“วิษณุ” ชี้ นายกฯ 8 ปี ต้องจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่แปลกที่หลายฝ่ายอยากรู้ เพื่อเตรียมการ

“วิษณุ” ชี้นายกฯ 8 ปี ต้องจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่แปลกที่หลายฝ่ายอยากรู้ เพื่อเตรียมการ เผย นายกฯยังไม่ถาม ขณะปี 65 ไม่กังวลปัญหาสภาสมัยประชุมนี้  แต่สมัยประชุมหน้าห่วงเรื่องงบประมาณ

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมายของรัฐบาล ให้สัมภาษณ์ถึงการตีความรายงานผลการอยู่ในตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี 8 ปี ตามรัฐธรรมนูญปี 60 จะเริ่มนับในวันที่ 9 มิถุนายน 2562   ซึ่งจะทำให้นายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งต่อไปถึงปี 2570    ว่าเป็นเรื่องของสภาผู้แทนราษฎร ที่จะต้องทำหน้าที่ของเขา  ส่วนคำตอบสุดท้ายขึ้นอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญเป็นวินิจฉัย ซึ่งในส่วนของรัฐบาลต้องปรึกษากฤษฎีกา  แต่ก็ยังไม่ทำ  ซึ่งเป็นการตั้งข้อสงสัยกันมานานแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็มีสิทธิหาคำตอบ  แต่ที่จะต้องให้เกิดความเชื่อถือ เป็นที่ยอมรับกับสาธารณชนต้องมาจากคำวินิจฉัยของผู้มีอำนาจ คือ ศาลรัฐธรรมนูญ    ในส่วนรัฐบาลต้องพึ่งพากฤษฎีกา รัฐสภาก็ทำหน้าที่ของเขา เพราะแม้นายกรัฐมนตรีไม่ใช่ ส.ส.แต่ก็มีที่มาจาก ส.ส.  และจะมีวาระในการเลือกอีกหนึ่งครั้ง   ซึ่งคำตอบที่ชัดเจนและน่าเชื่อถือ  จังหวะเวลาที่เหมาะสมด้วย  สภาทำการบ้านในส่วนของเขา พรรคการเมืองก็ต้องทำส่วนต่างๆ ของเขา แต่คำตอบต้องมาจากศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น ซึ่งนายกรัฐมนตรียังไม่ได้ปรึกษากับตนเอง

ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่สภาออกมาเป็นแนวทางเดียวกับรัฐบาลหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เป็นเรื่องของสภา ไม่ใช่รัฐสภา แต่เป็นเพียงฝ่ายกฎหมาย ส่วนรัฐบาลจะเดินหน้าหรือไม่ ยังไม่ถึงเวลาและยังไม่ได้คุยกฤษฎีกา ส่วนจะรอถึงสิงหาคม 2565 หรือไม่นั้น นายวิษณุก็ย้ำว่า ต้องรอจังหวะที่เหมาะสม   สามารถใช้คำวินิจฉัยที่ออกมาได้

ส่วนที่ฝ่ายค้านจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญ นายวิษณุ กล่าวว่า สามารถยื่นได้ทุกคน   แต่ตอนนี้ปัญหายังไม่เกิดศาลรัฐธรรมนูญจะไม่รับคำถามที่ยังไม่เกิดขึ้น แต่เมื่อเกิดแล้วสายเกินแก้ จึงต้องมีเวลาที่เหมาะสม

ทั้งนี้นายวิษณุ ไม่ตอบว่ากฤษฎีกาต้องใช้เวลานานแค่ไหนในการพิจารณา   และไม่ตอบว่าจะอยู่ทำงานกับนายกรัฐมนตรี ถึงปี 2570 หรือไม่

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในปี 2565 มีอะไรน่ากังวลหรือไม่ เพราะปี 2564 เกิดเหตุการณ์ประชุมสภาล่มบ่อยครั้ง นายวิษณุ กล่าวว่าในปีหน้าสมัยประชุมจะปิดในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 จึงทำให้มีเวลาเหลืออีก  1 เดือน 28 วัน   ซึ่งมีกฎหมายต้องเข้า เช่น  พ.ร.ก.วาด้า   กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ   และกฎหมายหลายฉบับ เป็นกฎหมายที่ต้องเข้าสู่ที่ประชุมร่วมรัฐสภา หลักๆ เป็นกฎหมายปฏิรูป ส่วนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ยังไม่เข้าสมัยประชุมนี้  ดังนั้นสมัยประชุมนี้จะยังไม่มีอะไรที่เข้มงวด แต่สมัยประชุมหน้าประมาณเดือน พฤษภาคม จะมีงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 เข้าสภา และกฎหมายอื่นที่ไม่ใช่กฎหมายปฏิรูป รวมถึงการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี ก็สามารถยื่นในสมัยการประชุมนั้นได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า สถานการณ์ทางการเมืองในเดือนพฤษภาคม จะมีอะไรให้ตื่นเต้นหรือไม่ นายวิษณุ  กล่าวว่า ใน 120 วันดังกล่าว  ที่เปิดสมัยประชุมจะมีกิจกรรมการเมืองหลายอย่างเกิดขึ้นได้   ส่วนกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ผ่านสมัยการประชุมช่วงเดือนพฤษภาคม จะทำให้มีเสียงเรียกร้องเรื่องยุบสภาหรือไม่  นายวิษณุ กล่าวว่าทุกวันนี้ก็มีเรียกร้องให้ยุบสภา  แต่จะตอบสนองกระแสได้หรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะบางทีอยากสนองก็สนองไม่ได้ แม้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญจะแล้วเสร็จ มีผลใช้บังคับแล้ว ตามข้อกำหนดของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ถ้าไปดูกฎหมายลูก จะยุบสภาก่อนก็ทำได้  แต่กฎหมายบางอย่างมีเรื่องของกำหนดระยะเวลา  เช่น การแบ่งเขตเลือกตั้ง ที่มีกำหนดระยะเวลา   หากจะเกิดอุบัติเหตุอะไรเสียก่อน   ภายใน 90 วันคงไม่ได้   ต้องรอผลของกฎหมายลูก รวมทั้งไม่ใช่แต่เป็นเจ้าภาพเอเปค  ยังมีการประชุม G20 ที่อินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพ  ซึ่งโดยความคาดหมายของนานาประเทศในการประชุมเจรจากับรัฐบาลที่มีอำนาจเต็ม    แต่หลังจากนั้นจะเป็นรัฐบาลใดก็ได้  พร้อมย้ำว่าทุกคนรู้ว่าเป็นอย่างไร

ผู้สื่อข่าวถามว่า ระหว่างการทำกฎหมายลูกและยังไม่มีผลบังคับใช้  และเกิดการยุบสภา นายวิษณุ   กล่าวว่า ยุบได้แต่จะเกิดปัญหา กติกาไม่ชัดเจน  เพราะในรัฐธรรมนูญได้เขียนไว้ว่าหากจำเป็นต้องยุบสภา และยังไม่มีกฎหมายลูกให้ กกต.เป็นผู้วางระเบียบ  ซึ่งตอนนี้ข้อความดังกล่าวในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ได้ถูกตัดทิ้งไปแล้ว   เพราะไม่มีใครเห็นด้วย   จึงต้องอาศัยกฎหมายลูกเท่านั้น    และหากจะใช้ช่องทางออก พ.ร.ก.มาแก้ขัดไปก่อน   วิษณุ ระบุว่าเป็นความเสี่ยงมาก เพราะการออก พ.ร.ก.เป็นการกำหนดของรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียว สภาจะยอมหรือไม่   ถ้าหากรัฐบาลเป็นคนวางกติกาโดยที่สภาไม่มีสิทธิ์เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ แต่หากเขาไม่รับแล้วการเลือกตั้งผ่านไปเกิดปัญหาจะทำอย่างไร หาก พ.ร.ก.นั้นไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งที่ผ่านไปแล้ว ลงทุนไป 6 พันกว่าล้านบาทก็จะเป็นปัญหา

แสดงความเห็น