รมว.ยธ.เผย กรมพินิจตั้งศูนย์เยาวชนทางจิตเวช หวังช่วยฟื้นฟูเด็กแบบเฉพาะทาง


รมว.ยุติธรรม เผย กรมพินิจตั้งศูนย์เยาวชนทางจิตเวช สมุทรปราการ หวังช่วยฟื้นฟูเด็กแบบเฉพาะทาง คืนคนดีสู่สังคมไม่กลับมาทำผิดซ้ำ ยันทำตามมาตรฐาน สปสช. ย้ำการแก้ไขที่ดีที่สุดต้องเริ่มจากครอบครัว

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ได้จัดตั้ง ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นศูนย์ฝึกและอบรมเฉพาะทางสำหรับดูแลเด็กและเยาวชนที่มีปัญหาทางด้านจิตเวชและไร้ที่พึ่งพิง โดยในระยะ 6 เดือนแรกจะรับเด็กและเยาวชนที่ได้รับการตรวจวินิจฉัยจากจิตแพทย์และพบว่ามีปัญหาทางด้านจิตเวชจากศูนย์ฝึกและอบรมทั่วประเทศ และอีกส่วนคือรับเด็กและเยาวชนจากศาลเด็กและเยาวชน ซึ่งเราได้มีการส่งต่อเด็กและเยาวชนเพื่อเตรียมพร้อมกรณีเด็กที่มีปัญหาสุขภาพจิตจะส่งไปโรงพยาบาลจิตเวช เพื่อเด็กกลุ่มนี้จะได้รับการดูแลรักษาได้อย่างถูกต้องเหมาะสมและถูกวิธี นอกจากนี้ยังมีการประสานเครือข่ายหลายๆด้าน เช่น ด้านการศึกษาและอาชีพ ซึ่งมีการประสานกับสถานประกอบการ เพื่อเตรียมพร้อมในการรองรับเพื่อเด็กกลุ่มนี้ รวมทั้งพัฒนาระบบภูมิทัศน์ อาคาร สถานที่ ให้รองรับและมีความสอดคล้องกับเด็กที่เป็นกลุ่มเปราะบาง รวมทั้งบุคลากรของเราก็มีการพัฒนาในเรื่องความรู้เฉพาะด้านในเรื่องจิตเวชฉุกเฉิน และการสังเกตอาการหลังการใช้ยาจิตเวช โรคจิตเวชที่พบบ่อยในเด็ก รวมถึงการฟื้นฟูเด็กทางด้านจิตเวชและการส่งต่อ

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในศูนย์ฝึกแห่งนี้จะมี 4 เรือนนอน ในส่วนของเรือนนอนที่ 1-2 จะเป็นส่วนของนักเรียนจิตเวช ในส่วนของเรือนนอนที่ 3-4 จะเป็นในส่วนของนักเรียนไร้ที่พึ่ง นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมเรื่องสุขภาพ มีสนามกีฬาให้ทุกคนได้ออกกำลังกาย และที่สำคัญคือการคืนนักเรียนกลับสู่สังคม ทั้งนี้การแยกเด็กจิตเวชให้กับศูนย์ฝึกสมุทรปราการไม่ได้เป็นการเพิ่มภาระงานแต่อย่างใด ปัจจัยและสาเหตุที่ทำให้เด็กจิตเวช และเด็กที่กระทำความผิดไม่แตกต่างกันเลย เด็กเหล่านั้นถูกอคติและถูกตีตราจากสังคมไม่แตกต่างกันเลย เราดำเนินการตามปกติแต่เราไม่สามารถจัดสรรกระจายงบประมาณลงไปดูแล​ได้​ เราได้ประสานและหารือกับสาธารณสุข จ.สมุทรปราการ เราพยายามวางแผนในการดำเนินงาน เหมือนเป็นศูนย์ฟื้นฟูก่อนกลับคืนสู่สังคม ซึ่งเด็กที่นี่ทุกคนจะได้รับมาตรฐานตามหลักของสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ไม่ได้ถูกริดรอนสิทธิ มีการตรวจวินิจฉัยจากจิตแพทย์ตลอด

“การแก้ไขเด็กที่ดีที่สุดคือจากคนในครอบครัว ศูนย์ฝึกสมุทรปราการจึงเป็นแค่ส่วนหนึ่งในการรักษาแก้ไขตามมาตรฐาน แต่ต้องมีมาตรฐานที่ดีทำให้การกระทำผิดซ้ำจากเด็กลดน้อยถอยลง โดยระยะการอบรมมี 4 ระยะ คือ ระยะแรกรับตัว ระยะฝึกอบรม ระยะเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย และระยะติดตามช่วยเหลือหลังปล่อย ซึ่งในระยะฝึกอบรมจะมีการให้เด็กได้เรียนขั้นพื้นฐานด้วย จากนั้นจะมีการเตรียมความพร้อมให้เด็กได้มีความรู้ในการประกอบอาชีพหลังถูกปล่อยตัวสามารถพึ่งตัวเองได้ ส่วนคนที่ไม่มีครอบครัว ทางศูนย์จะสร้างความตระหนักรู้ว่าตัวเองมีคุณค่า มีนักสังคมสงเคราะห์คอยให้ความช่วยเหลือ และประสานสถาบันต่างๆเข้ามาช่วยเหลือ เพื่อให้พวกเขากลับไปใช้ชีวิตอย่างปกติสุขและไม่กระทำผิดซ้ำ” นายสมศักดิ์ กล่าว

แสดงความเห็น