“เศรษฐพงค์” ชี้ ถึงเวลาไทยต้องมี “National digital platform” จี้ “รัฐบาล-ดีอีเอส-คลัง-พาณิชย์” รวมมือหนุนเอกชนสร้างแพลตฟอร์มแห่งชาติ หวั่น ข้อมูลตกอยู่ในมือต่างชาติ กระทบความมั่นคงประเทศ


การประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยพ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย หารือในที่ประชุมว่า หลังจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 5 ก.พ. ได้มีมติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาเรื่องผลกระทบจากการประกาศใช้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 48) พ.ศ.2562 ประเด็นการทำธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) ซึ่งในส่วนของพรรคภูมิใจไทยได้มี นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ศรีสะเกษ และนายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี เข้าไปเป็นกรรมาธิการฯด้วย ตนเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก ที่จะมีการศึกษาในประเด็นดังกล่าว อย่างไรก็ตามยังมีประเด็นที่กรรมาธิการฯ ต้องให้ความสำคัญอีก คือ ต้องเร่งส่งเสริมให้มีการพัฒนาและสร้าง National digital platform หรือแพลตฟอร์มแห่งชาติในด้านต่างๆ ให้เป็นของคนไทยเอง ไม่ว่าจะเป็นด้านการท่องเที่ยว ด้านการสาธารณสุข ด้านระบบขนส่ง ด้านระบบความปลอดภัย การค้าขาย e-commerce เนื่องจากแพลตฟอร์มที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ ยกตัวอย่างเช่น Google, Facebook, Line, Amazon หรือแม้แต่ Alipay ทั้งหมดเป็นแพลตฟอร์มของต่างชาติทั้งสิ้น สิ่งสำคัญที่เกิดขึ้น ประเด็นแรกก็คือ ในเรื่องการจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคล พฤติกรรมผู้บริโภค ข้อมูลทางการตลาด ข้อมูลการทำธุรกรรม การค้าขาย ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะอยู่บนแพลตฟอร์มของต่างชาติ ทำให้เขาสามารถนำมาวิเคราะห์ Data analytics และข้อมูลจะกลายเป็นของต่างชาติหมด ซึ่งข้อมูลส่วนนี้ถือว่ามีมูลค่ามหาศาล ที่ต่างชาติสามารถนำมาวิเคราะห์ตลาดของเราได้หมด นำมาใช้กำหนดความต้องการของเราได้ ซึ่งน่าเสียดายหากเราปล่อยให้ข้อมูลเหล่านี้ต้องกลายเป็นของต่างชาติไป

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวต่อว่า ประเด็นสำคัญต่อมาคือ เรื่องความมั่นคงของประเทศ เมื่อคนไทยใช้แพลตฟอร์มที่เป็นของต่างชาติ ข้อมูลบนแพลตฟอร์มจึงเป็นของต่างชาติ ก็หนีไม่พ้นที่เราอาจถูกแทรกแซงหรือโจมตีได้ในทางใดทางหนึ่ง เนื่องจากเขารู้ความเป็นไปของเราหมด และในทางกลับกันเราไม่รู้ข้อมูลอะไรเกี่ยวกับเขาเลย ตรงนี้อาจเกิดเป็นการครอบงำทางวัฒนธรรม ซึ่งจะเป็นปัญหาด้านความมั่นคงของประเทศได้ หากเราไม่ส่งเสริมให้มีการทำและใช้แพลตฟอร์มของเราเอง ประเด็นสำคัญสุดท้ายคือ เรื่องของการควบคุมระบบเศรษฐกิจ การเสียภาษี จะไปอยู่ในเมืองของต่างชาติที่เป็นเจ้าของแพลตฟอร์ม และประเทศไทยจะตกอยู่ในภาวะไร้ความสามารถอย่างสิ้นเชิง ไม่สามารถจัดเก็บรายได้ เก็บภาษี หรือควบคุมระบบเศรษฐกิจของประเทศได้

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวว่า นอกจากนี้เทคโนโลยี Internet of Things (IoT), Big Data, cloud computing, ปัญญาประดิษฐ์ (AI) รวมถึงระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงรูปแบบบนเครือข่ายดาวเทียมวงโคจรต่ำ (LEO) ซึ่งใน 3-5 ปีนี้ กำลังจะครอบคลุมทั่วโลกทำให้แพลตฟอร์มของต่างชาติยกระดับขึ้นไปอีกขั้น การบูรณาการของเทคโนโลยีเหล่านี้ในรูปแบบใหม่จะเป็นการปฏิวัติทางเทคโนโลยีครั้งใหญ่ สร้างโอกาสที่ยิ่งใหญ่และยั่งยืน จะทำให้รูปแบบ Business model เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งสร้าง National digital platform ของเราเอง อีกทั้งจะต้องไม่ปฏิเสธที่จะต้องสร้างความร่วมมือในเชิงการแลกเปลี่ยนข้อมูล Big data กับ Platform ของต่างประเทศ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศไทย ตนจึงอยากฝากไปยังรัฐบาลให้สนับสนุนการมี National digital platform ที่เป็นของเอกชนไทย และต้องมีมาตรการส่งเสริม บูรณาการหน่วยงานรัฐให้ทำงานร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอีเอส) กระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณิชย์ ที่ต้องตระหนักและเปลี่ยนวิธีการบริหารจัดการใหม่หมดเพื่อพัฒนา National digital platform ขึ้นมาเป็นของเราเองให้ได้ ด้วยการสนับสนุนส่งเสริมภาคเอกชนของไทยให้เป็นผู้สร้างแพลตฟอร์ม รวมถึงต้องมีการออกกฎหมายเพื่อรองรับที่ทันสมัยและยกเลิกกฎหมายเก่าที่ล้าสมัย

แสดงความเห็น