เส้นทางนายกฯ ‘พิธา’ กับระเบิดเกลื่อนกลาด

ได้ ‘ประมุขนิติบัญญัติ’ เรียบร้อย หลังที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบให้ ‘วันมูหะมัดนอร์ มะทา’ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชาติ นั่งบนบัลลังก์ครั้งที่ 2 ในชีวิต

สเตปต่อไปถึงชั้นเลือก ‘ผู้นำฝ่ายบริหาร’

เห็นกางปฏิทินเลือกนายกรัฐมนตรีกันไว้วันที่ 13 กรกฎาคม 2566

แต่หมายเหตุตัวโตๆ ว่า อาจจะได้นายกฯ ในวันนั้นเลย หรืออาจจะยังไม่ได้ ต้องไปลุ้นกันหลายยก

ตามกฎหมายไม่ได้ห้ามว่า จะโหวตชื่อเดิมซ้ำๆ ได้กี่ครั้ง พูดง่ายๆ ทำได้แบบนัน-สตอป (ถ้าไม่ท้อ หรือโดนสอย) 

ชื่อเดียวตามมารยาทที่จะถูกเสนอในวันที่ 13 กรกฎาคมนี้คือ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ หัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล ในฐานะพรรคอันดับ 1 

8 พรรคร่วม 312 เสียง แถวตรงแน่ ส่วนอีก 188 เสียงของขั้วเดิม กับ 250 จากสมาชิกวุฒิสภา ไม่รู้จะมาเติมให้เท่าไหร่ แต่ถ้าจะขึ้นแท่นผู้นำประเทศได้ ต้องเกิน 376 เสียงสถานเดียว

ขาดเหลืออยู่ 60 เสียงเศษๆ ด้อมส้มถึงจะได้ฟิน

แต่จ้องมองแวดล้อมทั่วไปยามนี้ ส่อไปทางจะไม่จบใน ‘ยกแรก’ โดยเฉพาะท่าที ส.ว.ส่วนใหญ่ และความเหี้ยนกระหือรือจากขั้วเดิม ที่ดูเหมือนพยายามเอาแผงเหล็กมากั้นไม่ให้ ‘พิธา’ เหยียบทำเนียบรัฐบาล

หากเป็นถนนมุ่งสู่ตึกไทยคู่ฟ้า ตอนนี้ ‘พิธา’ เดินถึงแยกสนามม้านางเลิ้งแล้ว เพียงแต่ดูเหมือนว่า สองข้างทางก่อนถึงนั้น มีคนพยายามวางกับดัก หรือจ้องขุดหลุมระเบิดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ลำพังประเด็นหุ้นสื่อ ที่ตีความให้รอดหรือไม่รอดได้หมดนั้นว่า สาหัสแล้ว แต่เหมือนตอนนี้จะถูกขุดอีกหลากประเด็น อย่างล่าสุด ‘นักร้อง’ เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ยื่นคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สอบปมขายที่ดิน อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์

โดย ‘เรืองไกร’ ขอให้ กกต.ตรวจสอบข้อมูลการขายที่ดินผืนดังกล่าวของ ‘พิธา’ มีความแตกต่างจากข้อมูลการโอนหุ้นไอทีวี หรือไม่ อย่างไร ทำในฐานะอะไร? ในฐานะผู้จัดการมรดกหรือไม่?   

นอกจากนี้ ยังมีความพยายามเก็บทุกประเด็นอ่อนไหวที่พรรคก้าวไกลชูธง มาอ้างไม่ให้ความเห็นชอบ ทั้งเรื่องนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เรื่องการแบ่งแยกดินแดน และกรณีมี ส.ส.ในพรรคไปพูดเรื่องการเปลี่ยนแปลงวันชาติ

เหล่านี้ทั้งหมด ‘พิธา’ และ ‘ก้าวไกล’ ยังเป็นผู้บริสุทธิ์ในทางกฎหมาย แต่ในทางการเมืองเหมือนโดนทำให้เปื้อนไม่น้อย

ถ้าฝ่ายขัดขวางเอาสัก 1 หัวข้อมาเป็นเหตุผล โดยเฉพาะเรื่องหุ้นที่ยังไม่เคลียร์ ยังคลุมเครืออยู่ ยังไม่มีการตัดสินทางกฎหมาย จึงยังไม่ยกมือโหวตให้ ยกแรกอาจจะสะดุด  

อาจจะเห็นการ ‘งดออกเสียง’ หรือ ‘ไม่เห็นชอบ’ จากฟาก ส.ว.แบบมหาศาลก่อนเป็นปฐม

แต่อย่าเพิ่งถอดใจ แม้โอกาสที่ ‘พิธา’ จะไม่ผ่านยกแรกมีสูง แต่สิ่งที่ต้องติดตามคือ ‘คะแนนเห็นชอบ’

คะแนนเห็นชอบมีเท่าไหร่ และขาดเท่าไหร่ ถือว่า มีนัยยะสำคัญไม่น้อย

หากขาด 10-20 เสียง แบบนี้ ‘พิธา’ ยังมีลุ้น การเมืองจะเข้มข้น เพราะอาจสะท้อนให้เห็นว่า ฝ่ายกุมอำนาจเก่าเริ่มไม่มีแรงในการคอนโทรลองคาพยพเดิมๆ ของตัวเองแล้ว

โอกาสที่จะใช้แรงสังคมกดดันให้ ส.ว.กลับตัวกลับใจยังมีโอกาส

เว้นเสียแต่ว่า ‘พิธา’ จะตกสวรรค์ไปซะก่อน อันนั้นต่อให้ถึง 376 เสียงก็ไม่มีสิทธิเดินถึงตึกไทยคู่ฟ้าอยู่ดี

แต่หากขาด 40-50 เสียง โอกาสที่จะลุ้นให้ผ่านยกที่สอง ยังเหนื่อยอยู่ไม่ต่างจากรอบแรกเลย

ฉะนั้น เสียงเห็นชอบในวันนั้นสำคัญ จะสะท้อนสถานการณ์การเมืองได้ระดับหนึ่งเลยทีเดียว

แสดงความเห็น