“สมศักดิ์” แจง ไม่ใช่ผู้เริ่มก่อการ ออก พ.ร.ก.เลื่อนบังคับใช้กม.อุ้มหาย 

“สมศักดิ์” แจง ไม่ใช่ผู้เริ่มก่อการ ออก พ.ร.ก.เลื่อนบังคับใช้กฎหมายอุ้มหาย หลัง”ศรีสุวรรณ” ร้อง ป.ป.ช. เอาผิด ชี้ ส่งหนังสือเห็นแย้ง สตช.ไม่ให้เลื่อนตั้งแต่ต้น ลั่น เข้าใจกฎหมายจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ-ลดปัญหาซ้อมทรมาน-ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม  

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณีนายศรีสุวรรณ จรรยา ร้อง ป.ป.ช. เอาผิดในฐานะอดีต รมว.ยุติธรรม ที่เลื่อนการบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ.อุ้มหาย ว่า พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ได้เริ่มบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งกระทรวงยุติธรรม ก็มีความพร้อมขับเคลื่อนกฎหมาย ทั้งการตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนกฎหมาย การจัดทำคู่มือปฏิบัติงาน แต่เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2566 กระทรวงยุติธรรม ได้รับหนังสือจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อขอให้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้กฎหมาย ในหมวด 3 มีทั้งหมด 8 มาตรา ออกไปก่อนแบบไม่มีกำหนด เนื่องจากมีเหตุขัดข้อง คือ 1.ขาดงบประมาณและอุปกรณ์ 2.ขาดความพร้อมของบุคลากร 3.ขาดมาตรฐานกลางในการปฏิบัติงาน

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า กระทรวงยุติธรรม จึงได้ทำหนังสือส่งกลับไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพราะ ไม่เห็นด้วยกับการขอขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ แต่ผู้ใหญ่ในรัฐบาลบางส่วน ก็ได้อธิบายถึงเหตุผลความเสียหาย ที่จะตามมา คือ หากไม่เลื่อนการบังคับใช้กฎหมายอาจเป็นเหตุให้จำเลยหรือผู้ที่ถูกกล่าวหาในคดีนั้นใช้เป็นเงื่อนไขในการสู้คดีว่าตำรวจไม่ดำเนินการหรือปฏิบัติตามเงื่อนไขของกฎหมายทุกข้อ ในเรื่องของการบันทึกภาพตลอดการจับกุมไว้และเป็นเหตุให้คดีถูกยกฟ้อง ดังนั้นในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 เจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้หารือกับผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบสูงกว่าตน ซึ่งได้ข้อสรุปยอมให้เลื่อนบังคับใช้กฎหมายถึงแค่วันที่ 30 กันยายน  2566 และให้เลื่อนใช้ แค่ 4 มาตรา จากที่ขอมา 8 มาตรา  ซึ่งขอย้ำอีกครั้งว่า สตช.ขอเลื่อนโดยไม่มีกำหนดระยะเวลา

“จะเห็นได้ว่า เรื่องนี้ ผมในขณะเป็น รมว.ยุติธรรม ก็ไม่ได้เห็นด้วย ที่จะมีการเลื่อนบังคับใช้กฎหมายอุ้มหาย จึงมีทั้งหนังสือไม่เห็นด้วย และตั้งวงหารือ เพราะผมเข้าใจดีว่า กฎหมายฉบับนี้ถูกยกเลิกมาหลายครั้ง หลายรัฐบาลแล้ว กว่าจะสามารถออกเป็นกฎหมาย เพื่อเป็นการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมที่แท้จริงได้ ถึงขั้นนักวิชาการด้านกฎหมาย ยกให้กฎหมายอุ้มหาย เป็นการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ในรอบ 100 ปี เพราะจะช่วยลดการซ้อมทรมานให้รับสารภาพ เนื่องจากจะมีการบันทึกภาพทุกขั้นตอน ดังนั้น ที่กล่าวหาว่าผม เป็นผู้เริ่มก่อการ เสนอให้รัฐบาลออก พ.ร.ก.เลื่อนบังคับใช้กฎหมายอุ้มหาย ก็ไม่ใช่ข้อเท็จจริง เพราะผมได้พยายามทำให้กฎหมายบังคับใช้ทันที หากแต่เป็นเหตุผลความจำเป็นในข้อกฎหมายจะทำให้จำเลยได้เปรียบในการสู้คดี และเป็นเหตุให้ศาลยกฟ้อง จึงต้องออก พรก.ฉบับนี้ป้องกันไว้ อนึ่งได้กล่าวไว้แล้วว่าจะทำกฎหมายให้สำเร็จให้ได้ แล้วจะเลื่อนการใช้บางมาตราออกไปเล็กน้อย ไม่ได้เป็นสาระสำคัญอะไรมาก เดินสายกลางเถอะครับบ้านเมืองเราจะได้อยู่ร่วมกันโดยปราศจากความเคลือบแคลงและสงสัย การไปร้องเรียน ป.ป.ช. มันเสียเวลาของประเทศ แทนที่จะได้ไปตรวจสอบเรื่องสำคัญ เช่น เรื่องการทุจริตคอรัปชั่น ซึ่งเรื่องนี้ผมได้เสนอกฎหมาย Law Of Efficiency เข้าไปใน ครม.  และรับหลักการแล้วเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2566 ขณะที่กระทรวงยุติธรรมได้ตั้งคณะทำงานพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างหลักประกันความเป็นธรรมให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐ เมื่อวันที่16 พฤษภาคม 2566 โดยกฎหมายตัวนี้ทางเลขาธิการกฤษฎีกายังให้ความเห็นว่าวันนี้บ้านเมืองของเราร้องเรียนกันง่ายเหลือเกิน ระบบตรวจสอบทำงานจนไม่มีเวลา ขณะเดียวกันเลขาธิการกฤษฎีกาก็จะเพิ่มเติมให้เรื่องการร้องเรียนมีคุณภาพมากขึ้นไม่ใช่อะไรก็ร้องเรียนไปหมด” นายสมศักดิ์ กล่าว 

แสดงความเห็น