“กัลยา” ชี้ โครงสร้างอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เป็นพื้นฐานพัฒนา “สมาร์ท ซิตี้ – การศึกษา -การแพทย์ทางไกล” “ภาดาท์” ระบุ พบปัญหาเยาวชนเล่นเน็ตตอนดึกเสี่ยงเกิดอันตราย แนะ เพิ่มการตรวจตรา หรือเพิ่มแสงสว่างจุดล่อแหลม
คณะกรรมาธิการการสื่อสารโทรคมนาคมและดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ กมธ.ดีอีเอส นำโดย น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ส.ส.สระบุรี พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการฯ พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ, นายกฤษฎา ตันเทอดทิตย์ และคณะ ได้ลงพื้นที่เกาะติดการตรวจสอบโครงการการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ห่างไกล(Zone C) และพื้นที่ชายขอบ(Zone C+) ณ ศูนย์ให้บริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะประจำหมู่บ้าน (USO net) ภายในโรงเรียนบ้านสหกรณ์ 2 ต.สหกรณ์ อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ โดยมีนายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ให้การต้อนรับ
โดยน.ส.กัลยา ให้สัมภาษณ์ว่า การลงพื้นที่ในวันนี้ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เนื่องจากที่ผ่านมาเราได้เดินทางไปดูโครงการดังกล่าวในพื้นที่ภาคอีสานมาแล้ว ทำให้ได้เห็นปัญหาอุปสรรคสำหรับโครงการที่ครอบคลุมยิ่งขึ้น ซึ่งกมธ. ดีอีเอส ได้ฝากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงาน กสทช. รวมถึงบริษัทผู้ดำเนินโครงการ ให้ดำเนินการปรับปรุงเพื่อให้การให้บริการอินเทอร์ความเร็วสูงเกิดประสิทธิภาพสูงสุด เนื่องจากโครงการ USO net และโครงการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ห่างไกลทั้ง Zone C และ Zone C+ จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ที่สามารถนำไปต่อยอดเป็นโครงการอื่นๆได้อีกมากมาย เช่น โครงการสมาร์ท ซิตี้ รวมถึงในด้านการศึกษา ก็มีดัชนีชี้วัดที่ทำให้เห็นว่าเมื่อมีอินเทอร์เน็ตเข้าไปถึงพื้นที่ไหนเด็กๆ จะมีการใช้เพื่อการศึกษาหาความรู้มากขึ้น แต่แน่นอนก็มีบ้างที่เด็กจะเล่นเกม แต่ทำให้เขาไม่กลัวเทคโนโลยี ดังนั้นผู้ใหญ่มีส่วนสำคัญในการแนะนำเพื่อให้เด็กๆใช้อินเทอร์เน็ตในทางที่เหมาะสม ซึ่งจะเกิดประโยชน์อย่างมาก รวมถึงการใช้เพื่อการแพทย์ทางไกล ซึ่งในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ตอนนี้อยู่ในช่วงการดำเนินการ คาดว่าในอีก 2-3 เดือน จะสามารถให้เปิดให้บริการได้ในบางพื้นที่ของโรงพยาบาบส่งเสริมสุขภาพตำบล
ด้าน น.ส.ภาดาท์ วรกานนท์ โฆษก กมธ.ดีอีเอส กล่าวว่า อย่างไรก็ตามจากการลงพื้นที่ครั้งนี้ ในส่วนของ ศูนย์ให้บริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะประจำหมู่บ้าน (USO net) ภายในโรงเรียนบ้านสหกรณ์ 2 นั้น พบว่าเป็นการเปิดให้บริการอย่างสมบูรณ์แล้ว โดยผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ก็จะเป็นเด็กนักเรียน เนื่องจากศูนย์ตั้งอยู่ในบริเวณโรงเรียน ทำให้เกิดปัญหาความหนาแน่นในการใช้บ้าง ซึ่งเราแนะนำให้มีการบริหารจัดการเพื่อให้เด็กๆ ได้ใช้อย่างทั่วถึง หรือให้พิจารณาในการเพิ่มอุปกรณ์ต่อไป ส่วนสัญญาอินเทอร์เน็ตที่ผ่านมายังไม่มีปัญหาอะไรที่จะเป็นผลกระทบอย่างเห็นได้ชัด สำหรับอินเทอร์เน็ตในพื้นที่หากไกล(Zone C) และพื้นที่ชายขอบ(Zone C+) ของจังหวัดเชียงใหม่ได้รับข้อมูลจาก กสทช. ว่าผู้ให้บริการได้ติดตั้งจุดปล่อยสัญญา wifi ได้ครบทุกหมู่บ้านแล้ว แต่อาจจะไม่ครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ เนื่องจากบางหมู่บ้านมีพื้นที่กว้างกว่าที่สัญญาณจะครอบคลุมไปถึงได้ แต่พบปัญหาที่น่าเป็นห่วงคือเด็กๆ หรือเยาวชน เข้ามาใช้ในยามวิกาล ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายได้ ซึ่งกรรมาธิการฯ ก็ได้กำชับให้ผู้เกี่ยวข้องได้มีการตรวจตราให้ดี หรือหากจะมีการเพิ่มแสงไฟในจุดหล่อแหลมสามารถดำเนินการได้หรือไม่อย่างไร นอกจากนี้ก็พบปัญหาในเรื่องสัญญาณมีความไม่เสถียรอยู่บ้าง หรือสัญญาณขาดหายบ้าง เนื่องจากอาจจะมีการอัพเกรดชุมสายหลักของผู้ให้บริการ ตรงนี้ต้องยอมรับว่ามีปัญหาอยู่บ้าง แต่ก็เป็นเหมือนที่เราใช้อินเทอร์เน็ตอยู่ที่บ้าน ก็มีบางช่วงที่สัญญาณขาดหาย ต้องมารีสตาร์ทสัญญาณใหม่ แต่ก็จะเป็นผลกระทบในเวลาอันสั้น เนื่องทางกสทช. ได้มีการกำกับคุณภาพของการให้บริการอยู่