‘ประธานรัฐสภา’ พท.ปล่อยไม่ได้แน่

ใกล้เข้ามาทุกที หลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เริ่มรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส. โดยรอประกาศพร้อมกันคราวเดียว

และมีแววว่า จะประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส. ก่อนครบ 60 วันด้วย

ตามขั้นตอน หลัง กกต.ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส. ได้ 95% แล้ว จะต้องมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกภายใน 15 วัน เพื่อเลือก ‘ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ’

ซึ่งขณะนี้ ‘พรรคก้าวไกล’ กับ ‘พรรคเพื่อไทย’ ยังเคลียร์ตำแหน่งนี้กันไม่ได้ เพราะต่างฝ่ายต่างปรารถนาที่จะครอบครอง เพื่อพาตัวเองไปสู่การ ‘กำหนดเกม’

เรื่องราวอาจจะเงียบหายไปในช่วงนี้ เพราะคนไปโฟกัสกันเรื่อง ‘หุ้นไอทีวี’ ของ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ หัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล

และที่มันดูเงียบไป ไม่เปิดฉากน้ำลายแย่งเก้าอี้กัน ส่วนหนึ่งเพราะเห็นว่า ยังมีระยะเวลาอีกหลายวัน ไม่จำเป็นต้องมาฉุดกระชากลากถูกันตอนนี้

ไว้ไปต่อรองกันก่อนวันโหวตไม่กี่วัน ที่อย่างไรต้องได้บทสรุปเดี๋ยวนั้นดีกว่าว่า ‘ยอม’ หรือ ‘ไม่ยอม’

ณ เวลานี้ เก้าอี้ดังกล่าวพรรคก้าวไกลไม่ยอมให้หลุดมือแน่ เพราะเป็นบันไดขั้นแรกในการนำไปสู่การเดินเกมต่างๆ โดยเฉพาะการบรรจุวาระเลือกนายกรัฐมนตรี การนำรายชื่อนายกรัฐมนตรีขึ้นทูลเกล้าฯ

รวมไปถึงอำนาจในการยื่น ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ ตีความคุณสมบัติ ส.ส. และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของ ‘พิธา’

อย่างที่ทราบกันว่า หลัง กกต.ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส. และปฏิญาณตนเสร็จสิ้นแล้ว จะมี ส.ส.เข้าชื่อกัน เพื่อยื่นเรื่องผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎรไปยัง ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ ตีความคุณสมบัติของ ‘พิธา’

กลไกนี้จึงสำคัญกับ ‘พรรคก้าวไกล’ เป็นอย่างมาก

‘ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ’ คนต่อไปจะมีบทบาทอย่างมาก โดยเฉพาะในกรณีที่หากเรื่องคุณสมบัติของ ‘พิธา’ ยังคลุมเครือ และยังอยู่ในกระบวนการยุติธรรม

‘ประธานสภาผู้แทนราษฎร’ จะกล้านำชื่อนี้ไปโหวตนายกรัฐมนตรีหรือไม่ 

เพราะต้องไม่ลืมว่า หากสมมุติว่า ชื่อของ ‘พิธา’ ได้รับการเลือกจากที่ประชุมสองสภาให้เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่จะนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ คือ ตัวประธานสภาผู้แทนราษฎร 

ซึ่งปกติแล้ว ในกรณีที่ยังมีปัญหาเรื่องข้อกฎหมาย หรือเรื่องที่ยังเป็นปัญหาต้องตีความกัน ยังไม่มีความชัดเจน จะไม่มีใครนำเรื่องแบบนี้ขึ้นทูลเกล้าฯ

ฉะนั้น หากเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎรตกไปเป็นของ ‘พรรคเพื่อไทย’  ฉากทัศน์ทางการเมืองจะออกมาอีกแบบกับตกไปเป็นของ ‘พรรคก้าวไกล’

‘พรรคเพื่อไทย’ ย่อมไม่ยอมกระทำอะไรที่มีความเสี่ยงที่อาจจะทำให้มีภัยมาถึงตัวเอง ตรงกันข้ามกับ ‘พรรคก้าวไกล’ ที่มีความเชื่อว่า ตัวเองถูกต้อง

ไม่ต้องถึงชั้นนำขึ้นทูลเกล้าฯ เอาแค่ชั้นบรรจุวาระนำชื่อ ‘พิธา’ ไปโหวตนายกรัฐมนตรี ก็เชื่อว่า ‘พรรคเพื่อไทย’ จะไม่กล้าแตะของร้อนนี้ เพราะรู้อยู่ว่า มีขบวนการประหัตประหารอยู่

หรือหากปล่อยเก้าอี้นี้ไปให้ ‘พรรคก้าวไกล’ แล้วพรรคสีส้มดันทุรังนำชื่อไปโหวต ก็น่าคิดว่า ‘พรรคเพื่อไทย’ จะทำตัวอย่างไร เพราะทุกการโหวตในเรื่องที่ผิดมีราคาที่ต้องจ่ายสูงมาก

ดูทรงแล้ว ‘พรรคเพื่อไทย’ คงไม่อยากเฉียดกับของร้อน อย่างไรเสียต้องสู้เพื่อให้ตัวเองครอบครองกลไกตัวนี้ ไม่ว่าจะจบแบบไหนก็ตาม

อยู่แค่ว่า เจรจากันรู้เรื่อง หรือหักดิบ โหวตแข่งกันไปเลย

แสดงความเห็น