวตไปตามนั้น เว้นเสียแต่ว่า บางคนตัดสินใจแล้วว่า ไม่อยู่กับพรรคเศรษฐกิจไทยแน่นอน และไม่อยากเป็นศัตรู กับฝ่ายนายกฯและแกนนำรัฐบาล ก็อาจจะแหกโผ ไปกดปุ่มไว้วางใจให้กับนายกฯหรือรัฐมนตรีบางคนก็ได้ ซึ่งหากส.ส.พรรคเศรษฐกิจไทย คนไหน กล้าหักกับธรรมนัส โดยลงมติแบบแหกโผ  ก็เป็นสัญญาณชัดเจนแล้วว่า เลือกตั้งรอบหน้า แยกทางกับธรรมนัส แน่นอน 

ส่วนการตัดสินใจ แยกตัวออกมาจากรัฐบาลอย่างเต็มตัวครั้งนี้ของ ธรรมนัส-พรรคเศรษฐกิจไทย จะเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องและไม่ช้าเกินไปหรือไม่ อาจประเมินได้ยากในเวลานี้ แต่น่าเชื่อระดับหนึ่งว่า สายสัมพันธ์ของ ธรรมนัสกับบิ๊กป้อม แม้จะต้องแปรเปลี่ยนไป เมื่อยืนอยู่กันคนละขั้ว 

ทว่าขอให้เชื่อเถอะ ลึกๆ ทั้งสองคน คงมี “สัญญาใจ” บางอย่าง ที่เป็นข้อตกลงทางการเมือง และรู้กันแค่สองคน ที่ไม่แน่ อาจจะแสดงออกมา ตอนช่วงวันโหวต ไว้วางใจ-ไม่ไว้วางใจ 23 ก.ค.นี้ ก็ได้ 

แสดงความเห็น