“บิ๊กป๊อด” ลุยแก้ฝุ่น PM.2.5 คุย “ธรรมนัส” ถกภาคเกษตรไม่เผา ลั่นต้องลดการเผาไหม้ลง 50 เปอร์เซ็นต์ 

“บิ๊กป๊อด” ลุยแก้ปัญหาฝุ่นพิษ จับเข่าคุย “ธรรมนัส” ถกภาคเกษตรไม่เผา กำหนดเป้าหมายแบบมุ่งเป้า 10 ป่าอนุรักษ์ 10 ป่าสงวนแห่งชาติ พื้นที่ไฟไหม้ซ้ำซาก ลั่นต้องลดการเผาไหม้ลง 50 เปอร์เซ็นต์ ส่งเสริมเกษตรปลอดการเผา ให้รัฐมีมาตรการสนับสนุน พร้อมเปิดปฏิบัติการเชิงรุก ตั้ง “วอร์รูม” 4 ระดับ แจ้งเตือน PM.2.5 ผ่านทุกช่องทาง ดึงผู้เชี่ยวชาญให้ความรู้ประชาชนรับมือฝุ่นพิษอย่างถูกวิธี 

พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการแก้ปัญหาฝุ่นPM 2.5 ว่า ได้มีการหารือกับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ เพื่อร่วมมือและกำหนดแนวทางแก้ปัญหา โดยในภาคเกษตรจะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการที่จะช่วยลดฝุ่นPM 2.5 ซึ่งจากการหารือได้ร่วมกันกำหนดเป้าหมายหลักแบบมุ่งเป้า  ได้แก่ 10 ป่าอนุรักษ์ 10 ป่าสงวนแห่งชาติ และพื้นที่เกษตรที่ไฟใหม้ซ้ำชาก จะลดป่าเผาไหม้ และพื้นที่เกษตรเผาไหม้ลงร้อยละ 50  พื้นที่ ส่วนเป้าหมายรองเป็นพื้นที่อื่นๆ ที่ต้องลดการเผาไหม้ และควบคุม

พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าวว่า นอกจากนี้จะมีการกำหนดแนวทางบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่เกษตร จัดทำข้อมูลเกษตรกรและจำนวนพื้นที่ กำหนดเงื่อนไขการเผา และประกาศให้รับรู้ ใช้ระบบ BurnCheck ประมวลผล พร้อมทั้งส่งเสริมเกษตรปลอดการเผา โดยเฉพาะในพื้นที่ไร่อ้อย และพื้นที่นาข้าว การบริหารจัดการเศษวัสดุเหลือใช้การเกษตร ในพื้นที่เกษตรรอบโรงไฟฟ้า ชีวมวลในรัศมี 50 กิโลเมตร  การแปรรูปสร้างมูลค่เพิ่ม

“หากเกษตรกรที่จำเป็นต้องเผา ให้ขออนุญาตฝ่ายปกครอง หรือ อปท. ก่อน ฝ่ายปกครอง หรืออปท. อนุญาตเผาตามหลักเกณฑ์ที่ตกลงกัน และกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด ประมวลผล ผ่านระบบ BumCheck จัดตั้งชุดปฏิบัติการประจำพื้นที่ (ระดับอำเภอ) เฝ้าระวัง ออกตรวจป้องปราม ระงับ ยับยั้ง แจ้งเหตุ และระดมสรรพกำลัง เฝ้าระวัง ป้องกันการลักลอบเผา พร้อมกันนี้จะให้มีการนำระบบการรับรองผลผลิตทางเกษตรแบบไม่เผา (GAP PM2s Free) มาใช้เป็นเครื่องมือปรับเปลี่ยนระบบการปลูกพืช และการเปลี่ยนพืชที่มีการเผาให้ปลอดการเผา ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่สูงอ้อย ข้าว กำหนดเงื่อนไขเรื่องการห้ามเผากับมาตรการสนับสนุนต่าง ๆ ของภาครัฐ” พล.ต.อ.พัชรวาทกล่าว 

พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าวอีกว่า สำหรับการแก้ปัญหาฝุ่น PM.2.5 ที่กำลังกลับมาอีกครั้ง หลังจากที่ฤดูฝนกำลังจะหมดไป  โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งมีปัญหารุนแรงด้านมลพิษฝุ่นมาโดยตลอด ค่าฝุ่น PM.2.5 เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ทั้งนี้  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เตรียมความพร้อมปฏิบัติการเชิงรุก มีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศทั่วประเทศ และมีระบบแจ้งเตือนข้อมูลไปยังประชาชน โดยนับจากวันนี้ไปศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศจะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการให้ข้อมูลสถานการณ์ฝุ่นแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง  โดยจะแบ่งออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่  ระดับที่ 1 การรายงานสถานการณ์ประจำวัน และการคาดการณ์ฝุ่น PM2.5 ในทุกวัน ช่วงเวลา 14.00 น. ผ่านช่องทาง Facebook live ของศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประชาชนได้เตรียมพร้อมแนวทางการปฏิบัติตัว    ระดับที่ 2 การรายงานสถานการณ์ประจำสัปดาห์ พยากรณ์สถานการณ์ฝุ่น 7 วันล่วงหน้า เพื่อให้ประชาชนสามารถวางแผนล่วงหน้าในการปฏิบัติตัวในช่วงอาทิตย์นั้น โดยจะเป็นการรายงานร่วมกัน 4 หน่วยงาน ได้แก่ กรมประชาสัมพันธ์ กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงสาธารณสุข และ ผู้ว่าราชการจังหวัด

พล.ต.อ.พัชรวาท  กล่าวต่อว่า  ระดับที่ 3 เป็นการรายงานกรณีพิเศษเมื่อมีเหตุการณ์วิกฤตในกรณีสถานการณ์ PM2.5 เข้าขั้นส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพ หรือมีเหตุการณ์ที่สำคัญ เช่น ปัญหาหมอกควันข้ามแดนเข้ามามีผลกระทบต่อประเทศไทย จะให้ ศกพ. รายงานสถานการณ์ต่อประชาชนที่อาจจะได้รับผลกระทบ พร้อมทั้งแนวทางการปฏิบัติตน และระดับที่ 4 กรณีมีประเด็นที่ประชาชนให้ความสนใจเป็นพิเศษ จะจัดให้มีการสื่อสาร เสวนา โดย ศกพ. เชิญนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ มาให้ความรู้ และความเข้าใจต่อประชาชนผ่านช่องทางต่างๆ

“เพื่อเป็นการรับมืออย่างทันท่วงที และดูแลผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน ทส. จึงเร่งยกระดับมาตรฐานการแจ้งเตือนประชาชนให้รวดเร็วและมีความเข้มข้นมากกว่าปีที่ผ่านมา ผ่านทุกช่องทาง  เพื่อให้ทราบถึงระดับฝุ่น PM.2.5 ณ ปัจจุบันและการพยากรณ์ล่วงหน้า ประชาชนได้เตรียมพร้อมรับมือได้ล่วงหน้าอย่างถูกวิธี  ตลอดจนสร้างความรู้ ความเข้าใจเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหากับภาครัฐ” พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าว 

แสดงความเห็น