“เศรษฐพงค์” แนะรัฐเตรียมพร้อมปรับโครงสร้างศึกษาออนไลน์-5G รับมือหลังโควิด


กมธ.ดีอีเอส  ชี้ วิกฤตโควิดฯ กระทบอุตสาหกรรมดั้งเดิม-ตลาดแรงงาน แนะ พัฒนาระบบการศึกษา ทักษะแรงงานรับยุคอัตโนมัติ 

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย และรองประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กมธ.ดีอีเอส) กล่าวว่า วิกฤตไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างมากต่อตลาดแรงงาน ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้ว่างงานเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ ต้องหยุดดำเนินการ เพื่อยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส ซึ่งเป็นผลให้เศรษฐกิจถดถอยลง แม้ว่ามาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมจะเป็นมาตรการชั่วคราว แต่ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในตลาดแรงงานจะส่งผลกระทบในระยะยาว โดยภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทำให้ระดับของการใช้ระบบอัตโนมัติในภาคธุรกิจต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อตำแหน่งงานในอุตสาหกรรมต่างๆ และภาวะถดถอยจากการแพร่กระจายของไวรัสโควิดฯอาจทำให้เกิดระบบอัตโนมัติในอุตสาหกรรมต่างๆ มากยิ่งขึ้น โดยเทคโนโลยีใหม่ไม่ได้หมายถึงระบบอัตโนมัติเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงซอฟต์แวร์ในระดับองค์กรที่มีราคาถูกลง โดยต้นทุนที่ลดลงมักเกิดจากเทคโนโลยีคุณภาพสูง รวมถึงมาตรฐานแบบครบวงจรที่มักมาจากบริษัทด้านเทคโนโลยีขนาดใหญ่ ดังนั้นสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบไดนามิก ที่เห็นได้อย่างชัดเจนในช่วงที่ผ่านมา นั่นก็คือวิกฤตการณ์ทางด้านการเงิน 

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวอีกว่า อุตสาหกรรมแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย คือ ภาคการเงิน แต่มีความเกี่ยวข้องกับวิกฤตการณ์ในอุตสาหกรรมอื่นๆ ด้วย เช่น ภาคยานยนต์และการผลิต นั่นเป็นเพราะวิกฤตการณ์ด้านการเงินทำให้เกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่างๆ ตามมา โดยอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในช่วงเวลานี้ คือ บริการด้านอาหารและที่พัก รวมถึงการสั่งอาหารจากร้านเล็กๆ  และแม้ว่าในอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพ การศึกษา จะมีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ จากการเลิกจ้างพนักงาน แต่เราอาจเห็นการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมเหล่านั้น เช่น การรักษาทางไกลผ่านระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Telemedicine) การเปลี่ยนแปลงไปสู่การเรียนรู้ทางไกลในภาคการศึกษา หรือการเปลี่ยนแปลงแบบผสมผสานของภาครัฐที่จำเป็นต้องนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ ซึ่งต้องมีการเร่งวางโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม 5G โดยเร็ว ดังนั้นบริษัทต่างๆ ควรจะต้องวางแผนและเตรียมความพร้อมสำหรับระบบอัตโนมัติในช่วงเวลาที่ยังไม่เกิดวิกฤต เพื่อให้บริษัทมีความยืดหยุ่น สามารถปรับตัวได้ และเพื่อไม่ให้บริษัทต้องประสบกับความกดดันหากเกิดวิกฤตการณ์ขึ้นมาจริงๆ 

“เราไม่เพียงแค่สูญเสียงานไปในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเท่านั้น แต่เรากำลังย้อนกลับไปสู่ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี นั่นอาจจะเป็นการเพิ่มความยุ่งยากให้กับกลุ่มแรงงาน และจะทำให้ผู้คนเกิดความวิตกกังวลมากขึ้น เพราะรูปแบบการทำงานจะไม่กลับไปเป็นเหมือนปกติอีกต่อไป แต่มีแนวโน้มว่าจะมีการนำแพลตฟอร์มเทคโนโลยีใหม่เข้ามาทดแทน เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงวิธีการปฏิบัติงาน และจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่อาจกลับมาเหมือนเดิมอีกได้ต่อไป ดังนั้นเราจึงควรต้องมีการปรับตัวและเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตแบบใหม่ที่เกิดขึ้นหลังวิกฤตไวรัสโควิด-19 ซึ่งรัฐบาลจะต้องมีแผนเตรียมพร้อมรับมือความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างรอบคอบและทันท่วงที” พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าว

แสดงความเห็น