“เศรษฐพงค์” แนะ รัฐ-กสทช. เตรียมพร้อมสร้างบริการ “Broadband Satellite” ส่งเสริมเด็กรุ่นใหม่เป็นผู้ให้บริการ เข้าถึงคนชนบทอย่างแท้จริง เกิดการแข่งขัน ราคาถูกลง-ลดการกระจุกตัวในเมือง แนะส่งเสริมเด็กจบใหม่ ตั้งกองทุน Crowd Funding เปิดขอทุนไปตั้งธุรกิจท้องถิ่น
พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะรองประธานกรรมาธิการโทรคมนาคม การสื่อสาร และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ให้สัมภาษณ์ว่า จากช่วง Covid-19 ที่ผ่านมาจะมีความต้องการที่จะใช้อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์เป็นจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งบริการบรอดแบนด์ผ่านดาวเทียม (Broadband Satellite) นับเป็นตัวเลือกที่สำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกล แต่ประเด็นสำคัญคือเรื่องของราคาค่าใช้บริการ โดยพื้นฐานแห่งความเป็นจริงในแต่ละครัวเรือนในพื้นที่ชนบทไม่สามารถจะเข้าถึง Broadband Satellite ได้ง่าย ซึ่งถ้าจะใช้โมเดลเดิมที่ให้ Operator ภาครัฐหรือผู้ประกอบการขนาดใหญ่เข้าไปทำจะได้ผลแบบเดิมๆ ดังนั้น กสทช. ควรจะมีแนวทางใหม่สำหรับ Connected Rural Communities ที่อาศัยช่วงปัจจุบันนี้ มีบัณฑิตที่เพิ่งจบการศึกษาเมื่อปีที่แล้วและปีนี้ ที่ไม่สามารถหางานได้ และจะกลับไปอยู่ยังบ้านเกิดของตัวเอง
“ภาครัฐ และ กสทช. ควรที่จะเตรียมพร้อมในด้านนโยบายและแนวทางในการส่งเสริมเรื่อง Broadband Satellite อย่างจริงจัง เพราะตอนนี้ Elon Musk ได้เริ่มโครงการ Starlink อินเตอร์เน็ตที่จะให้บริการผ่านดาวเทียมและเริ่มเก็บค่าบริการแล้ว ตรงนี้จึงเป็นเทรนของเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่เราจะมองข้ามไม่ได้” พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าว
พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวต่อว่า สาเหตุที่พูดถึงเด็กกลุ่มนี้เพราะว่าเป็นกลุ่มแรกของ Generatio Z ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น Digital Native อยู่ในตัว ให้เขาสามารถใช้โอกาสนี้สร้างธุรกิจ SME ในพื้นที่บ้านเกิด เป็นผู้ให้บริการ Connected Rural Communities แข่งขันกับผู้ให้บริการ USO เดิม หรือหน่วยงานที่ได้งบประมาณหลักหมื่นล้าน ที่ลงทุนเรื่องเน็ตประชารัฐ ทำให้ผู้ใช้บริการในพื้นที่ชนบทมีทางเลือกมากขึ้น รวมทั้งเป็นการให้เด็กกลุ่มนี้มีโอกาสสร้างธุรกิจท้องถิ่นของตนเอง ไม่จำเป็นต้องรอสมัครงานเข้าหน่วยงานใหญ่แทนๆ ดังนั้น กสทช. อาจต้องมาดูภาพรวมว่า จะทำอย่างไรให้มีการขอใบอนุญาตให้ธุรกิจท้องถิ่นที่จะเกิดขึ้นเหล่านี้มีข้อจำกัดและต้นทุนน้อยที่สุด การตั้งศูนย์ส่งเสริมและให้คำแนะนำสำหรับการสร้างธุรกิจให้บริการ Broadband Community ขึ้น รวมทั้งอาจมีการตั้งกองทุน Crowd Funding เพื่อให้เด็กกลุ่มนี้มีโอกาสขอทุนไปตั้งธุรกิจท้องถิ่นของตนเอง และในอนาคตไปได้ดี ก็จะมีการจ้างงานคนในท้องถิ่นมากขึ้นนับเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่น
“ด้วยกฎกติการปัจจุบันทำให้ธุรกิจบริการบรอดแบนด์ถูกผูกขาดโดยรายใหญ่ไม่กี่ราย ถ้าจะเป็นรายขนาดกลางๆ จะกระจุกตัวในพื้นพื้นที่เมืองใหญ่ๆ แทน การที่ให้มีผู้บริการท้องถิ่นใช้เทคโนโลยี Broadband LEO satellite ได้เพื่อแข่งขันกับรายใหญ่ที่มีอยู่ นับเป็นเรื่องท้าทายกับแนวนโยบายของรัฐและ กสทช. เป็นอย่างยิ่ง โดยทางเทคนิคมีความเป็นไปได้โดยผู้ให้บริการท้องถิ่นรับอินเตอร์เน็ตจาก LEO มาด้วยต้นทุนหมื่นกว่าบาทต่อเดือน แต่เขาสามารถให้เทคโนโลยีง่ายๆ ต้นทุนถูกเช่น Mesh WiFi กระจายไปใช้กับชุมชนชาวบ้านที่มีความต้องการ รวมทั้งเชื่อได้ว่าจะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เพราะเป็นลูกหลานของคนในท้องถิ่น เมื่อเปรียบเทียบกับแนวนโยบายบรอดแบนด์ที่ผ่านมา ที่ให้เงินทุนสนับสนุนแต่รายใหญ่ เพราะเมื่อติดตั้งเสร็จแล้ว กลับไม่มีการดูแลรักษาที่ดีทำให้มีเรื่องร้องเรียนอยู่เนืองๆ” พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าว