กมธ.ดีอีเอสจัดแผนยุทธศาสตร์ดิจิทัล เน้นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ปชช.เข้าถึงได้ง่าย


กมธ.ดีอีเอส จัดแผนยุทธศาสตร์ดิจิทัล วางกรอบการทำงานกมธ. “กัลยา”เน้นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้ปชช.เข้าถึงได้ง่าย พร้อมเพิ่มขีดความสามารถหวังไทยเป็นผู้นำในภูมิภาค “เศรษฐพงค์”ชี้ทุกหน่วยงานต้องพัฒนาให้ทันสมัยตามโลกให้ทัน

น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ส.ส.สระบุรี พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ การสื่อสาร โทรคมนาคมและดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมกมธ.ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบ แผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมและพัฒนาด้านการสื่อสารและโทรคมนาคม และเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2563-2565 โดยเป็นแผนที่เสนอโดย คณะอนุกรรมาธิการติดตามและตรวจสอบการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลและความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ในกมธ.ดีอีเอส ที่มีพ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ เป็นประธาน โดยเป็นแผนเพื่อให้การทำงานของ กมธ.เป็นไปตามกรอบที่วางไว้ ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ คือ 1.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลให้ครอบคลุมทั่วประเทศ มุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศ เพื่อเป็นปัจจัยพื้นฐานในการพัฒนาประชากร และขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ โดยการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ที่ได้มาตรฐานสากลและความครอบคลุมของโครงสร้างพื้นฐานในการสื่อสาร ทั้งโครงข่ายโทรคมนาคมทั้งระบบสายและไร้สาย ด้วยการบริหารจัดการคลื่นความถี่อย่างมีประสิทธิภาพ การสนับสนุนโครงข่าย 5G และกิจการอวกาศ (New Space) รองรับการพัฒนานวัตกรรมดิจิทัล บุคลากรดิจิทัล ครอบคลุมทุกพื้นที่และสามารถให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นการแข่งขันในกิจการสื่อสารและโทรคมนาคมให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรมเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ 

น.ส.กัลยา กล่าวอีกว่า 2.การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล มุ่งเน้นการสร้างสภาวะแวดล้อมทางดิจิทัล (Digital Environment) หรือระบบนิเวศสำหรับธุรกิจดิจิทัล (Digital Business Ecosystem) โดยให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม และการส่งเสริมธุรกิจที่มีอยู่เดิมให้ต่อยอดและเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น อุตสาหกรรมเกษตร การแพทย์ การผลิตและการบริการ และมุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรมดิจิทัลใหม่เพื่อยกระดับเศรษฐกิจของประเทศให้เป็นผู้นำเทคโนโลยีดิจิทัลในภูมิภาค 3.การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชากรในประเทศมีความรู้ความสามารถทั้งในด้านการประดิษฐ์ คิดค้นนวัตกรรม และการเข้าถึงหรือการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศให้สอดรับกับบริบททางสังคมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป 4.ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cyber Security) มุ่งเน้นการป้องกันและแก้ไขปัญหาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ การวางกลยุทธ์และยุทธวิธีในการแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ให้ครอบคลุมสภาพปัญหาของภัยคุกคามทางไซเบอร์ ซึ่งรวมไปถึงการก่อตั้งองค์กรที่ทำหน้าที่ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์อย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนการเร่งรัดออกกฎหมาย มาตรการ แนวทางในการดำเนินการด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

“เชื่อว่าแผนยุทธศาสตร์ทั้ง 4 นี้จะช่วยให้การทำงานของกมธ.เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ให้เทียบเท่ากับต่างประเทศได้ ซึ่งแผนดังกล่าวนี้จะช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี และนำมาใช้ในชีวิตประจำวันและการประกอบอาชีพต่างๆได้ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการเกษตร หรือธุรกิจต่างๆอีกด้วย” น.ส.กัลยา กล่าว

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย รองประธานคณะกรรมาธิการ การสื่อสาร โทรคมนาคมและดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า กรอบการดำเนินการในสองปีจะมีเรื่องที่ต้องทำ คือ 1. Tracking เรื่องที่มีการดำเนินการโดยหน่วยงานอยู่แล้ว แต่เป็นการติดตามว่าเป็นไปตามแผนหรือไม่ เช่น แผน 5 ปีการจัดสรรคลื่นความถี่ของ กสทช. ว่าเดินไปตามแบบแผนหรือไม่ หรือการติดตามการดำนินการตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ว่าเป็นอย่างไรบ้าง ดำเนินการอะไรบ้าง 2. Monitoring งานที่มีหน่วยงานและแผนงาน แต่จะมีการติดตามว่าการมีสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลง ทางกรรมาธิการจะมีคำแนะนำหรือการสนับสนุนอย่างไร เพื่อให้หน่วยงานสามารถมีการปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ เช่น เรื่อง แนวทางยุทธศาสตร์ 5G ของประเทศที่ควรจะมีทิศทางในการช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ หรือ การปรับปรุงบริการภาครัฐให้เป็นแบบดิจิทัลของสำนักงานรัฐบาลดิจิทัล 3. Initialting งานที่ควรมีการริเริ่ม เช่น แนวทางการสร้าง เศรษฐกิจอวกาศ (New Space Economy) เพื่อให้เป็นโครงสร้างเศรษฐกิจอีกอันหนึ่งของประเทศ

ทั้งนี้มีกรรมาธิการหลายท่านให้คำแนะนำ เช่น ควรดูเรื่องคลื่นความถี่ที่จะมาช่วยชุมชนทั้งในแง่ของวิทยุชุมชนหรือโทรทัศน์ชุมชน รวมถึงเรื่องเกี่ยวกับ Cyber Security ว่าควรมีการติตตามอย่างเร่งด่วน เพราะถ้าไม่รีบเตรียมการที่ดี ถ้าเกิดปัญหาในระยะนี้แล้วจะเกิดเรื่องใหญ่ และต้องให้ความสำคัญเกี่ยวกับ Digital Platform ว่าเราควรจะมีแนวทางให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการดำเนินการ โดย น.ส.กัลยา เห็นชอบในภาพรวมพร้อมทั้งให้ไปปรับปรุงและให้รายงานในรายละเอียดต่อกรรมาธิการใหญ่ เป็นระยะๆ ต่อไป

แสดงความเห็น