“กมธ.ดีอีเอส” เผยกิจการอวกาศกำลังเติบโต “กฤษณ์” เชื่อจะพลิกโฉมสังคมมนุษย์-ศก.โลก 

“กมธ.ดีอีเอส” เผยกิจการอวกาศกำลังเติบโตก้าวกระโดด “กฤษณ์” เชื่ออีกไม่นานจะพลิกโฉมสังคมมนุษย์-เศรษฐกิจโลก ชี้ ไทยต้องมีพ.ร.บ.อวกาศ สร้างความชัดเจนหวังร่วมลงทุนมหาอำนาจ

น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ส.ส.สระบุรี พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานกรรมาธิการ การสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอีเอส) กล่าวว่า คณะกรรมาธิการฯ เราให้ความสำคัญกับกิจการอวกาศอย่างมาก เนื่องจากเป็นเทรนทั้งทางด้านเทคโนโลยีและด้านเศรษฐกิจที่จะรุดหน้าอย่างรวดเร็ว ซึ่งเราจึงมีอนุกรรมาธิการฯ ที่มีผู้เชี่ยวชาญด้านอวกาศอยู่ในคณะอนุกรรมาธิการ เพื่อศึกษาติดตามกิจการอวกาศอย่างใกล้ชิด เราเห็นว่าขณะนี้การลงทุนด้านเศรษฐกิจอวกาศกำลังเติบโตขึ้นทั่วโลกอย่างก้าวกระโดด ซึ่งประเทศไทยเองก็ได้ให้ความสนใจในเรื่องนี้ และมีโครงการทุนการศึกษานักบินอวกาศไทยเดินทางไปเยือน NASA อีกด้วย 

ด้านนายกฤษณ์ คุนผลิน ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการกิจการอวกาศเพื่อเศรษฐกิจและความมั่นคง ในกมธ.ดีอีเอส สภาผู้แทนราษฎร และผู้แทนศูนย์อวกาศและจรวดแห่งชาติสหรัฐประจำประเทศไทย ในฐานะผู้ก่อตั้งโครงการทุนการศึกษาค้นพบนักบินอวกาศไทย กล่าวว่า ตนเองพร้อมคณะได้เดินทางไปศึกษาดูงานที่ NASA เนื่องจากเราเห็นว่ากิจการอวกาศมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเศรษฐกิจอวกาศที่เติบโตอย่างรวดเร็ว เพียงสหรัฐอเมริกาประเทศเดียวมีมูลค่าการลงทุนจากทั้งของภาครัฐและเอกชนรวมกันปีละประมาณ 1.85 ล้านล้านบาท ซึ่งเกือบเท่ากับงบประมาณของประเทศไทยทั้งปี รองลงมาได้แก่ ประเทศจีนที่ตามมาอย่างห่าง ๆ อยู่ที่ปีละประมาณ 370,000 ล้านบาท การเติบโตอย่างก้าวกระโดดนี้เป็นผลมาจากการที่อวกาศได้เปลี่ยนมาจากพื้นที่อวดอิทธิพลทางการเมืองมาเป็นสนามการค้าที่มีมูลค่าสูงอย่างยิ่งไปแล้ว 

นายกฤษณ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้บริษัทเอกชนทั่วโลกรวมถึงไทยกำลังแข่งขันกันอย่างดุเดือดในการวางดาวเทียมวงโคจรต่ำ เพียงแค่ Starlink ของ Elon Musk บริษัทเดียว มีเป้าหมายที่จะวางถึงกว่า 30,000 ดวง ซึ่งขณะนี้ วางไปแล้วกว่า 10,000 ดวง ระบบเครือข่ายดาวเทียมนี้จะทำให้การใช้งานอินเทอร์เน็ตพื้นฐานไม่มีค่าใช้จ่ายอีกต่อไป เชื่อมโยงคนอีกหลายพันล้านคนที่ปัจจุบันยังเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต รวมถึง เชื่อมต่ออุปกรณ์ IOT และ สัญญาณชีพของมนุษย์ เข้าไว้ด้วยกันบนโครงข่ายโยงใยนอกโลก ระบบอภิข้อมูลตั้งแต่เรื่องเกษตรกรรม การศึกษา การแพทย์ ความมั่นคง จนถึงปศุสัตว์นี้คือธุรกิจมูลค่ามหาศาล ทั้งจากการเก็บ สังเกต รวบรวม วิเคราะห์ และ ส่งผ่านข้อมูล ซึ่งจะมีอิทธิพลต่อการกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การเมือง และ การทหารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  

นายกฤษณ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ประเทศมหาอำนาจของโลก ประกาศเจตจำนงที่ชัดเจนที่จะตั้งฐานปฏิบัติการถาวรบนดาวดวงจันทร์ เพราะมีแหล่งพลังงานสำหรับจรวด และ ออกซิเจนสำหรับมนุษย์ รวมถึง มีแร่ธาตุมีค่าที่สามารถสกัดเป็นพลังงานราคาถูกมาใช้บนโลกได้  ซึ่งขณะนี้ พ.ร.บ.อวกาศไทยกำลังอยู่ในการพิจารณาของกฤษฎีกา เมื่อไทยมีกติกาที่ชัดเจนแล้ว จึงจะสามารถเข้าร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจในระบบสุริยะกับประเทศที่พัฒนาแล้วได้ นอกจากนี้ ดาวอังคาร ก็เป้าหมายของชาติมหาอำนาจ เช่นกัน เพราะมีแร่ธาตุหายาก ข้อมูลจาก BBC ระบุว่า มูลค่าปัจจุบันของแร่ธาตุในแถบดาวเคราะห์นี้คือ 25,900 ล้านล้านล้านบาท ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการทำเซมิคอนดักเตอร์ เป็นส่วนของคอมพิวเตอร์จนถึงโทรศัพท์มือถือ 

“การพัฒนาเศรษฐกิจอวกาศยุคใหม่ จะนำไปสู่เศรษฐกิจระหว่างดวงดาวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐและ วุฒิสภาสหรัฐได้ออกกฎหมายและอนุมัติงบประมาณผูกพันระยะยาวที่จะให้มีความสามารถทางด้านเทคโนโลยีและอื่นๆ ที่จำเป็นเพื่อที่จะควบคุมเส้นทางการค้าในระบบสุริยะได้ เศรษฐกิจอวกาศยุคใหม่จะนำมาสู่การปฏิวัติพลิกผัน ตั้งแต่ การใช้บริการอินเทอร์เน็ตฟรีของประชากรทั้งโลกไปจนถึงระบบโครงข่ายรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยตัวเอง แต่การคืบคลานเข้ามาอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจระหว่างดวงดาวจะนำไปสู่การพลิกผันในระดับโลกที่ยิ่งใหญ่กว่า วันนี้ NASA กำหนดวางเสาเอกที่ดวงจันทร์ในปี 2567 เพื่อนำไปสู่การควบคุมเส้นทางการค้าและทรัพยากรในระบบสุริยะต่อไป คำถามสำคัญคือ ไทยอยู่ตรงไหน ทำอะไรอยู่ และ ในระบบเศรษฐกิจล้ำยุคทั้งสองระบบนี้ ไทยจะทำมาหากินอะไร คำตอบของคำถามทั้งหมดนี้จะตอบได้ชัดเจนที่สุดเมื่อประเทศไทยมี พ.ร.บ. อวกาศใช้อย่างเป็นทางการ” นายกฤษณ์ กล่าว

แสดงความเห็น