คลื่นใต้น้ำ “ปชป.” พร้อมระอุแกนนำเร่งสกัด “เลือดไหลออก”

แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ คงโล่งอกกันเป็นแถว หลัง การแถลงข่าวเมื่อวันเสาร์ที่ 26 ก.พ.ที่ผ่านมาของ “ราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์และเลขานุการประธานรัฐสภา ชวน หลีกภัย” ไม่ได้เป็นการแถลงข่าวลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) แต่อย่างใด  หลังมีกระแสข่าว เจ้าตัวน้อยใจที่พรรคประชาธิปัตย์จะไม่ส่งลงเลือกตั้งส.ส.เขต 2 จังหวัดพังงา ทั้งที่ทำงานให้กับพรรคมาสิบกว่าปี

โดย “ราเมศ” แค่ประกาศ ขอลดบทบาทเรื่องการเป็นคณะทำงานฝ่ายกฎหมายในส่วนกลางของพรรค เพื่อเอาเวลาไปลงพื้นที่พบปะประชาชน เพื่อแนะนำตัวเองว่าจะลงสมัครส.ส.พังงา เขตสอง ซึ่งเป็นเขตเลือกตั้งที่เพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งเขต หลังมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญและใช้บัตรเลือกตั้งสองใบ เพราะตอนนี้พรรคยังไม่มีการประกาศหรือเคาะว่าจะส่งใคร ทำให้ยังมีโอกาสอยู่  หลังทำหนังสือแสดงเจตจำนงต่อสองแกนนำพรรคไปแล้วคือ เฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค และเดชอิศม์ ขาวทอง ส.ส.สงขลา รองหัวหน้าพรรครับผิดชอบภาคใต้

เหตุที่แกนนำพรรคปชป.โล่งใจ ที่ ราเมศ ไม่ได้ประกาศลาออกจากพรรค เพียงแต่แค่ลดบทบาทก็เพราะ ที่ผ่านมา พรรคปชป.ในยุค จุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ เป็นหัวหน้าพรรคปชป. มีข่าวเรื่อง

“คลื่นใต้น้ำ-เลือดไหลออก”

จากพรรคออกมาต่อเนื่อง ล่าสุดภายในเดือนกุมภาพันธ์ ก็ลาออกไปอีกสองคนคือ “ถวิล ไพรสณฑ์ อดีตส.ส.หลายสมัย และอดีตประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคปชป.” ที่เป็นนักการเมืองเบอร์ต้นๆ ของประเทศไทยที่มีความรู้และทำงานเรื่องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นมาตลอด ได้ลาออกจากพรรคปชป.ไปอยู่กับ “พรรคก้าวไกล” แทนเพราะมองว่าที่ผ่านมา พรรคปชป.ไม่จริงจังเรื่องการกระจายอำนาจเท่าที่ควร ทั้งที่เป็นพรรคฝ่ายรัฐบาล

จากนั้นต่อมาก็เป็น “สุรเชษฐ์ มาศดิตถ์ อดีตส.ส.นครศรีธรรมราช 7 สมัย” ที่ลาออกจากพรรคเพราะน้อยใจที่พรรคไปเปิดตัวคนอื่นลงสมัครส.ส.นครศรีธรรมราช แต่ทางแกนนำพรรคปชป.สวนมาว่า ก่อนหน้านี้ เป็น สุรเชษฐ์ เองที่บอกกับคนในพรรคว่าจะไม่ลงเลือกตั้งรอบหน้าแล้วหลังเลือกตั้งครั้้งที่แล้วสอบตก เพราะอยากเปิดทางให้คนอื่น ซึ่งหลังลาออกไป ก็ยังไม่มีข่าวว่า สุรเชษฐ์ จะไปอยู่กับพรรคการเมืองใด แม้จะมีข่าวว่า อาจจะไปอยู่กับ นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตรองหัวหน้าพรรคปชป.ที่พรรคสร้างอนาคตไทย

ขณะที่ก่อนหน้านั้นที่ลาออกไปแล้วก็มีหลายระลอกที่มีทั้งออกไปตั้งพรรคการเมืองเองหรือไปอยู่กับพรรคการเมืองอื่นเช่น พรรคพลังประชารัฐ อาทิ กรณ์ จาติกวณิช อดีตรมว.คลัง -พีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค อดีตรมว.ยุติธรรม-นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม -วิทูรย์ นามบุตร อดีตรมว.พัฒนาสังคมฯ -อนุชา บูรพชัยศรี อดีตส.ส.กทม. -นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตรมว.วัฒนธรรม อดีตรองหัวหน้าพรรคปชป. -กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ  อดีตรองนายกรัฐมนตรี -อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต ส.ส.กทม-นาถยา แดงบุหงา อดีตส.ส.กทม. เป็นต้น

ซึ่งหากเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ถ้า “ราเมศ” ลาออกหรือทิ้งระเบิดใส่แกนนำพรรคปชป.ขึ้นมาอีกคน  มีหวัง ได้ปรากฏข่าวเรื่อง เลือดไหลออก ปชป. กลับมาอีกครั้ง ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อพรรคปชป.แน่นอน

ยิ่งกับราเมศ ที่เป็นทั้งโฆษกพรรคปชป.เป็นเลขานุการประธานรัฐสภา ที่ทำงานใกล้ชิดกับผู้ใหญ่ในพรรคมาตลอด แต่หากต้องลาออกไป เพราะพรรคไม่ยอมส่งลงเลือกตั้ง ทั้งที่ทำงานให้กับพรรคมาสิบกว่าปี เป็นทีมงานฝ่ายกฎหมายให้พรรคทำเรื่องสำคัญๆมาตลอด เช่นการเป็นทีมงานสู้คดียุบพรรคปชป. ที่เคยถูกคณะกรรมการการเลือกตั้งร้องศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคปชป.มาแล้ว ตอนโดนเอาผิดเรื่องเงินบริจาค หรือล่าสุดก็เป็นหนึ่งในทีมงานของพรรคปชป. ที่ช่วยยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราของพรรคปชป.เป็นต้น

ดังนั้น หากลูกหม้อของปชป.แบบนี้ ลาออกไป มันจะยิ่งทำให้ ภาพลักษณ์ ปัญหาความขัดแย้ง -คลื่นใต้น้ำในปชป. ยิ่งหนักขึ้นไปอีก

อย่างไรก็ดี ถึงตอนนี้ แม้ ราเมศ จะยังไม่ลาออกจากพรรคปชป. แต่ในอนาคต ก็ยังไม่แน่ ว่าจะเกิดอะไรขึ้น!

เพราะข่าวหลายกระแสบอกว่า “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ หัวหน้าพรรคปชป.”กำลังหนักใจ เพราะก่อนหน้านี้ วางตัว “บำรุง ปิยนามวาณิช อดีตนายกอบจ. พังงา 2 สมัย” ที่ข่าวว่ามีความสัมพันธ์อันดี เป็นหัวคะแนนให้กับ กลุ่มของจุรินทร์ ในพังงา พื้นที่บ้านเกิดของจุรินทร์มาตลอด จนมีข่าวว่า “บำรุง-สายจุรินทร์” มีการพบปะหัวคะแนนในพื้นที่พังงา เพื่อเปิดตัวลงเลือกตั้งในนามพรรคปชป.ไว้แล้ว

จนคนในพรรค นึกว่า “ราเมศ” จะยอมถอยไปลงสมัครในระบบปาร์ตี้ลิสต์แทนและพอใจกับการเป็นโฆษกพรรคปชป.  แต่ปรากฏว่า “ราเมศ” ที่เป็นทีมงานหน้าห้อง ชวน-ประธานรัฐสภา และได้แบ็คอัพอย่าง เสี่ยต่อ-เฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรคปชป. กลับไม่ยอมง่ายๆ ซึ่งอาจเพราะเจ้าตัว ยังมั่นใจว่า สู้ได้และเกมอาจพลิก หากพรรคปชป. ทำโพลถามสมาชิกพรรคปชป.ในพื้นที่เลือกตั้งที่พังงา ตัวเองอาจจะได้คะแนนชนะ “บำรุง-สายจุรินทร์” ก็ได้

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงต้องดูว่า สุดท้าย จุรินทร์กับเฉลิมชัย  จะตัดสินใจอย่างไร

ดูแล้ว ทางออกที่ดีที่สุด ดูแล้ว คงไม่พ้นการทำโพลในพื้นที่เลือกตั้งเขตสอง พังงา  เพื่อวัดกันไปเลยว่า สมาชิกพรรคปชป.ในพื้นที่จะเลือกใครระหว่าง “ราเมศหรือบำรุง” เพราะเป็นการชี้ขาดที่เป็นวิทยาศาสตร์มากที่สุด โดยเมื่อผลโพลออกมา คงทำให้ ทั้งฝ่ายราเมศและบำรุง ยอมรับกันได้หมด ดีกว่าที่จะใช้การตัดสินใจของแกนนำพรรคเพียงไม่กี่คน 

หลังที่ผ่านมา มีการพูดกันว่า การบริหารจัดการทุกอย่างในพรรคปชป. โดยเฉพาะการจัดสรรคนลงเลือกตั้งส.ส.เขตของปชป.ที่มีปัญหากันอยู่โดยเฉพาะที่ภาคใต้ ซึ่งมีคนจะขอลงสมัครกันเยอะ จนเกิดปัญหาพื้นที่ทับซ้อน แต่สุดท้าย ใครจะได้ลง ไม่ได้ลง ก็อยู่ที่การตัดสินใจของ “เพลย์เมกเกอร์” ตัวจริงของพรรคปชป.เวลานี้ที่มีด้วยกันสี่คนคือ

“จุรินทร์-เฉลิมชัย-นิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทยและนายกชาย เดชอิศม์ ขาวทอง รองหัวหน้าพรรคปชป.ภาคใต้ “

อย่างไรก็ตาม ข่าวว่า ไม่ใช่แค่ที่ พังงา เท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายพื้นที่เลือกตั้งที่ต้องจับตาหลังมีข่าวว่า มีการ “ทับซ้อน-เคลียร์กันไม่ลง” เช่น เขต 1 สงขลา ที่ข่าวว่า นิพนธ์ -รมช.มหาดไทย ยืนยันว่าจะดัน สรรเพชญ บุญญามณี ลูกชายลงเลือกตั้งอีกรอบ หลังเลือกตั้งปี 2562 แพ้ให้กับพลังประชารัฐแบบโดนทิ้งห่างหมื่นกว่าคะแนน แม้ที่ผ่าน “เจือ ราชสีห์ อดีตส.ส.สงขลาเขตดังกล่าวที่รอบที่แล้วอดลงเลือกตั้งเพราะแพ้กำลังภายในของกลุ่มนิพนธ์” จะลงพื้นที่อย่างหนักเพื่อขอให้พรรคปชป.ส่งลงเลือกตั้งด้วยเหตุผลว่า ครั้งที่แล้วยอมเปิดทางให้ลูกชาย นิพนธ์ โดยยอมไปลงปาร์ตี้ลิสต์ แต่อันดับส.ส.ไม่ถึง  แต่เมื่อ สรรเพชญ แพ้เลือกตั้งก็ควรเปิดโอกาสให้ตนเองที่เป็นอดีตส.ส.พื้นที่ดังกล่าวได้ลง

จนทำให้มีข่าวว่า เรื่องนี้ กำลังทำให้เกิดการงัดข้อกันอยู่ในพื้นที่สงขลาและในพรรคปชป. แต่คนในพรรคปชป.ประเมินว่า ยังไง เจือ ที่เป็นเด็กปั้นของ ถาวร เสนเนียม อดีตรมช.คมนาคม คงเบียดแทรกได้ยาก

เพราะตอนนี้นิพนธ์ มีบทบาทในพรรคปชป.มาก เป็นทั้งรมช.มหาดไทยและรองหัวหน้าพรรค อีกทั้ง ปัจจุบัน ถาวร ก็ออกจากปชป.ไปแล้ว ทำให้ เจือ ไม่มีแบ็คคอยหนุนหลัง

ก็ต้องดูว่า หากสุดท้าย เจือ ไม่ได้ลง แล้วเขาจะออกจากปชป. ไปอยู่พรรคอื่น เช่น “ไทยภักดี” เพื่อไปอยู่กับ ถาวร ที่ไปปักหลักรออยู่กับหมอวรงค์หลายเดือนแล้ว หรือไม่ ?

ส่วนที่ “ชุมพร” ก็มีข่าวว่ากำลังเริ่มจะระอุเหมือนกัน หลังมีกระเซ็นกระสายมาทำนองว่า “ลูกช้าง-สุพล จุลใส ส.ส.ชุมพร พรรครวมพลังประชาชาติไทย” ที่เป็นพี่ชายของลูกหมี ชุมพล จุลใส จะผละออกจากสุเทพ เทือกสุบรรณ และพรรครปช.เพื่อมาอยู่กับพรรคปชป.ในการเลือกตั้งรอบหน้า หลัง “กลุ่มจุลใส”ของลูกหมี ชุมพล ยืนยันแล้วว่า จะไม่ย้ายไปพรรคพลังประชารัฐ ในการเลือกตั้งรอบหน้า โดยจะปักหลักอยู่กับพรรคปชป.ต่อไป และจะนำพี่ชาย ส.ส.ลูกช้าง สุพล ย้ายมาอยู่กับพรรคปชป.ด้วย เพื่อทำให้ ปชป.ชนะเลือกตั้งยกจังหวัดที่ชุมพร 

โดยมีข่าวว่าดีลนี้ “นายกชาย-เดชอิศม์ ขาวทอง รองหัวหน้าพรรคปชป.ภาคใต้” มีการพูดคุยกับทั้ง “ลูกหมี-ลูกช้าง” ด้วยตัวเอง โดยทิศทางการพูดคุยเป็นไปได้ด้วยดี 

อย่างไรก็ตาม ดีลนี้ คงไม่ง่าย เหมือนที่สงขลา เพราะ หาก สุพล ย้ายจากรปช.มาปชป.จริง ก็ต้องดูว่าทาง “ธีระชาติ ปางวิรุฬห์รักษ์ อดีตส.ส.ชุมพร ปชป.” ที่รอบที่แล้วสอบตกเพราะแพ้ให้กับ ลูกช้างแบบขาดลอย สองหมื่นกว่าคะแนน จะว่าอย่างไร เพราะธีระชาติ เองก็เป็น อดีตส.ส.ชุมพร ปชป.สามสมัย อีกทั้ง ปัจจุบัน ก็ยังมีตำแหน่งการเมืองเป็น ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่เป็นทีมงานหน้าห้องของจุรินทร์ ที่ก.พาณิชย์ ซึ่งหาก ธีระชาติ ยอมเปิดทางให้ กลุ่มจุลใส ก็ต้องดูว่าพรรคปชป.จะจัดทีมที่ชุมพร อย่างไร เพราะหากจัดกันไม่ดี ก็อาจเกิดปัญหาเลือดไหลออกตามมาอีกก็ได้

รวมถึงที่ “ระนอง” ก็เริ่มมีข่าวว่า คลื่นใต้น้ำ ก็แรงเหมือนกัน หลัง จุรินทร์ เปิดตัว “ดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย-นักธุรกิจรุ่นใหม่ในพื้นที่ระนอง” เป็น ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.จังหวัดระนอง ประชาธิปัตย์คนใหม่ แทน “วิรัช ร่มเย็น อดีตส.ส.ระนอง แปดสมัย ปัจจุบันเป็นนายทะเบียนพรรคปชป.”

เพราะแม้ จุรินทร์ จะบอกว่า ได้คุยกับ วิรัช แล้วและวิรัช บอกว่า พร้อมเปิดทางให้คนรุ่นใหม่มาลงแทน แต่ข่าวว่า ในความเป็นจริงแล้ว วิรัช มาทราบทีหลังว่า กลุ่มจุรินทร์ จะเอาคนอื่นมาลงสมัครแทน หลังเลือกตั้งปี 2562 วิรัชพลาดท่า สอบตก แพ้ให้กับ คงกฤษ ฉัตรมาลีรัตน์ จากภูมิใจไทยไปแบบขาดลอย หมื่นกว่าคะแนน โดยกลุ่มจุรินทร์ ไปทาบทาม ดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ได้แรงหนุนจากนักธุรกิจในพื้นที่ระนอง ไว้ก่อนแล้ว โดยไม่บอกให้ วิรัช ที่เป็นเจ้าของพื้นที่เดิมทราบก่อน ทำให้ วิรัช อยู่ในสภาพกลืนเลือด จนมีข่าวว่า อาจจะย้ายพรรคไปอยู่กับ นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติที่พรรคสร้างอนาคตไทย เพราะนิพิฏฐ์กับวิรัช มีความสนิทสนมคุ้นเคยกันมากเพราะเป็นอดีตส.ส.แปดสมัย เข้ามาพรรคปชป.พร้อมกัน

อย่างไรก็ตาม พอมีข่าวว่า วิรัช จะลาออกจากพรรคปชป.ไปพร้อมกับ นิพิฏฐ์เมื่อปลายปีที่แล้ว ทำให้แกนนำพรรคปชป.โน้มน้าวให้วิรัช อยู่กับพรรคปชป.ต่อไปโดยรับปากว่าจะให้บทบาทในพรรคปชป.มากขึ้นและจะส่งลงปาร์ตี้ลิสต์ ในอันดับที่มีสิทธิ์ได้กลับเข้าสภาฯอีกครั้ง ทำให้ วิรัช จึงยังอยู่ระหว่างการตัดสินใจว่าจะอยู่กับพรรคปชป.ต่อไปหรือไม่

นอกจากนี้ข่าวว่า ก็ยังมีอีกหลายพื้นที่เลือกตั้ง ที่ยังมีปัญหาไม่ลงตัว ในการวางตัวผู้สมัคร เช่นที่นครศรีธรรมราช รวมถึงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยะลา-ปัตตานี-นราธิวาส อีกบางเขต ขณะเดียวกันในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร เอง ก็เริ่มมีกระแสข่าวว่า แกนนำพรรคปชป.กำลังดูอยู่ว่า อดีตผู้สมัครส.ส.เขต กทม.ของพรรคปชป.รอบที่แล้ว ซึ่งสอบตกหมด บางเขต ก็อาจต้องมีการปรับเปลี่ยน ตามความเหมาะสม เพราะบางคนตั้งแต่หลังเลือกตั้ง สอบตกมา  ก็ไม่ค่อยมาร่วมกิจกรรมอะไรกับพรรคปชป.แล้ว

ที่สำคัญ อดีตส.ส.-อดีตผู้สมัครรอบที่แล้ว หลายคน ก็ย้ายออกจากพรรคปชป.ไปแล้ว เช่น อนุชา บูรพชัยศรี-อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี-สมชาย เวสารัชตระกูล-พริษฐ์ วัชรสินธุหรือไอติม -พรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ -นาถยา แดงบุหงา เป็นต้น

จึงทำให้ พรรคปชป.กำลังเตรียม จัดทำโผรายชื่อ คนลงส.ส.เขตกทม.ครั้งใหม่ กันหลายพื้นที่ แต่ตอนนี้ ต้องรอให้ผ่านพ้นการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.และสมาชิกสภากทม.ในเดือนพ.ค.นี้ไปก่อน จากนั้นจะได้นำผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.-ส.ก.มาดูกันอีกทีว่า กระแสปชป.ในกทม.ฟื้นหรือยัง และจำเป็นต้องจัดทัพ ทำโผผู้สมัครส.ส.เขตกันอย่างไรต่อไป

เอาเป็นว่า ความเคลื่อนไหวในพรรคปชป.แม้ตอนนี้ดูเหมือน ผิวน้ำในพรรคปชป. ดูจะนิ่งสงบดี แต่ก็จะพบว่า ภายใต้ความนิ่งสงบ ดูเหมือน คลื่นใต้น้ำในพรรคปชป. ที่เคยก่อตัวมาหลายระลอก ก็อาจจะกลับมา ก่อตัวได้อีกเช่นกัน หากคนในพรรคปชป.เปิดศึกงัดข้อกันเอง จากปัญหาหลายๆอย่าง ที่สะสมกันมานาน

แสดงความเห็น