ผอ.นิติวิทยาศาสตร์ เผย กระทรวง เตรียมแก้ พ.ร.บ.ให้บริการนิติวิทยาศาสตร์ ถ่วงดุลงานตรวจสอบ ตามข้อเสนอ “กรรมการอิสระฯ ชุด อ.วิชา” มั่นใจเพิ่มความยุติธรรม-อำนวยความเป็นธรรมให้ประชาชนทุกกลุ่ม
พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่ากระทรวงยุติธรรมเตรียมปรับปรุงพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์ พ.ศ.2559 ว่าด้วยการให้บริการและส่งเสริมงานนิติวิทยาศาสตร์ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและ ข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ที่มีนายวิชา มหาคุณ เป็นประธาน ว่าด้วยการตรวจสอบถ่วงดุลงานด้านการตรวจสอบ พิสูจน์ข้อเท็จจริงในคดีอาญา หรือ ตรวจซ้ำ ซึ่งระบุไว้ใน มาตรา 5 (4) โดยบทบัญญัติที่ใช้ปัจจุบันกำหนดขอบเขตอำนาจการตรวจซ้ำ ของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ว่า เมื่อมีผู้ร้องขอให้ตรวจซ้ำ ต้องรอให้หน่วยงานอื่นที่อยู่ระหว่างตรวจสอบ ทำแล้วเสร็จก่อน ทั้งนี้การจะรับเรื่องตรวจซ้ำได้ ต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของคณะกรรมการกำกับการให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์ ทำให้บางครั้งเกิดความไม่มั่นใจในการอำนวยความยุติธรรม ส่วนที่จะแก้ไข คือ เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือหน่วยงานร้องขอให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ตรวจซ้ำในคดีอาญา ให้ทำได้แม้อยู่ระหว่างการตรวจสอบของหน่วยงานอื่น และการทำหน้าที่ไม่ต้องรอมติหรือการใช้ดุลยพินิจของคณะกรรมการกำกับการให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งถือว่าจะเป็นโอกาสที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์จะเข้าช่วยประชาชนและอำนวยความยุติธรรมอย่างเสมอภาคให้เกิดขึ้น
“ผมเชื่อว่าจะทำให้ประชาชนเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมที่จะอำนวยความยุติธรรมอย่างเป็นมาตรฐาน ส่วนที่หลายฝ่ายเคยตั้งข้อสงสัยว่าการตรวจซ้ำ หากประชาชนเป็นคู่กรณีกับหน่วยงานรัฐ อาจทำให้การพิสูจน์ หรือตรวจสอบนั้น ลำเอียงเข้าข้างหน่วยงานรัฐด้วยกันเอง แทนช่วยเหลือประชาชนอย่างแท้จริง ผมยืนยันว่าสถาบันนิติวิทยาศาสตร์มีกติกาและข้อบังคับการทำงานที่ยึดตามหลักการสิทธิมนุษยชนสากล และมีผู้ตรวจสอบคือ นักวิชาการ มีความเชี่ยวชาญดังนั้น ขอให้มั่นใจว่า การปรับปรุงกฎหมายจะทำให้การอำนวยความยุติธรรมกับประชาชนทำได้ดียิ่งขึ้น” พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ กล่าว
ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กล่าวด้วยว่าสำหรับขั้นตอนดำเนินงานหลังจากคณะกรรมการกำกับการให้บริการ ที่มี นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานกรรมการฯ มีมติเห็นชอบต่อการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ต้องปฏิบัติตามขั้นตอน คือ รับฟังความเห็นประชาชน และผู้ที่เกี่ยวข้อง เบื้องต้นจะรับฟังความเห็นเฉพาะกลุ่ม ไปพร้อมกับการรับฟังผ่านทางออนไลน์ เพื่อให้การปรับปรุงกฎหมายนั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์กับประชาชนทุกกลุ่ม