“กัลยา”ยันต้องเร่งปรับตัวรับมือการเปลี่ยนแปลง “สราวุธ”หวังนศ.เป็นอนาคตนำความรู้กลับไปพัฒนาท้องถิ่น “ปริญญ์”ชี้ธุรกิจเน้นออนไลน์มากขึ้นเตรียมตัวรับสังคมไร้เงินสด ชี้ต้องเร่งพัฒนากม.-แพลตฟอร์ม ให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม
ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพร คณะกรรมาธิการ การสื่อสาร โทรคมนาคมและดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) จัดงานสัมมนาเรื่อง “การส่งเสริมและสนับสนุน Digital Startup ไทยอยู่รอดและคงการจ้างงานในธุรกิจ”
น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ส.ส.สระบุรี พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธาน กมธ.ดีอีเอส กล่าวเปิดงานสัมมนาตอนหนึ่งว่า สถานการณ์วิกฤตไวรัสโควิด-19 ส่งผลต่อสภาพการเป็นอยู่ของชีวิตเรา ชีวิตของเราจากนี้จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต การทำกิจกรรมทุกอย่าง เราจะเห็นได้ว่าเมื่อก่อนเราอาจจะต้องออกจากบ้านไปซื้ออาหาร ซื้อของ แต่ตอนนี้เรามีการใช้อินเทอร์เน็ต โทรศัพท์สั่งของได้ และตนเชื่อว่าเทคโนโลยีต่างๆจะพัฒนาต่อไปได้อีกอย่างไม่หยุด วันนี้หากใครปรับตัวได้เร็วจะสามารถอยู่รอดได้ โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่ต้องเร่งปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยและเรียนรู้หาข้อมูลที่จะพัฒนาอยู่เสมอ ไม่เช่นนั้นจะอยู่รอดไม่ได้ วันนี้เราต้องพร้อมรับมือ เรียนรู้และปรับตัว เพื่อให้ชีวิตและธุรกิจต่างๆสามารถเดินหน้าต่อไปได้ โดยภาครัฐ เอกชน และประชาชน ต้องเรียนรู้เพื่อปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัลให้ได้
นายสราวุธ อ่อนละมัย ส.ส.ชุมพร พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะที่ปรึกษา กมธ.ดีอีเอส กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีต่างๆพัฒนาเป็นไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งภาครัฐต้องมีส่วนสำคัญในการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการพัฒนาประเทศ และนำเทคโนโลยีมาช่วยในการเรียนรู้ด้านธุรกิจ รวมทั้งภาคเอกชนต้องเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ดังนั้นการมาจัดสัมมนาที่สถาบันแห่งนี้ เพื่อให้ความรู้กับนักศึกษาเพื่อที่จบออกไปแล้วจะได้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ รวมทั้งสร้างความเข้าใจกับนักศึกษาเกี่ยวกับการจ้างงานที่จะเกิดขึ้นในระบบธุรกิจประเภทนี้ เพื่อให้พวกเขาสามารถนำกลับไปพัฒนาชุมชนและท้องถิ่นได้อีกด้วย
นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรค และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ และประธานคณะกรรมการธุรกิจเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อภิปรายเรื่อง “ภาพรวมของเศรษฐกิจมหภาค ในยุคทันสมัยที่เทคโนโลยีเข้ามาเขย่าและเปลี่ยนชีวิตเราจะปรับตัวอย่างไร และผู้นำ Startup หลังยุคโควิดจะต้องมีวิสัยทัศน์อย่างไร” ตอนหนึ่งว่า ตอนนี้โลกเปลี่ยนแปลงไปมาก โดยเฉพาะภาคธุรกิจและการเงิน อย่างการจะปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินไม่ได้ปล่อยกันง่ายๆในสถานการณ์วิกฤตทั่วโลก ซึ่งยุคนี้เขาไม่ได้ดูเงินในบัญชีเพียงอย่างเดียว แต่ต้องดูเรื่องเครดิตทางสังคมด้วย และการจะปล่อยสินเชื่อต้องปล่อยทางแพลตฟอร์ม ซึ่งจะเชื่อมโยงกับแพลตฟอร์มต่างชาติขนาดใหญ่ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้ในยุคปัจจุบันธุรกิจต่างๆจะเน้นการขายของผ่านออนไลน์มากขึ้นกว่าเดิม ที่สะดวกสบายและมีการแข่งขันกันที่สูงมากดังนั้นเราจึงต้องปรับตัว รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่ใช้อินเทอร์เน็ตในการโปรโมทและจองที่พัก ส่วนสื่อสารมวลชนต่างๆ ยุคสมัยนี้ไม่ค่อยมีคนอ่านหนังสือพิมพ์กันแล้ว ส่วนใหญ่จะเสพข่าวจากสื่อออนไลน์ที่คนส่วนใหญ่ใช้กัน เช่น ไลน์ เฟซบุ๊ก
นายปริญญ์ กล่าวอีกว่า อีกเรื่องคือเรื่องกฎหมายที่จะทำให้การแข่งขันเป็นธรรมต้องมีการปรับปรุงให้เกิดการแข่งขันของทุกส่วนอย่างเป็นธรรมมากขึ้น เพราะวันนี้เราซื้อขายและทำธุรกิจผ่านแพลตฟอร์มของต่างประเทศไม่มีการเก็บภาษี ดังนั้นเราควรมีการแก้กฎหมายให้เข้ากับยุค และพัฒนาแพลตฟอร์มของตัวเองเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขันด้วย ซึ่งเวลาคนไทยซื้อของในประเทศจะต้องมีการเสีย vat 7% แต่พวกแพลตฟอร์มจากต่างชาติไม่ได้เสียอะไรเลย ดังนั้นจะต้องมีการปรับกฎหมายโครงสร้างเกี่ยวภาษี รวมถึงกิจการต่างๆที่เป็นของรัฐ เช่น สายการบิน รัฐวิสาหกิจ ในอนาคตยังจำเป็นที่จะต้องเป็นของรัฐหรือไม่ และอนาคตสังคมจะเป็นแบบไร้เงินสด สังคมที่จะมีนักท่องเที่ยวจีน ต่างชาติเข้ามาเที่ยวมากขึ้น เพราะเมืองไทยน่าอยู่ เราต้องเรียนรู้ว่าเราจะสามารถพัฒนาสิ่งต่างๆเหล่านี้ได้อย่างไรบ้าง และตนขอฝากไว้ว่าเราควรจะส่งเสริม Startup ให้คนไทยทำกันมากขึ้น เพราะคนไทยมีศักยภาพ เพียงแต่ขาดการสนับสนุน ดังนั้นรัฐบาลหรือเอกชนควรจะเข้าไปสนับสนุนตรงจุดนี้ด้วย