“กมธ.ดีอีเอส” ควง “ทรู” ลุยขึ้นดอยเชียงราย สำรวจสัญญาณโทรศัพท์ พร้อมตั้งเสาสัญญาณให้ปชช. 

“กมธ.ดีอีเอส” ควง “ทรู” ลุยขึ้นดอยเชียงราย สำรวจสัญญาณโทรศัพท์ พร้อมตั้งเสาสัญญาณให้ปชช. ชี้ การมีสัญญาณช่วยลดเหลื่อมล้ำ -การศึกษา-ค้าขายออนไลน์ ตั้งเป้า เร่งขยายเสาสัญญาณในพื้นที่ห่างไกลอีก เล็งของบ USO NET ตั้งโครงข่ายสัญญาณ

น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ส.ส.สระบุรี พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม  และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ กมธ.ดีอีเอส กล่าวว่า เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ตนเองพร้อมด้วย นายสยาม หัตถสงเคราะห์ รองประธาน กมธ.ดีอีเอส พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กมธ.ดีอีเอส พร้อมด้วย นายวิสิษฐ์ เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย นายวราดิศร อ่อนนุช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านรัฐกิจสัมพันธ์ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น,  ตัวแทน บ.ดีแทค, บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ และ กสทช. ร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบการให้บริการโทรศัพท์ในพื้นที่อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย 

โดยคณะกรรมาธิการฯ กมธ.ดีอีเอส ได้นั่งรถแบบขับเคลื่อน 4 ล้อ กว่า 1 ชั่วโมงครึ่ง ขึ้นไปยังบ้านห้วยมะเกลี้ยง(ห้วยไคร้) ตำบลป่างิ้ว อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย เพื่อตรวจสอบคุณภาพสัญญาณโทรศัพท์ และสำรวจพื้นที่ ที่ยังไม่มีสัญญาณ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า ประชาชนในพื้นที่นี้ กว่า 40 หลังคาเรือน ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ใช้ ตามที่ส่งหนังสือขอความช่วยเหลือมายังกมธ.ดีอีเอส ทาง ทรู คอร์ปอเรชั่น จึงได้มีการช่วยเหลือ ด้วยการตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์ ทำให้ประชาชน ได้มีสัญญาณโทรศัพท์ไว้ใช้ติดต่อสื่อสารได้แล้ว นอกจากนี้ ยังมีการแจกซิมทรูฟรี ให้กับประชาชน จำนวน 200 เบอร์ พร้อมเติมเงินให้เบอร์ละ 100 บาท ด้วย

น.ส.กัลยา กล่าวว่า วันนี้ กมธ.ดีอีเอส ได้เดินทางมาทั้งหมด 7 คน พร้อมทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันตรวจสอบสัญญาณโทรศัพท์ ซึ่งวันนี้ ตนรู้สึกยินดี ที่ประชาชนบ้านห้วยมะเกลี้ยง ได้มีเสาสัญญาณโทรศัพท์ใช้แล้ว เพราะจากที่กมธ.ดีอีเอส ได้รับหนังสือขอความช่วยเหลือ ก็เร่งประสานจนทำให้ประชาชนในพื้นที่นี้ ได้มีสัญญาณโทรศัพท์ใช้ โดยเป็นสิ่งน่ายินดี ที่กมธ.คณะนี้ มีการทำงานระหว่างพรรคการเมือง ที่ไม่มีความขัดแย้ง จึงทำให้การช่วยเหลือประชาชนสำเร็จ ขณะเดียวกัน ตนขอขอบคุณทรู คอร์ปอเรชั่น ที่สนับสนุนเสาสัญญาณ ทำให้ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ช่วยการศึกษา และสร้างอาชีพ เพราะยุคนี้ เราใช้เทคโนโลยี ในการดำรงชีวิต อาทิ การค้าขายออนไลน์ ดังนั้น การทำให้มีสัญญาณโทรศัพท์ จึงเป็นการช่วยสร้างความเท่าเทียม ซึ่งจากนี้ กมธ.ดีอีเอส ก็จะเร่งประสานขยายเสาสัญญาณ ไปยังพื้นที่ขาดสัญญาณให้ได้มากที่สุด

นางดรุณี วงค์ก๋อง ชาวบ้านห้วยไคร้ กล่าวว่า ขอบคุณบ.ทรู ที่มาทำการติดตั้งสัญญาณทำให้สามารถติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอกโดยเฉพาะการติดต่อกับครอบครัวลูกสาวที่ไปเรียนในเมืองทำให้ได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น ลดความคิดถึงลงได้ สามารถวีดิโอคอลถึงกัน เป็นชีวิตที่อบอุ่นมากขึ้น นอกจากนี้ ยังสามารถขายของท้องถิ่นได้เพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่รอเพียงนักท่องเที่ยวที่นานๆครั้งจะเดินทางขึ้นมาท่องเที่ยว แต่ปัจจุบันลูกค้าสามารถสั่งออร์เดอร์ผ่านออนไลน์ได้ทุกวัน และจำนวนมาก ทำให้สามารถวางแผนขายสินค้าได้ด้วย รวมถึงได้ถ่ายภาพธรรมชาติของหมู่บ้านลงในโซเชียลมีเดียประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวได้ทำให้นักท่องเที่ยวรู้จักเข้ามาในพื้นที่มากขึ้น ทำให้เศรษฐกิจชุมชมดีตามไปด้วย ที่สำคัญคือช่วยด้านการศึกษา ที่เด็กๆสามารถหาข้อมูลประกอบการเรียนได้

ด้าน นายจักรกฤษณ์ กล่าวว่า ในนามทรู เรามีหน้าที่เชื่อมโยงให้ประชาชน รับรู้ข่าวสาร ติดต่อสื่อสารกันได้ ซึ่งปัจจุบันเรามีโครงข่าย 98% ครอบคลุมทั่วประเทศ ส่วน 2% ที่เหลือ เราก็จะเร่งขยายให้ครอบคลุม โดยเมื่อมีการร้องขอ เราก็รู้สึกยินดี สนับสนุนให้พื้นที่นี้ มีสัญญาณโทรศัพท์ใช้ทันที

ทั้งนี้ น.ส.กัลยา ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า กมธ.ดีอีเอส ได้ลงพื้นที่มาเพื่อส่งมอบสัญญาณโทรศัพท์ ระหว่างทรูฯให้กับประชาชนในพื้นที่บ้านห้วยมะเกลี้ยง เพราะประชาชน จำนวน 3 หมู่บ้าน ได้ส่งเรื่องมายังกมธ.ว่า ยังไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ สร้างความเดือดร้อน เนื่องจากถูกตัดขาด ไม่สามารถติดต่อสื่อสารได้ กมธ.จึงมีการช่วยเหลือผลักดัน ประสานผ่าน กสทช.ให้ดูความเป็นไปได้ ในการสร้างโครงข่ายสัญญาณ จึงมีการตั้งเสาสัญญาณให้ประชาชน ซึ่งกมธ.มีความภูมิใจ ที่ภาคเอกชน มาช่วยสนับสนุน เหมือนเป็นการคืนกำไรสู่สังคม เพราะหากคำนวณความคุ้มค่า ในแง่ของเอกชน คงไม่ได้ ขณะเดียวกัน จากนี้ เราจะเชิญทุกหน่วยงานมาหารือ เพื่อสร้างความเท่าเทียมเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน เพราะชีวิตประจำวัน เราจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีมาช่วย เช่น การท่องเที่ยว ดังนั้น เราอาจจะเสนอใช้งบประมาณจาก โครงการ USO NET มาช่วยสร้างโครงข่ายสัญญาณให้กับประชาชน ที่ยังไม่มีสัญญาณต่อไป

แสดงความเห็น