ยธ.ลุยแก้กม.ยาเสพติด ยก บ้านนาสารโมเดลคุมกระท่อม


นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม พร้อมด้วยนายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล รองเลขาธิการ ป.ป.ส. และนายวิชัย ไชยมงคล ที่ปรึกษา ป.ป.ส. พร้อมคณะ ลงพื้นที่โรงเรียนท่าชีวิทยาคม ต.น้ำพุ อ.บ้านนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อเปิดโครงการศึกษาวิจัยเพื่อสำรวจและจัดทำฐานข้อมูลพืชกระท่อมพื้นที่นำร่อง ต.น้ำพุ อ.บ้านนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี โดยมีหน่วยงานราชการท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และชาวบ้านในพื้นที่รอต้อนรับ 

โดยนายสมศักดิ์ กล่าวกับชาวบ้านว่า ขณะนี้กำลังเร่งดำเนินการแก้กฎหมาย พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษปี 2522 ปลดล็อคพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ เพราะกระท่อมมีสรรพคุณบรรเทาอาการปวด ใช้แทนมอร์ฟีน แต่สามารถออกฤทธิ์ได้ดีกว่ามอร์ฟีน 13-17 เท่า และนำไปใช้บำบัดเลิกยาบ้า ยาไอซ์ นอกจากนี้ยังสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านที่เพาะปลูก ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชน เนื่องจากกระท่อมสามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย ทั้งยาแคปซูลแก้ปวดเมื่อย และเป็นส่วนผสมในเครื่องดื่มชูกำลัง ทั้งนี้ต้องขออนุญาตจากทางอย.ก่อน ซึ่งจะมีการหารือกับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อทำ MOU กันต่อไป 


นอกจากนี้ ยังมีรายงานสถิติผู้ถูกจับกุมคดีครอบครองพืชกระท่อมในปี 2562 มากถึง 60,000 คดี คิดเป็นความเสียหายจากคดีมากถึง 1,800 ล้านบาทต่อปี ทำให้ภาครัฐมีค่าใช้จ่ายทางคดีให้กับตำรวจ อัยการ และศาล ประมาณคดีละ 30,000 บาท หากกระท่อมไม่เป็นยาเสพติด จะประหยัดงบประมาณรัฐไปได้อย่างมหาศาล

นายสมศักดิ์ ย้ำด้วยว่า จะเร่งดำเนินการปลดล็อคพืชกระท่อมให้แล้วเสร็จภายในกลางปีนี้ โดยผลการประชาพิจารณ์เมื่อวันที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา ออกมาเห็นด้วย 99% และในวันที่ 22 ม.ค.นี้จะนำเสนอร่างพ.ร.บ.ให้สำนักงาน ป.ป.ส. พิจารณา และคาดว่าจะเสนอเข้าครม.ได้วันที่ 3 มี.ค. จากนั้นจะส่งคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา ก่อนนำกลับเข้าครม. เสนอเข้าสภาตามขั้นตอนต่อไป คาดว่าสภาจะพิจารณาแล้วเสร็จประมาณเดือนมิ.ย.นี้

ด้าน นายสงคราม บัวทอง กำนันต.น้ำพุ อ.บ้านนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี บอกว่า ที่นี่เป็นพื้นที่เดียวในประเทศไทย ที่ป.ป.ส. อนุญาตให้ปลูกกระท่อมเพื่อการวิจัยตั้งแต่ปี 2559 โดยมีการควบคุมพืชกระท่อมกว่า 1,500 ต้น ปลูกอยู่ในพื้นที่ 6 หมู่บ้านของ ต.น้ำพุ ประกอบด้วย หมู่ 1 บ้านยางอุง หมู่ 2 บ้านน้ำพุ  หมู่ 3 บ้านนายาว-ดอนสร้อยทอง หมู่ 4 บ้านดอนทราย หมู่ 5 บ้านหนองต้อ และหมู่ 6 บ้านควนใหม่ โดยมีการควบคุมการปลูกพืชกระท่อมอย่างเข้มงวด ติดบาร์โค้ดทำข้อมูลทุกต้น และมีการกำหนดกติกาประชาคมระดับตำบลควบคุมกันเองอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งชาวบ้านรอคอยให้การปลดล็อคพืชกระท่อมมานาน ที่ผ่านมาได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการศึกษาวิจัยพืชกระท่อม เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ หลังจากนี้จะส่งรายงานการวิจัยไปที่ ป.ป.ส. ภาค 8 และรายงานต่อรมว.ยุติธรรมต่อไป 

จากนั้นรมว.ยุติธรรม พร้อมคณะ เดินทางไปดูต้นกระท่อมแฝดอายุกว่า 100 ปี ของนายสุจิน ชูชาติ อายุ 74 ปี ชาวบ้านวังหล้อ ต.นาสาร ซึ่งเป็นคนเฒ่าคนแก่ที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับต้นกระท่อมมานาน โดยนายสุจินเล่าว่า ต้นกระท่อมแฝดนี้อยู่คู่กับชุมชนมาตั้งแต่เกิด และเคยใช้ประโยชน์ในการรักษาโรคปวดท้อง ขณะที่นางเพลินพิศ แซ่เขา อายุ 54 ปี บอกว่า ตนป่วยเป็นโรคเบาหวาน จึงต้มน้ำใบกระท่อมกิน ทำให้ระดับน้ำตาลดีขึ้น แต่ยังมีความห่วงใยว่าหากมีชาวบ้านถูกจับกุมคดีครอบครองใบกระท่อมระหว่างรอแก้กฎหมายจะทำอย่างไร ซึ่งรมว.ยุติธรรมรับปากว่า จะให้ยุติธรรมจังหวัดเข้าไปช่วยดูแลเรื่องการประกันตัว ส่วนในระยะเวลา 3-6 เดือนข้างหน้า หากไม่สามารถทำได้ จะนำเงินมาจ่ายให้ประชาชนที่ร่วมกันปลูกและดูแลต้นกระท่อม หรือไม่ก็จะโค่นทิ้ง

แสดงความเห็น