เศรษฐพงค์ แนะรัฐให้ความสำคัญระบบ5G ชี้ ต้องออกแบบนโยบายกำกับดูแล ปรับเข้าสู่ยุคดิจิทัล

“เศรษฐพงค์” แนะรัฐให้ความสำคัญระบบ5G ชี้ ต้องออกแบบนโยบายกำกับดูแล เปลี่ยนบทบาทผู้ให้บริการ ปรับองค์กรเข้าสู่ยุคดิจิทัล พัฒนาทักษะแรงงานรุ่นใหม่ เชื่อหากทำได้เพิ่มโอกาสให้ประเทศอีกมาก

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะรองประธานกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ให้สัมภาษณ์ถึงการพัฒนาโครงข่าย 5G ในประเทศไทยว่า เราทุกคนทราบดีว่าประเทศไทยเรากำลังมีการพัฒนาวางโครงข่าย 5G ซึ่งมีความคืบหน้าตามลำดับ แต่อีกประเด็นสำคัญ คือการพัฒนาจาก 4G เป็น 5G ไม่ใช่แค่เพิ่มมาอีกหนึ่ง G ไม่ใช่แค่เรื่องของความเร็วในการส่งผ่านข้อมูลเท่านั้น แต่ในส่วนภาคธุรกิจ 5G จะเป็นการเปิดประตูให้องค์กรต่างๆ ในหลากหลายธุรกิจเพื่อสู่การปรับเปลี่ยนไปสู่ Digital Transformation เป็นโครงสร้างที่จะทำให้องค์การ ในการไปสู่เรื่อง Cloud Computing, AI, Automation ถึงแม้ว่าจะมีชื่อ 5G แต่ไม่ได้จำกัดแค่เรื่องของกิจการโทรคมนาคมเท่านั้น แต่องค์กรต่างๆ จะสามารถนำ 5G ไปใช้ในการปรับองค์กรเข้าสู่ Digital Transformation ซึ่งบทบาท 5G ในฐานะโครงสร้างพื้นฐานของการทำ Digital Transformation ให้กับองค์กรในภาคธุรกิจอื่นๆ เช่น 1. ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมกำลังจะปรับเปลี่ยนบทบาทที่แต่เดิมจำกัดให้เป็นเพียงผู้ให้บริการการเชื่อมต่อเท่านั้น ไปสู่การเป็นผู้ช่วยในการปรับเปลี่ยนองค์กรให้เข้าสู่ยุคดิจิทัล เพราะถ้าอยู่ในฐานะผู้ให้บริการเพียงแค่การช่วยเชื่อมต่อเท่านั้น จะทำหน้าที่เพียงสร้างโครงข่ายแล้วรอลูกค้ามาซื้อซิมไปใช้งาน แต่ในบทบาท 5G ผู้ให้บริการโทรคมนาคมต้องมีความรู้อย่างลึกซึ้งในธุรกิจของลูกค้าว่าจะปรับเปลี่ยนเข้าสู่ยุคดิจิทัลได้อย่างไร

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวว่า 2. 5G จะต้องเข้ามาเป็นส่วนสำคัญที่ให้เกิดความร่วมไม้ร่วมมือ และทำให้เกิดร่วมสร้างของภาคส่วนต่างๆ เช่น ผู้ให้บริการโทรคมนาคม ผู้ให้บริการคลาวด์ หรือ System Integrator เพื่อก่อให้เกิดระบบนิเวศน์ที่สมบูรณ์ 3. 5G จะนำมาซึ่งความจำเป็นของระบบคลาวด์ ทั้งนี้แนวทางการพัฒนาระบบ 5G จะมีทิศทางไปสู่ระบบคลาวด์ ทั้งเรื่อง MEC Multiaccess Edge Computing และSD WAN 4. องค์กรธุรกิจในภาคส่วนต่างๆ ที่มีความซับซ้อนยุ่งยาก 5G จะเข้ามีบทบาทในการแก้ปัญหา โดยมีการสร้างระบบที่มีการพัฒนาธุรกิจที่นำเอา AI และ Automation ผ่านโครงข่าย 5G ที่สามารถทำได้อย่างดียิ่ง ซึ่งตนขอยกตัวอย่าง วิสัยทัศน์ภาพรวมของ IMDA องค์กรกำกับดูแลกิจการสื่อสารของสิงคโปร์ คือ การเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล ที่ธุรกิจทุกอย่างจะต้องเป็นดิจิทัล แรงงานทุกคนต้องยกระดับเป็นแรงงานเปรื่องปัญญาที่จะมีการทำเทคโนโลยีมาช่วยในการทำงาน ประชาชนทุกคนจะต้องเชื่อมโยงกัน ดังนั้นต้องมีโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมในระดับนานาชาติ โดยการมี 5G ของสิงคโปร์ต้องเป็นระดับแนวหน้าของโลกที่บริการและแอปพลิเคชันที่มีความมั่นคงปลอดภัยสูงและมีความยืดหยุ่นตอบสนองต่อภาคส่วนต่างๆ สร้างความสามารถในการแข่งขันทั้งตัวองค์กรธุรกิจและแรงงานด้วยการสร้างระบบนิเวศน์ 5G ได้อย่างเข้มแข็ง 

“ไทยเราเป็นประเทศศูนย์กลางอาเซียน ดังนั้นรัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับเรื่องเทคโนโลยี 5G ซึ่งจะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและการบริหารงานเป็นอย่างมาก ดังนั้นรัฐต้องเร่งออกแบบนโยบายและการกำกับดูแลที่ทันเวลา คุ้มค่าต่อการลงทุนและสร้างการวางโครงข่ายได้อย่างมั่นคง สร้างโครงข่ายและบริการ 5G ที่เชื่อถือได้ มีความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์และมีความยืดหยุ่น พัฒนาทักษะของแรงงานที่เกี่ยวข้องกับระบบ 5G โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะทางด้านเทคนิค เช่น Network Slicing, NFV Network Function Virtualization หรือ SDN Software-Defined Network รวมทั้งสนับสนุนให้มีการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ในภาคส่วนต่างๆ บนโครงข่าย 5G เพื่อให้เป็นจุดของนวัตกรรม 5G ชั้นนำของโลก ถ้าหากเราทำได้เร็วเราจะเพิ่มโอกาสให้กับประเทศไทยในการก้าวทันโลก” พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าว

แสดงความเห็น