“เศรษฐพงค์” เตือน ระวังข่าวลวงเทคโนโลยี5G ปั่นกระแสให้น่ากลัวฉวยโอกาสขายของ แนะหาข้อมูลให้รอบด้านวิเคราะห์ตามหลักความเป็นจริง
พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย และรองประธานกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้สัมภาษณ์ว่า จากการประชุม GLORE2020 Global Coordination of Research and Health Policy on RF Electromagnetic Fields) ระหว่างวันที่ 11-12 พ.ย. เป็นการประชุมนานาชาติเกี่ยวกับการวิจัยและความร่วมมือในเรื่องนโยบายสุขภาพบนสนามคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า โดยปีนี้เป็นปีแรกที่มีการจัดออนไลน์ใช้เวลาที่แคนาดาเป็นหลัก แต่ตัวแทนของ Telstar ผู้ให้บริการ 5G จากออสเตรเลียได้พูดในประเด็นที่น่าสนใจเรื่องประสบการณ์ 5G ได้รับการต่อต้านจากประชาชนในความเชื่ออย่างไม่มีเหตุผลเช่น 5G ยังไม่ได้มีการทดสอบว่ามีอันตรายต่อสุขภาพ เป็นแหล่งปล่อยไวรัส Covid-19 เมืองไหนมี 5G ก็จะมีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก เช่น สหรัฐอเมริกาติดตั้ง 5G เป็นประเทศแรก ๆ ของโลก ทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดเป็นจำนวนมาก หรือหลายเมืองในยุโรปก็มีการระบาดตามเมืองที่มีการติดตั้ง 5Gส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ต้นไม้ไม่เจริญเติบโต หรือเป็นเหตุให้นกจำนวนมากตายลง
พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวอีกว่า นอกจากมีการปั่นกระแสเรื่องความน่าหวาดกลัวของ 5G ให้กับประชาชน มีคนที่ฉวยโอกาสในการสร้างเรื่องอุปกรณ์ Anti-5G Bio Shield ที่หน้าตาคล้าย USB Drive โดยมีการโหมสร้างความน่าเชื่อถือว่า อุปกรณ์ตัวนี้มีเทคโนโลยี Quantum holographic catalyzer technology ที่จะสร้างม่านครอบตัวผู้ใช้ที่มองไม่เห็น มีความสามารถป้องกันอันตรายให้กับผู้ใช้ได้เป็นอย่างนี้ ซึ่งได้มีการสร้างความน่าเชื่อถือขึ้นไปอีกเป็นการสร้างเอกสารที่คล้ายจะเป็นวิชาการจำนวน 25 หน้า ที่อธิบายสรรพคุณของอุปกรณ์ตัวนี้ มีการบอกระยะของการครอบคลุมป้องกันคลื่น 5Gโดยทาง BBC ได้มีการนำอุปกรณ์ตัวนี้มาผ่าดูผลปรากฏว่าอุปกรณ์ป้องกันคลื่น 5G นี้ไม่มีอะไรแตกต่างไปมากกว่า USB Stick ธรรมดาๆ เป็นการฉวยโอกาสสร้างกระแสความกลัวในเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผล มีการเปิดเว็ปไซต์ 5GBioShield เพื่อสร้างความเข้าใจในเรื่อง5G อันตรายต่อสุขภาพอย่างผิดๆ และเป็นช่องทางการจัดจำหน่ายโดยยังไม่ได้มีใครไปดำเนินการกับเวปไซด์อันนี้อยู่
“สิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นข่าวลวง ซึ่งทุกวันนี้ยังมีออกมาทุกวัน และที่น่าแปลกใจคือมาจากประเทศที่เจริญแล้ว ซึ่งบางครั้งมาจากเว็ปไซต์ต่างๆที่ต้องการยอดคลิ๊ก การจะเชื่ออะไรต้องฟังข้อมูลอย่างรอบด้านและต้องระวังเรื่องการส่งต่อให้ความเข้าใจผิดๆ ส่วนประเด็นที่อาจก้ำกึ่งฟังดูอ่านจะมีความเป็นไปได้หรือเป็นประเด็นข้อกังวลสงสัยอาจใช้วิธีหาข้อมูลอื่นๆ ประกอบหรือแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือได้ ทั้งนี้ถ้าประเด็นข้อกังวลใดมีผลกระทบผู้คนเป็นวงกว้างย่อมจะมีข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศยืนยันความชัดเจนเเละถูกต้อง ซึ่งเราควรดูข้อมูลจากตรงนั้นเป็นหลัก” พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าว