คณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคมและดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ กมธ.ดีอีเอส ลงพื้นที่จังหวัดหนองคายเป็นวันที่สองโดย น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ส.ส.สระบุรี พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานกรรมาธิการฯ ให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้ กมธ.อีดีเอส ได้ติดตามตรวจสอบการใช้บริการอินเทอร์เน็ตตามแนวชายขอบ หรืออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ห่างไกล (Zone C) การให้บริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะประจำหมู่บ้าน (USO net) รวมถึงการตรวจสอบคุณภาพสัญญาณรบกวนคลื่นความถี่การใช้บริการสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามแนวชายแดน ณ ด่านศุลกากรและจุดตรวจสะพานมิตรภาพไทย-ลาว และตลาดท่าเสด็จ(ตลาดอินโดจีนหนองคาย) ซึ่งกรรมาธิการฯ เห็นเรื่องคุณภาพสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ สัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เป็นสิ่งสำคัญมากในการเตรียมพร้อมของเมืองหนองคายที่จะต้องรองรับประชาชน นักท่องเที่ยว ทั้งไทยและต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีนตอนล่างที่จะเข้ามาจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจังหวัดหนองคายจะเป็นด่านแรกที่จะต้องตรวจรับคนเข้ามาในประเทศ ดังนั้นหากเทคโนโลยีดิจิทัล สัญญาณโทรศัพท์ อินเทอร์เน็ตมีคุณภาพ ก็จะทำให้การตรวจคน ตรวจสิ่งของสินค้า ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว สร้างความมั่นคงปลอดภัยให้กับทั้งคนหนองคายและนักท่องเที่ยว
ด้านนายกฤษฎา ตันเทอดทิตย์ ส.ส.หนองคาย พรรคเพื่อไทย ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า จังหวัดหนองคายถือเป็นจุดรับสำคัญ เนื่องจากรถไฟความสูงจากจีนจะมาหยุดที่กรุงเวียงจันทร์ ประเทศลาว ดังนั้นคนจีนก็จะข้ามมาที่จังหวัดหนองคาย เราจึงต้องเตรียมการต้อนรับ ที่ผ่านมาเราได้มีการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล วางระบบเพย์เม้นท์ต่างๆ ไปบ้างแล้ว เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจีนที่จะเข้ามาทางจังหวัดหนองคาย รวมถึงการพัฒนาหนองคายให้เป็น Smart city เพื่อที่จะดูแลนักท่องเที่ยว ดูแลธุรกิจที่จะไปลงทุนในหนองคาย ให้ได้รับความสะดวกสบาย ที่สำคัญคือเรื่องความปลอดภัย
นายกฤษฎา กล่าวต่อว่า สำหรับการตรวจสอบการบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ห่างไกล (Zone C) การให้บริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะประจำหมู่บ้าน (USO net) ต้องบอกว่าโครงการดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนอย่างมาก ในการเอื้ออำนวยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ง่ายและรวดเร็ว สามารถเข้าถึงการศึกษาออนไลน์ได้ตลอดเวลา และอนาคตจะพัฒนาไปสู่การเกษตรให้เป็นการเกษตรยุคดิจิทัล ใช้อินเทอร์เน็ตเข้ามาช่วยด้านการผลิต การรักษาคุณภาพสินค้า การขาย การขนส่ง ซึ่งหากอินเทอร์เน็ตเราสามารถทำให้เข้าถึงประชาชนได้ในทุกหมู่บ้าน ทุกชุมชน แล้วประชาชนสามารถใช้บริการได้อย่างเต็มที่ เต็มประสิทธิภาพ จะช่วยพัฒนาทั้งเรื่องคน เรื่องการศึกษา ด้านธุรกิจ และจะส่งผลให้เศรษฐกิจชุมชนขยายตัวดีขึ้น
“แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นผมในฐานะคนพื้นที่ ได้รับข้อมูลจากประชาชนที่ได้ใช้งานจริง ทราบว่าอินเทอร์เน็ตในบางจุด ยังคงทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ บางจุดคอนเน็คได้บ้าง ไม่ได้บ้าง บางจุดไม่มีความเสถียรของสัญญาณ ตรงนี้ก็เป็นปัญหาอุปสรรคในการใช้บริการของประชาชน ทำให้เขาขาดโอกาสที่จะเข้าถึงข้อมูล เข้าถึงแหล่งความรู้ ได้เท่าทันกับคนอื่นๆ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำกันอยู่ในด้านการเข้าถึงเทคโนโลยีของคนในเมืองกับคนชนบท แน่นอนว่าเป็นหน้าที่ของกมธ. เราที่จะต้องติดตามตรวจสอบ และช่วยในการแก้ปัญหาตรงนี้ โดยจะกำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เข้ามาดำเนินการแก้ไขปรับปรุง” ที่ปรึกษากมธ.ดีอีเอส กล่าว
ส่วนการตรวจสอบคุณภาพสัญญาณรบกวนคลื่นความถี่การใช้บริการสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามแนวชายแดน พบว่ายังมีบางจุดตามแนวชายแดนเลียบแม่น้ำโขง ที่สัญญาณโทรศัพท์จากฝั่งประเทศลาวมีความแรงกว่าสัญญาณโทรศัพท์ของไทย ทำให้ประชาชนหรือนักท่องเที่ยว ที่ไม่ทราบและไม่ทันระวัง จึงไม่ได้ปิดระบบโรมมิ่งที่โทรศัพท์ทำให้โทรศัพท์มือถือไปจับสัญญาณของประเทศลาว ตรงนี้จะส่งผลให้ผู้ใช้บริการอาจต้องเจอกับการเรียกเก็บค่ามือถือที่แพงกว่าปกติ เพราะระบบคิดว่าเป็นการใช้โทรศัพท์ในต่างประเทศ ซึ่งเรื่องนี้ทางกรรมาธิการฯ ได้รับทราบปัญหา และมีความเป็นห่วงต่อประชาชนผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือ จึงจะได้ประสานไปยังผู้ให้บริการหรือหน่วยงายที่เกี่ยวข้อง ให้เร่งหาแนวทางแก้ไขที่เป็นระยะยาว แต่ต้องไม่กระทบต่อประชาชนคนไทยที่ใช้บริการโทรศัพท์มือถือตามปกติ อย่างไรก็ตามทั้งเรื่องอินเทอร์เน็ตชายขอบ อินเทอร์เน็ตชุมชน(USO net) รวมถึงความแรงของสัญญาณมือถือจากประเทศเพื่อนบ้าน ถือเป็นปัญหาสำคัญ ซึ่งทางกรรมาธิการฯ จะได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุม โดยจะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล ถึงสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งหาแนวทางแก้ปัญหาต่อไป