“สมศักดิ์” ลุย ตรัง-นครศรีธรรมราช ชี้แจงความคืบหน้า ร่างกฎหมายปศุสัตว์ 

“สมศักดิ์” ลุย ตรัง-นครศรีธรรมราช เดินหน้าชี้แจงความคืบหน้า ร่างกฎหมายปศุสัตว์ พบ ว่าที่ ส.ส. และ อดีต ส.ส.ปชป. หารือแนวทาง พร้อม ทาบ “จูรี” ช่วยงานด้านประชาสัมพันธ์กฎหมาย

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เดินทางลงพื้นที่ภาคใต้ จังหวัดตรัง และนครศรีธรรมราช  เพื่อแจ้งความคืบหน้า ร่างกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมปศุสัตว์ เพื่อโอกาสในการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจประเทศอย่างเป็นธรรม ยังสนามกีฬาชนวันนาบินหลา และสนามวัวชนบ้านเสาธง พร้อมกันนี้ยังมีโอกาสได้พบกับ นายสมชาย โล่สถาพรพิพิธ อดีต ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ นายชัยชนะ -นายพิทักษ์เดช  เดชเดโช 2 ว่าที่ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์  และนายจูรี นุ่มแก้ว ผู้สมัคร ส.ส.พรรคชาติพัฒนากล้า เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นและแนวทางการจัดทำกฎหมายให้แก่เกษตรกรด้านปศุสัตว์

นายสมศักดิ์ เปิดเผยว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องการเมืองในการพบกับว่าที่ ส.ส. และผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคต่างๆ  เป็นการหารือระดมสมองกัน เพื่อให้กฎหมายสำเร็จ โดยตนได้เชิญนายจูรี ให้มาช่วยด้านประชาสัมพันธ์ ซึ่งหากตอบรับ จะเป็นประโยชน์อย่างมากในการรับฟังความเห็น และช่วยงานที่เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องชาวปักษ์ใต้ ขณะที่ นายสมชาย-นายชัยชนะ -นายพิทักษ์เดช  ก็จะเป็นอีกแรงสำคัญในการผลักดันกฎหมายเข้าสู่สภา

นายสมศักดิ์ ยังกล่าวอีกว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ ตนเป็นคนเสนอ ตอนนั้นยังทำงานในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม โดยนางพงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม มอบหมายให้ พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล รองปลัดกระทรวงเป็นผู้ร่าง โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 และมอบหมายให้ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ กระทรวงยุติธรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานในเรื่องนี้ โดยเวลานี้มีความคืบหน้าจากการประชุม เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2566 เช่น การพิจารณาคำขออนุญาตการพนันกิจกรรมปศุสัตว์ สถานที่จัดการแข่งขัน โดยไม่อยู่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการพนัน แต่ให้ดำเนินการตามกฎหมายใหม่ โดยมีหน่วยงานภาครัฐที่มีบทบาทในการกำกับดูแล เช่น กรมปศุสัตว์ หรือหน่วยงานเกี่ยวกับการกีฬา

นายสมศักดิ์ ยังระบุอีกว่า  ขณะที่กฎหมายเกี่ยวกับมาตรฐานของสนามแข่งขัน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมปศุสัตว์ ให้มีหน่วยงานภาครัฐทำหน้าที่ในการออกใบรับรองสมาคมฯ เพื่อบริหารจัดการสนามแข่ง สมาคมฯ มีบทบาทหน้าที่ในการบริหารสมาชิก รวมถึงคุมมาตรฐานของสมาชิก ซึ่งต้องไม่ต่ำกว่ามาตรฐานขั้นต่ำที่คณะกรรมการตามกฎหมายกำหนด การจัดการแข่งขัน และลิขสิทธิ์จากการถ่ายทอดสดในแต่ละครั้ง เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการกิจกรรมปศุสัตว์รายย่อย และการจัดการแข่งขัน สามารถจัดการแข่งขันได้สัปดาห์ละ 2 ครั้ง โดยไม่กำหนดวันและเวลา  

นอกจากนี้กฎหมายฉบับดังกล่าว ยังระบุถึง การส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์และอนามัยสัตว์ เพื่อศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยให้มีหน่วยงานภาครัฐกำกับดูแล และขึ้นทะเบียนออกใบรับรองพันธุ์สัตว์พื้นเมือง และต้องสนับสนุนโภชนาการและวัคซีนของสัตว์

“กฎหมายฉบับนี้จะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปศุสัตว์เป็นอย่างมาก ในเรื่องของการสร้างรายได้ สร้างมูลค่า เช่น การออกใบเพ็ดดีกรีให้กับสัตว์ ทำให้สามารถดูสายพันธุ์ได้ เพื่อเป็นการเพิ่มราคาของสัตว์เลี้ยง เหมือนในต่างประเทศที่สามารถขายสัตว์ได้ตัวหนึ่งหลักสิบล้านบาท ค่าลิขสิทธิ์จากการถ่ายทอดการแข่งขันที่จะมีรายได้เพิ่ม ทั้งยังจะมีกองทุนเพื่อดูแลปศุสัตว์รายย่อยอีกด้วย  นอกจากนี้กฎหมายยังให้ภาครัฐใส่ใจกับการมีวัคซีนให้กับเกษตรกรมากขึ้น และกฎหมายนี้ไม่ใช่จะทำเพียงแค่วัว ยังมีทั้ง นก ปลา รวมถึงสัตว์ที่ใช้ในการแข่งขัน เวลานี้ประชาชนท่านใดอยากเสนอเพิ่มเติมอะไร ผมยินดีรับฟัง เพื่อสนับสนุนให้กฎหมายฉบับนี้เป็นของผู้เพาะเลี้ยงสัตว์ทั่วประเทศ” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกล่าว

แสดงความเห็น