พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย และรองประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสารโทรคมนาคม ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(กมธ.ดีอีเอส) กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมาธิการฯ ว่า ในช่วงที่สถานการณ์ของไวรัสโควิด-19 ที่กำลังระบาดอยู่ในประเทศไทยขณะนี้ ซึ่งได้สร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชนคนไทย ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่างมีมาตรการออกมารับมือกับการระบาดดังกล่าว โดยรัฐบาลเอก็ได้มีมติคณะรัฐมนตรีให้หน่วยงานราชการส่งเสริมการทำงานจากที่บ้านหรือ work from home ซึ่งในส่วนของ กมธ.ดีอีเอส ที่มีน.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ส.ส.สระบุรี พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธานฯ ก็ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องการรับมือกับไวรัสโควิดฯ แต่งานในส่วนกรรมาธิการก็ต้องเดินหน้าต่อได้ เพราะความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนเป็นสิ่งที่รอไม่ได้ และขอบเขตงานของกรรมาธิการฯ ก็จะมีส่วนช่วยส่งเสริมการทำงานต่างๆ ในช่วยวิกฤตไวรัส ซึ่งต้องอาศัยระบบโทรคมนาคม การสื่อสาร และดิจิทัล เพื่อช่วยให้การทำงานสมบูรณ์และสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี
รองประธาน กมธ.ดีอีเอส กล่าวต่อว่า ตนเองได้เสนอให้กมธ.ดีอีเอส ได้ดำเนินการประชุมผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์(VDO conference) ซึ่งขณะนี้ถือว่ามีความพร้อมแล้ว เนื่องจากเราได้รับการสนับสนุนด้านอุปกรณ์และซอฟต์แวร์จากคณะที่ปรึกษาของกรรมาธิการฯ ที่มีศักยภาพและความพร้อมในเรื่องดังกล่าวแล้ว เหลือเพียงขั้นตอนการทดสอบระบบการทำงานเท่านั้น ก็สามารถดำเนินการประชุมได้ทันที โดยการประชุมผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ กรรมาธิการ และผู้ร่วมประชุมจากหน่วยงานต่างๆและผู้ให้บริการ สามารถประชุมร่วมกับกรรมาธิการฯ โต้ตอบกันได้แบบเรียลไทม์ โดยที่ไม่ต้องมารวมตัวกันอยู่ในห้องประชุม ที่อาจเสี่ยงต่อการแพร่และรับเชื้อได้ แนวทางการดำเนินการดังกล่าวก็สอดคล้องกับแนวทางของรัฐบาลที่ส่งเสริมเรื่องการทำงานจากที่บ้าน อีกทั้งกรรมาธิการฯ ก็สามารถใช้วิธีการดังกล่าวเดินหน้าทำงานต่อไปได้ สามารถที่จะประชุมปรึกษาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงผู้ให้บริการค่ายต่างๆ ที่จะได้มอบหมายและกำชับการทำงานในช่วงวิกฤตได้
“กมธ.ดีอีเอส ยินดีให้ความร่วมมือกับมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลประกาศออกมาหรือขอความร่วมมือ เพราะเราถือว่าหน้าที่ของกรรมาธิการฯ ในฐานะที่เป็น ส.ส.ก็ได้รับเงินเดือนที่มาจากพี่น้องประชาชน แม้จะเกิดวิกฤตไวรัสโควิดฯ เราก็ไม่ควรที่จะหยุดทำงาน แต่ควรที่จะหาวิธีการทำงาน ที่อยู่บนพื้นฐานความปลอดดภัยทั้งกับตัวเองและสังคม ผมหวังว่าการดำเนินการประชุมของกมธ.ดีอีเอส ที่จะทำผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ จะเป็นแนวทางหรือเป็นต้นแบบให้คณะกรรมาธิการฯคณะอื่นๆ ของสภาที่อาจนำไปใช้ได้เช่นเดียวกัน ซึ่งจะเกิดประโยชน์สูงสุดทั้งกับประชาชนและตัวกรรมาธิการฯเอง”รองประธานกมธ.ดีอีเอส กล่าว